สังคโลก

โดย สลิล สามหมอ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ ศิลปะวิทยาการต่างๆ เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ บ่งบอกความเจริญทั้งทางด้านความคิดและพัฒนาการทางด้านวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหัตกรรม งานจิตรกรรมหรืองานเครื่องปั้นดินเผา

สังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทหนึ่งของไทย ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมสุโขทัย ในช่วงแรกของการผลิต มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตใช้แค่ภายในอาณาจักรสุโขทัยเท่านั้น แต่เมื่อการค้าขายขยายตัวมากขึ้น ความต้องการสินค้าเครื่องสังคโลกจากตลาดการค้าและแคว้นข้างเคียงก็มีความต้องการสูงมากขึ้น ทำให้วัตถุประสงค์ของการผลิตเครื่องสังคโลกของสุโขทัยเริ่มเปลี่ยนจากเดิมคือใช้ในชีวิตประจำวัน สู่การผลิตเพื่อการส่งออกและทำรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่อาณาจักรสุโขทัย

เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ ๒ แห่ง คือ เมืองเก่าสุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองสุโขทัยใกล้กับวัดพระพายหลวงตามแนวฝั่งลำน้ำโจน พบซากเตาอยู่ถึง ๔๙ เตา แต่เตาที่ยังคงสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์นั้นเหลืออยู่เพียง ๓-๔ เตาเท่านั้น สงวน รอดบุญ (๒๕๓๓ : ๑๘๒) ส่วนอีกแหล่งหนึ่งตั้งอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย พบที่บ้านป่ายาง ๓-๔ เตา และบ้านเกาะน้อย ๒๐๐ เตา ถือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ทำการผลิตเครื่องสังคโลกใยสมัยสุโขทัย  เตาเผาเหล่านี้จะรู้จักในชื่อ “เตาทุเรียง” ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย เกียนตินาคินทร์ (๒๕๔๘ : ๕)

เครื่องสังคโลกที่ผลิตขึ้นในสมัยสุโขทัย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑.เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  ประกอบไปด้วย เครื่องถ้วยชาม โอ่งอ่าง กระถาง ไหคนโท โกร่งบดยา เต้าปูน กระโถน ตะเกียงน้ำมัน โคมไฟปรุ แจกัน กระปุกใส่น้ำมัน ฯลฯ สงวน รอดบุญ (๒๕๓๓ : ๑๘๔-๑๘๕) กล่าวว่าเครื่องสังคโลกประเภทนี้มีการปั้นรูปทรงได้งดงามและมีการตกแต่งลวดลายที่สวยงาม มีทั้งการแต่งลวดลายก่อนเคลือบและหลังเคลือบ

การเคลือบเครื่องสังคโลกในสุโขทัยนั้น ศักดิ์ชัย เกียนตินาคินทร์ (๒๕๔๘ : ๑๕-๑๖) ได้กล่าวเกี่ยวกับการแบ่งเครื่องปั้นดินเผาตามน้ำเคลือบ พบว่าในสมัยสุโขทัยมีการเคลือบอยู่ ๕ แบบด้วยกัน คือ เคลือบสีเขียวใสแบบเซลาดอน เคลือบสีขาว เคลือบสีน้ำตาลและเคลือบสองสี

ลวดลายที่ปรากฏในสมันนี้ก็มีลวดลายเฉพาะตัว สาโรจน์ มีวงษ์สม (๒๕๔๑ : ๖๐) ลวดลายที่พบส่วนมากในจานชาม คือ กงจักร ปลา ดอกไม้ โดยเฉพาะปลาถือเป็นแบบเฉพาะของชาวสุโขทัย นอกจากนี้ยังมี กุ้ง หอย ปู  ที่ชาวสุโขทัยนิยมวาดในจานชาม

๒.เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เพื่อประดับตกแต่งและตุ๊กตาดินเผา หรือ ตุ๊กตาสังคโลก  คือ รูปปั้นบุคคลหรือสัตว์ที่มีขนาดต่างๆ ผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องประดับ เครื่องราง เป็นของเล่นเด็กหรือปั้นขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรม เฉลียว ปิยะชน (๒๕๔๔ : ๒๓) กล่าวว่า แหล่งเตาเผาที่พบการผลิตตุ๊กตาดินเผาเป็นจำนวนมาก คือ เตาผาบ้านป่ายาง พบ ๒ กลุ่ม เรียกว่ากลุ่มเตาตุ๊กตาและกลุ่มเตายักษ์  เพราะพบชิ้นส่วนตุ๊กตาและยักษ์ที่ใช้ในการตกแต่งสถาปัตยกรรมเป็นจำนวนมาก

เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้มีอยู่หลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ พุทธศาสนาและความเชื่อของคนสมัยนั้น หากจะสรุปจากสิ่งที่สะท้อนออกมาจากงานนั้น ข้าพเจ้าสามารถแบ่งเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้ได้เป็น ๓ รูปแบบ คือ
           
๑. วิถีชีวิตของคนสุโขทัย ตุ๊กตาดินเผาที่เป็นรูปคนในกริยาอาการต่างๆ เช่น คนอุ้มไก่ แสดงถึงความนิยมในการเลี้ยงไก่อาจหมายถึงการชนไก่ คนอุ้มลูก คนอุ้งเด็กถือพัด แสงดงถึงสภาพอากาศที่ร้อน เป็นต้น

๒. ความเชื่อของคนสุโขทัย ที่พบมากสุดคือตุ๊กตาที่นิยมใช้ในพิธีกรรม หรือที่เราเคยได้ยินกันคือ ตุ๊กตาเสียกบาล เป็นตุ๊กตาที่มีการหักที่คอ ซึ่ง เฉลียว ปิยะชน (๒๕๔๔ : ๒๕) ได้ให้ความเห็นส่วนตัวว่าตุ๊กตาพวกนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นของเล่นเด็ก แต่อาจเกิดจากการชำรุดของตุ๊กตาเนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาหลายร้อยปี

๓. ความศรัทธาในพุทธศาสนา     จะเห็นได้จากการประดับพุทธสถานต่างๆ ส่วนใหญ่สร้างเป็นรูปเทวดาและสัตว์ที่มีความสำคัญในทางพุทธศาสนา สัตว์ที่ปรากฏในวรรณคดี

เครื่องสังคโลกเป็นสมบัติที่ล้ำค่าควรแก่การอนุรักษ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงความสวยงาม ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและแนวคิดผ่านผลงานศิลปะเหล่านี้ ทำให้คนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งในความสวยงามและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน นอกจากนี้สิ่งที่ยังหลงเหลือเป็นหลักฐานค่านิยมของคนสมัยนั้นยังเอื้อมาจนปัจจุบัน จากลวดลายที่บรรจงวาดลงให้จามชามหรือโถต่างๆ เป็นรูป กุ้ง หอย ปู ปลา สิ่งเหล่านี้คล้ายกับเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของคนสุโขทัยว่าอุดมสมบูรณ์ ดังที่ สาโรจน์กล่าวไว้ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”  คือสิ่งสิ่งที่สะท้อนจากลวดลายชามสังคโลกของสุโขทัย


อ้างอิง

จอห์น ชอว์. เครื่องปั้นดินเผาไทย. แปลจาก Introducing Thai ceramics โดยอาจารย์สมพร วาร์นาโด
อาจารย์   เอมอร ตรูวิเชียรและอาจารย์อุษณีย์ ธงไชย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คราฟท์แมน.

เฉลียว ปิยะชน. มรดกเครื่องดินเผาไทย ตุ๊กตาและประติมากรรม. ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,
๒๕๔๔.

ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย เกียรตินาคินทร์. สังคโลก : มรดกแห่งภูปัญญาไทย. ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : แม็ค,
๒๕๔๘.

สงวน รอดบุญ. พุทธศิลปสุโขทัย. ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, ๒๕๒๑.

สาโรจน์ มีวงษ์สม. เครื่องถ้วยในประเทศไทย. ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ :  เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย จำกัด,
๒๕๔๑.

No comments:

Post a Comment