เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องประสบ ไม่มีใครสามารถหนีกฎธรรมชาติในข้อนี้ได้ เมื่อคนเราสิ้นชีพไป คนเบื้องหลังที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีวิธีการประกอบพิธีกรรมการฝังศพที่แตกต่างกันและมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เฉกเช่นเดียวกับทางล้านนาที่มีพิธีกรรมการปลงศพที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะเมื่อคนที่เสียชีวิตนั้นเป็นเชื้อกษัตริย์หรือบุคคลสำคัญ โดยการก่ออิฐสร้างปูนเป็นปราสาทเพื่อเก็บศพหรือที่เราเรียกกันว่า “กู่”
“กู่” ในล้านนาส่วนใหญ่นั้นจะสร้างสำหรับบรรจุพระอัฐิของชนชั้นสูง การสร้างกู่นี้สันนิษฐานว่าเป็นคติที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา ที่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงบุคคล ๔ จำพวก ที่สมควรสร้างสถูปไว้บูชาให้ผู้คนได้ระลึกถึงคือ ๑. พระพุทธเจ้า ๒. ปัจเจกพุทธเจ้า ๓. พระอริยสาวก ๔. พระเจ้าจักรพรรดิ
คำว่า “กู่ ” มีการสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “คูหา” ในภาษาสันสกฤตหมายถึงถ้ำหรือห้องประกอบพิธีกรรม แต่ทว่าคำว่า “กู่” ในความหมายที่เป็นที่บรรจุอัฐิ จะปรากฏใช้เรียกในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น และจะมีการก่อกู่เฉพาะกษัตริย์พระองค์สำคัญ เช่น กู่พญามังราย กู่พญาคำฟูและกู่พระเจ้าติโลกราช ฯลฯ ที่น่าสนใจคือมีกู่อยู่แห่งหนึ่งมีรูปร่างที่แปลกแตกต่างไปจากกู่ทั่วไป คือ กู่เต้า ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดกู่เต้าหรือ วัดเวฬุวันวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ว่าแปลกและแตกต่างเป็นเพราะว่ารูปร่างของกู่แห่งนี้เหมือนเอาบาตรมาซ้อนกันห้าลูก ตั้งอยู่บนฐานเขียงซ้อนขึ้นไป เรียงจากใหญ่ขึ้นไปหาเล็ก ซึ่งกู่ลักษณะนี้พบได้ที่กู่เต้าเพียงที่เดียว ดังนั้นนักวิชาการหลายท่านจึงจัดเป็นกู่แบบพิเศษเพราะไม่สามารถจัดให้เข้ากับรูปแบบใดๆ
ประวัติการก่อสร้างกู่เต้าครั้งแรกนั้นมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นเพียงการบอกเล่าของคนต่อกันมาเท่านั้น มีพบเป็นจารึกบ้างพงศาวดารบ้างแต่ก็ไม่มากนัก จากหนังสือที่พบมีการเขียนถึงข้อสันนิษฐานการสร้างเจดีย์วัดกู่เต้าไว้ ๒ เล่ม โดยสันนิษฐานไว้ตรงกันว่าเจดีย์นี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑ แต่ปีที่มีการสร้างระบุไว้ต่างกัน โดย “หนังสือโลกหน้าล้านนาพัฒนาการการสร้างปราสาทศพต่างสัตว์หิมพานต์และการก่อกู่” ของคุณภูเดช แสนสา ได้ระบุไว้ว่ากู่แห่งนี้สร้างอยู่ในช่วงที่พม่าปกครอง (พ.ศ. ๒๑๒๑ - ๒๑๕๐) ส่วน “หนังสือพระเจดีย์เมืองเชียงแสน” ของคุณจิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา กล่าวว่าสร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้ายอดเชียงราย ราว พ.ศ. ๒๐๓๕ ถึงอย่างไรก็ตามเราอาจสามารถสรุปได้ว่า เจดีย์วัดกู่เต้าแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากคำบอกเล่าพร้อมคำจารึกเชื่อว่ามีการสร้างกู่เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระเจ้านรธามังสอ (เจ้าฟ้าสาวัตถี) กษัตริย์ล้านนาเชียงใหม่ ราชบุตรของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ในราชวงศ์ตองอู
เจดีย์แห่งนี้มีการบูรณะอยู่หลายครั้งด้วยกัน จนในปัจจุบันเจดีย์กู่เต้ามีรูปทรงที่คล้ายบาตรคว่ำซ้อนขึ้นไปถึง ๕ ชั้น เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ประกอบด้วย พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโมและพระอริยเมตไตยโย ฐานเจดีย์เป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมย่อมุม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานและฐานบัวรับส่วนที่เป็นบาตรคว่ำ มีซุ้มจระนำ ๔ ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ภายนอกประดับกระจกสีรูปดอกไม้ไว้อย่างประณีตโดยมียอดฉัตรแบบพม่า
นักวิชาการได้สันนิษฐานว่าเดิมเจดีย์กู่เต้านี้คงเป็นเพียงเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐและปูนธรรมดาเท่านั้น ยังไม่มีการตกแต่งประดับประดาให้สวยงามอย่างปัจจุบัน อีกทั้งเจดีย์แห่งนี้ได้มีการพังทลายลงมาหลายครั้งจากทั้งสาเหตุน้ำท่วมและอายุที่เก่าแก่ การบูรณะในแต่ละครั้งจึงอาจมีการสอดแทรกศิลปะในสมัยนั้นๆเข้าไป และการประดับกระเบื้องสีบนเจดีย์นี้น่าจะทำขึ้นใหม่ในระหว่างการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากการประดับองค์พระเจดีย์ด้วยกระเบื้องสีและถ้วยชามแบบนี้ เป็นเอกลักษณ์ของการสร้างพระเจดีย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การสร้างกู่นั้นมีมานานแล้วในดินแดนของล้านนา ไม่แน่อาจมีมาก่อนจะมีอาณาจักรล้านนาด้วยซ้ำไป ดูได้จากกู่ที่พบในหลายแห่ง นอกจากนี้แล้วศิลปะของล้านนายังมีอีกหลายสิ่งที่มีความน่าสนใจและสะท้อนวัฒนธรรมประเพณีได้ของคนท้องถิ่นได้อย่างดี กู่เต้าแห่งนี้ก็เช่นกัน ด้วยรูปร่างที่แตกต่างและประวัติความเป็นมาผนวกกับศิลปะการผสมผสานจากการบูรณะหลายครั้ง ทำให้เกิดความโดดเด่นที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ศิลปะวิทยาการและวัฒนธรรมประเพณีที่เก่าแก่ของคนยุคก่อนได้ในเจดีย์เพียงหนึ่งเดียว
ขณะนี้ถึงแม้ว่าดิฉันจะทำได้เพียงแค่ศึกษาหาข้อมูล ดูรูปจากทางหนังสือและอินเตอร์เน็ต ยังไม่มีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมชมอย่างใกล้ชิด ความประทับใจแรกเมื่อได้เห็นเจดีย์กู่เต้าจากปกหนังสือคือรูปร่างและลายดอกไม้ประดับ มันช่างสะดุดตาและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งและเชื่อว่าใครหลายคนคงคิดเหมือนดิฉันเมื่อเห็นกู่เต้าแห่งนี้
อ้างอิง
จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา. พระเจดีย์เมืองเชียงแสน. ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์ จำกัด, ๒๕๓๙.
นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ : ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๓๙
ภูเดช แสนสา. โลกหน้าล้านนาพัฒนาการการสร้างปราสาทศพต่างสัตว์หิมพานต์และการก่อกู่. ครั้งที่ ๑. เชียงใหม่ : แม็กซ์พริ้นติ้ง, ๒๕๕๖
ตี๋ใหญ่ inchaina. ๒๕๕๖. วัดกู่เต้าไหว้เจดีย์ทรงประหลาด สัมผัสอารยะธรรมไทใหญ่ “ปอยส่างลอง”.
สืบค้นเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://group.wunjun.com/salekumarn/topic/449026-15622
lady darika. ๒๕๕๖. วัดกู่เต้า – ชมความงดงามพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะพม่าและเจดีย์ทรงน้ำเต้าอันเป็นเอกลักษณ์. สืบค้นเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://www.tripchiangmai.com/chiangmaiboard/index.php?topic=7175.0#.Ut1paRBGxdi
เจดีย์วัดกู่เต้า
No comments:
Post a Comment