เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าวิถีชีวิตของเรานั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย และหลายครั้งที่ความเชื่อความศรัทธาในศาสนามักถูกถ่ายทอดผ่านพระพุทธรูปรูปแบบต่างๆ และในวันนี้เราจะไปทำความรู้จักพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ยุคที่ถือว่าเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนากัน
โดยพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมีอยู่ 4 ประเภท คือ หมวดใหญ่ หมวดกำแพงเพชร หมวดพุทธชินราช และหมวดเบ็ดเตล็ด และที่เราจะมาทำความรู้จักกันวันนี้คือ “หมวดใหญ่” หมวดที่ถือว่ามีความเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยมากที่สุด นั่นเอง
พระพุทธรูปหมวดใหญ่ เกิดขึ้นในยุคที่ 2 ของสุโขทัย ซึ่งฝีมือของช่างไทยในการสร้างประติมากรรมมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น มีการพัฒนาการสร้างพระพุทธรูปจนเกิดเป็นแบบเฉพาะของต้นเอง ที่มีความสวยงามประณีต วิจิตรบรรจง จนได้ชื่อว่าเป็น “ศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์” และเช่นเดียวกันเมื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติเกิดขึ้น วัตถุที่ใช้ในการสร้างพระพุทธรูปจึงไม่นิยมใช้การสลักหิน จะนิยมใช้การปั้นด้วยปูน หรือหล่อด้วยโลหะมีค่าต่างๆ รวมถึงทองคำบริสุทธิ์ และไม่แปลกอีกเช่นกันที่ปริมาณในการสร้างจะเพิ่มขึ้น ส่วนขนาดของพระพุทธรูปก็มีอยู่หลายขนาดด้วยกัน เช่น พระอัจนะ พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีการสร้างวัด เจดีย์ ในสมัยสุโขทัยอีกมากมาย โดยมีหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม
ลักษณะของพระพุทธรูปหมวดใหญ่จะมีลักษณะโดยรวมดังนี้ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระเศียรสมส่วนกับพระศอและพระอังสา หมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอุระผายสง่า พระอังสาใหญ่กว้าง พระถันโปน ปั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาวจรดมาถึงพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระกรเรียวดุจงาช้าง นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเลียนแบบตามธรรมชาติของมนุษย์ดูราวมีชีวิต ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง
ปางที่นิยมในการสร้าง หากเป็นพระพุทธรูปนั่งมักจะสร้างเป็นปางมารวิชัย และปางขัดสมาธิราบ และอีกปางที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยคือพระพุทธรูปยืนปางลีลา โดยองค์พระพุทธรูปปางลีลาที่งดงามที่สุดในปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ระเบียงคด วัดเบญจมบพิตร
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของชาวพุทธในสมัยสุโขทัยที่มีอย่างล้นหลามต่อพระพุทธศาสนา จริงที่เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปมีส่วนร่วมนารสร้างสรรค์หรือร่วมทำบุญในการสร้างพระพุทธรูปอันสวยงามในยุคดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้คือช่วยกันอนุรักษ์และรักษาไว้ให้อยู่ในแผ่นดินไทยของเราตราบนานเท่านาน
อ้างอิง
ศิลปกรรม สมัยสุโขทัย ด้านทัศนศิลป์.3 กุมภาพันธ์2557, จาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/art2.htm
No comments:
Post a Comment