โดย วราภรณ์ งอสอน
หากจะกล่าวถึงศิลปะสมัยสุโขทัย ข้าพเจ้ามักจะนึกถึงศิลปะด้านประติมากรรม เพราะสิ่งแรกที่ข้าพเจ้านึกถึงนั้นคือพระพุทธรูปองค์ต่างๆที่อยู่ในสมัยนี้ เพราะพระพุทธรูปสมัยนี้มีความงดงามอย่างมากและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากพระพุทธรูปสมัยอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่าเมื่อพูดถึงลักษณะของพระพุทธรูปแล้วเราจะบอกได้ว่าเป็นพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน
พระศรีศากยมุนีเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่มีความงดงามอย่างมาก และยังเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย และยังเป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงและมีผู้คนสักการะบูชากันเป็นจำนวนมาก
พระศรีศากยมุนีนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสุโขทัย เมื่อสุโขทัยสิ้นความเป็นราชธานี พระวิหารหลวงถูกทอดทิ้งทรุดโทรมและปรักหักพังลง พระพุทธรูปองค์นี้และพระพุทธรูปองค์อื่นๆ จึงถูกทอดทิ้งและปล่อยให้ตากแดด ตากฝน จนชำรุด
ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ให้อัญเชิญ พระศรีศากยมุนีมายังกรุงเทพฯ เนื่องจากได้ทรงพระราชดำริจะสร้างพระอารามหลวงที่มีพระวิหารใหญ่เหมือนวัดพนัญเชิงที่อยุธยา โดยให้นำมาประดิษฐานไว้กลางพระนคร และเมื่อพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพฯพระองค์ก็ทำพิธีและอัญเชิญพระขึ้นตั้งไว้ ซึ่งตัววิหารนั้นค่อยมาสร้างเสร็จในภายหลังในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ปัจจุบันนี้พระศรีศากยมุนี เป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม พระศรีศากยมุนี หล่อด้วยโลหะ มีหน้าตักกว้าง ๓ วา ๑ คืบ และนับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในยุคก่อน ๒๕ พุทธศตวรรษเลยก็ว่าได้
ลักษณะของพระศรีศากยมุนีนั้น เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าปางมารวิชัย และพระหัตถ์ช้ายหงายวางบนพระเพลา ครองจีวรห่มเฉียงชายสังฆาฏิยาวลงมาถึงระดับพระนาภี มีปลายเป็นสองแฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้น บั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน ลักษณะพระพักตร์และพระเศียรที่พบนั้นคือพระรัศมีเป็นเปลวสูงตั้งอยู่บนพระอุษณีษะ รูปมะนาวตัด เส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย พระพักตร์รูปไข่เกือบกลม พระขนงโก่งแยกออกจากกันระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่นอยู่ พระนาสิกงุ้มพระโอฐษ์อมยิ้มเล็กน้อย พระหนุกลม
พระศรีศากยมุนีประดิษฐานบนฐานชุกชีแบบฐานลายแข้งสิงห์ ตลอดทั้งฐานชุกชีจะประดับด้วยลวดลายปูนปั้น เป็นลายดอก ลายเถา ลายเทศ ปิดทองคำเปลวประดับกระจกสีทั้งหลัง ตรงใต้ฐานพระศรีศากยมุนี ที่ผ้าทิพย์นั้นได้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ส่วนด้านหลังบัลลังก์พระศรีศากยมุนี มีแผ่นศิลาสลัก เป็นศิลปะแบบทวารวดี เป็นรูปสลักปิดทอง ปางยมกปาฏิหาริย์ และปางประทานเทศนาในสวรรค์ เป็นของเก่าและหาดูได้ยาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกเลยก็ว่าได้
ข้าพเจ้าคิดว่า พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปที่มีความงามอย่างน่าอัศจรรย์ หากผู้ใดมีความทุกข์ใจแล้วได้กราบไหว้ และมองพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าความทุกข์ของคนๆนั้นจะหมดสิ้นไป และเกิดเป็นความสุขอย่างน่าอัศจรรย์ได้แน่นอน ซึ่งข้อนี้ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนั้นจะสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง เมื่อมีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้เป็นสมบัติของชาติบ้านเมือง ข้าพเจ้าก็เห็นว่านอกจากจะเคารพศรัทธาแล้วเราควรจะร่วมกันอนุรักษ์สิ่งดีๆนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม
อ้างอิง
พร้อม สุทัศน์ ณ อยุธยา, พระพุทธรูปบูชา สมัยสุโขทัย,อยุธยา และรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, ๒๕๐๙
สงวน รอดบุญ, พุทธศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๓
หอมรดกไทย. (๒๕๔๐). พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวรารา. ค้นข้อมูลวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗, ค้นจากเว็บไซต์ http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5331556&Ntype=42
เว็บบล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 418111 ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย และ418218 โบราณคดีในประเทศไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลในที่นี้มุ่งเน้นเพื่อให้สาระความรู้และความบันเทิง ไม่ใช่งานเขียนเชิงวิชาการและไม่เหมาะสำหรับการนำไปอ้างอิงต่อ
No comments:
Post a Comment