พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

โดย กรรณิการ์ พรยิ้ม

มหาเจดีย์โบราณซึ่งได้รับซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “จอมเจดีย์” 1 ใน 8 องค์ของประเทศไทย โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยกย่องนั้นคือ พระธาตุพนม ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์มานานซึ่งเป็นที่บรรจุพระพุทธอุรังคธาตุ ที่แปลกันมาว่า “พระธาตุหัวอกพระพุทธเจ้า” เป็นพุทธเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินไทยล้านช้างมาแต่โบราณกาล ซึ่งแม้จะพ้นผ่ากาลเวลามาเนินช้าแล้ว หากแต่ความเคารพความศรัทธายิ่งทวีมากยิ่งขึ้น

"สุสณฺณรชตํ รตนํ ปณีตํ พุทฺธอุรงฺคเจติยํ อหํ วฺนทามิ สพฺพทา" คำนมัสการยอดพระบรมอุรังคธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระธาตุพนม ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นคำสวดภาษาบาลีนอกจากจะสวดบูชาพระธาตุพนมแล้วยังบ่งบอกประวัติความเป็นมาของพระธาตุพนมได้เป็นอย่างดี “ข้าพเจ้าขอนมัสการพระบรมอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระเจ้า นำมาฐาปนาไว้ ณ ภูกำพร้า ด้วยเศียรเกล้าของข้าพเจ้า แล้วจักกล่าวประวัติย่อองค์พระธาตุพนม อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธองค์ ขออันตรายอย่าได้มีมา จงเจริญศรัทธาของสาธุชนสัตบุรุษผู้มีจิตบริสุทธิ์ทั้งมวลเทอญ” ซึ่งประวัติตำนานความเป็นมากล่าวโดยย่อมีดังนี้


รูปที่ 1 สภาพพระธาตุพนมที่หักโค่นลงในปี พ.ศ.2518

องค์พระธาตุพนม ตามตำนานกล่าวไว้ว่าสร้างครั้งแรกในราวพุทธศักราชที่ 8 ผู้ที่สร้าง คือ พระมหากัสสปะ พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ โดยได้นำพระอุรังคธาตุหรือกระดูกส่วนหัวอกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในพระธาตุ ผู้ที่ร่วมช่วยในการสร้างพระธาตุนี้คือ ท้าวพระยาทั้ง 5 พระองค์ได้แก่ 1.พญาจุลณีพรหมทัต 2.พญาอินทปัตถนคร 3.พญาคำแดง 4.พญานันทแสน 5.พญาสุวรรณภิงคาร พากันยกโยธามาช่วยสร้างพระธาตุพนมจนเสร็จ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2233 - 2245 ซึ่งเป็นการบูรณะครั้งที่ 4 เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือประชาชนทั่วไปเรียกว่า ญาคูขี้หอม ท่านเป็นมหาเถระที่มีพลังจิตสูง เป็นที่เคารพรักของประชาชน ท่านมีความเลื่อมใสศรัทธาพระธาตุพนมเป็นอันมาก จึงได้เดินทางมาจากนครเวียงจันทร์ เจ้าราชครูองค์นี้ ได้นำมหรรฆภัณฑ์อันมีค่าเข้ามาบรรจุมากที่สุด เพราะมีญาติโยมและคนเชื่อถือศรัทธามาก ได้แก่ พระพุทธรูปเก่าแก่มากมายหลายยุคหลายสมัย และท่านยังได้จัดสร้างยอดพระธาตุ หล่อด้วยโลหะสำริด พร้อมทั้งฉัตรทองคำ 7 ชั้น ที่ประดับด้วยอัญมณีล้ำค่า มีลวดลายเฉพาะตัว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้างและผอูบสำหรับองค์เดิมที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (รูปที่ 1พระธาตุองค์เดิม)

ศิลปะที่ใช้สร้างสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะแบบปราสาทเขมร-จาม หรือที่เรียกว่าแบบไพรกเมง-กำพงพระ สมัยกาลผ่านพ้นสู่ยุคปัจจุบัน ณ วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พุทธศักราช 2518 ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ปีเถาะ เวลา 19 นาฬิกา 38 นาที ได้มีพายุฝนตกหนัก ลมพายุพัดกรรโชกแรง พระธาตุพนมอันเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมือง ก็ได้พังทลายลงมาทางทิศตะวันออกทั้งองค์ พระธาตุพนมล้มแล้ว “ดั่งดวงแก้วตกต้องแผ่น” พระบรมธาตุอันเป็นที่สถิตดวงใจแห่งศรัทธาในพระศาสนาของประชาชนได้พินาศด้วยน้ำมือของธรรมชาติที่มิอาจหักห้ามได้ แต่กระนั้นก็ได้ทำได้เกิดการค้นพบสิ่งมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดนั้นคือ พระอุรังคธาตุที่บรรจุอยุ่ในผอบทองคำซึ่งซ้อนสลับกันถึง 6 ชั้นภายในผอูบสำริด โดยปรากฏพระอุรังธาตุจำนวน 8 องค์ภายในนั้น


รูปที่ 2 ผอูบสำริด


รูปที่ 3 พระอุรังคธาตุ

จนนำมาสู่การกอบกู้จิตใจของประชาชนให้สถิตดำรงคงดังเดิม ในวันที่ 26 ธันวาคม 2518- 1 มกราคม 2519 (7 วัน 7 คืน) จึงได้มีงานสมโภชพระอุรังคธาตุขึ้นมาในรูปแบบใหม่ซึ่งมีการก่อสร้างทรงสี่เหลี่ยมเหมือนของเดิม ซึ่งมีความสูงจากระดับพื้นดิน 53.60 เมตร ฐานวัดระดับพื้นกว้างด้านละ 13 เมตร วัดสูงจากระดับพื้นดิน 64 เซนติเมตร กว้างด้านละ 12.33 เมตร โดยเป็นการก่อสร้างของกรมศิลปากรซึ่งก่อนจะเข้าไปภายในพระธาตุพนมนั้น จะมีบันไดทางขึ้นเป็นรูปพญานาคสามเศียร 2 ตน ประดับสองข้างทางราวบันได ซึ่งถือว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาคุ้มครององค์พระธาตุพนม

ศิลปะของพระธาตุพนมเริ่มตั้งแต่ชั้นแรก เป็นชั้นของพระพุทธรูป ภายในองค์พระธาตุพนมทั้งหมดมี 4 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในซุ้มพระศรีมหาโพธิ์ ทรงประทับนั่งอยู่ บนบัลลังก์นาค โดยเฉพาะองค์พระพุทธเจ้าเป็นงานจิตรกรรม คือ ปิดทองแล้วตัดเส้นด้วยสี ส่วนที่เป็นลวดลาย คือซุ้มพระและลายส่วนประกอบเป็นงานประติมากรรม เมื่อดูแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มีความสง่างาม บริสุทธิ์ และเบาลอย ชั้นที่ 2 เป็นชั้นพระธรรม ได้สร้างเป็นรูปแบบพระธรรมจักรประดิษฐานบนแท่นบัลลังก์นาค ภายในรูปพระธรรมจักรประกอบด้วยซีก 37 ซีก อันหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ 37 ประการ ธรรมจักร ก็คือจักรคือธรรม หมุนไปหมุนไปตามกรรมจนเข้าถึงมรรค 8 และถึงจุดดวงแก้วใสๆ คือ พระนิพพาน ตามลำดับ

ชั้นที่ 3 คือ ชั้นพระอุรังคธาตุ ตรงส่วนกลางเป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ปิดด้วยทองคำ ระเบียงรอบทำเป็นรูปพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ประทับอยู่ภายในซุ้ม แสดงถึงว่า พระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ มี 5 พระองค์ ชั้นที่ 4 คือ ชั้นมณฑป รอบพระอุรังคธาตุรูปทรงโปร่ง ซึ่งได้พัฒนามาจากผอูบสำริดของเก่าในองค์พระธาตุเดิม โดยได้ออกแบบและพัฒนารูปแบบให้เป็นรูปทรงในยุคปัจจุบัน โดยทำเป็นทรงมณฑป 3 ชั้น ลวดลายมีลักษณะโปร่ง ภายในมณฑปแต่ละชั้นเป็นรูป พระอาทิพุทธเจ้า 28 พระองค์ ส่วนยอดมณฑปเป็นรูปทรงมงกุฎ ซึ่งหมายถึงเครื่องทรงอันสูงส่ง เหนือยอดมงกุฎเป็นฉัตรทองคำประกอบด้วยอัญมณีนพเก้า


รูปที่ 4 พระธาตุพนมในปัจจุบัน

การเดินทางไปเยือนพระธาตุพนมนั้นสะดวกสบาย ถ้ามาโดยทางรถยนต์ให้ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12  มุ่งตรงไปยัง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ก็จะพบวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุพนมในที่สุด วัดพระธาตุพนมเปิดทุกวันจันทร์-อาทิตย์ 06.00-17.00 น.

องค์พระธาตุพนม จอมเจดีย์สองฝั่งโขง เป็นหลักฐานพยานที่แสดงให้เห็นความเจริญทางวัตถุและจิตใจของโบราณชน ผู้อาศัยอยู่ในภูมิภาคส่วนนี้ของโลก จึงจัดว่าเป็นสมบัติชิ้นสำคัญของโลกชิ้นหนึ่ง ศาสนสถานแห่งนี้จึงควรค่าแก่การเคารพกราบไหว้และเชิดชู และการมาท่องเที่ยวที่พระธาตุพนม นอกจากเป็นการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้วยังเป็นความอิ่มเอมใจที่ได้มีโอกาสมาทำบุญไหว้พระธาตุสักครั้งหนึ่งในชีวิตด้วยค่ะ


อ้างอิง

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. ๕ มหาเจดีย์สยาม. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส.

อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ.(2557). พระธาตุพนม.นนทบุรี:มติชนปาเกร็ด.

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์.  ประวัติย่อพระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม.  สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2558, จาก http://www.finearts.go.th/

อ่านเพิ่มเติม »

พระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่น

โดย กฤษฎา อินทรปพงศ์
“พระธาตุขามแก่น”   เสียงแคนดอกคูน
ศูนย์รวมผ้าไหม   ร่วมใจผูกเสี่ยว
เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่   ไดโนเสาร์สิรินธรเน่
สุดเท่เหรียญทองมวยโอลิมปิก
คำขวัญท่อนแรกของจังหวัดขอนแก่นที่ทุกคนที่ได้อ่านเป็นต้องสะดุดตา “พระธาตุขามแก่น” หรือ วัดเจติยภูมิ จึงได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สำคัญ ทั้งยังวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวขอนแก่น เรียกได้ว่าผู้ที่ผ่านมาที่จังหวัดขอนแก่น  ต้องหาโอกาศแวะสัมผัสกับบรรยากาศ  กลิ่นอายของเมืองโบราณที่ยังคละคลุ้งไม่เคยจางหาย...

วัดเจติยภูมิ ตั้งอยู่ที่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น  เป็นวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก  แม้จะมีเนื้อที่ 15ไร่ 2งาน 1ตารางวา แต่มีพื้นที่ที่เป็นส่วนสิ่งก่อสร้างไม่เกิน 6ไร่ ถูกสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด มีเพียงตำนานที่เล่าต่อกันมาเท่านั้น ที่พอจะอธิบายการสร้างของวัดได้ ปัจจุบันเป็นสถานที่ประดิษฐานขององค์พระธาตุ ที่บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้า จึงทำให้มีผู้คนมากหน้าหลายตาหลั่งไหลเข้ามาสักการะ



ตำนานการสร้างพระธาตุนั้น  เล่ากันว่า.. มีกษัตริย์แห่งโมริยวงศ์พร้อมด้วยพระอรหันต์ 9 องค์ ได้เดินทางไปที่พระธาตุพนมเพื่อนำพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าไปบรรจุไว้ด้านใน  ระหว่างทางได้พักที่ตอมะขามใหญ่ตายซากตอหนึ่งที่ผุเหลือแต่แก่น และได้อันเชิญพระอังคารธาตุวางไว้ที่บนตามะขามผุนั้น พอมาถึงเมืองนครพนมปรากฏว่าพระธาตุได้เสร็จสมบูรณ์ โมริกษัตริย์และคณะจึงกลับ และเดินผ่านตอมะขามใหญ่ตอเดิม แต่ปรากฏว่าตอมะขามผุนั้นได้เจริญงอกงามตอเขียวขจี โมริกษัตริย์จึงสร้างประธาตุทับและนำพระอังคารธาตุประดิษฐานไว้ในองค์พระธาตุนั้น และได้บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ 9 บท ไว้ในเจดีย์องค์เล็กทางด้านทิศตะวันตกของพระธาตุ เรียกว่า "พระเจ้าเก้าองค์”

แม้พระธาตุขามแก่นจะมีความเก่าแก่อย่างมาก แต่ก็มีการบูรณะถึง 4 ครั้ง เพื่อรักษาวัดและพระธาตุให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ครั้งแรก ระหว่าง พ.ศ. 2459 - 2468 ในสมัยพระครูแพง พุทธสโร เจ้าอาวาสวัดเจติยภูมิ ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2498 - 2499 พระสารธรรมมุณี เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2531 และ ปี พ.ศ. 2534 - 2535 และ ครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2544 - 2546 เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สมัยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น



ความเก่าแก่และความศักสิทธิ์ขององพระธาตุที่แม้จะสร้างทับหรือบูรณะกี่รอบก็ยังสัมผัสได้ เจดีย์พระธาตุที่สูงถึง 17 เมตร ฐานเป็นทรงบัวคว่ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เส้นรอบวงพระธาตุ 43.70 เมตร ภายในบรรจุพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า ด้านบนปิดทองเหลืองอร่าม  ล้อมด้วยผ้าทิพย์ มีกำแพงแก้วล้อมทุกทิศทาง ด้านหน้ามีแท่นบูชาเปิดให้ผู้คนที่ศรัทธาได้เข้ามากราบไว้อย่างเต็มที่

นอกจากพระธาตุในบริเวณใกล้เคียงยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สร้างมาหลายร้อยปีนั่นคือ “วิหาร” อันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับวัดมาตั้งแต่เริ่มสร้าง จะสังเกตุเห็นว่าเป็นอาคารปูนที่ด้านบนเป็นเครื่องไม้  ตกแต่งลวดลายร่วมสมัย แต่ข้างในคือสุดยอดสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ถูกโอบไว้ด้วยอาคารใหม่ดั่งใข่ไดโนเสาร์ที่ถูกหุ้มด้วยปูน



ถัดจากวิหารไปไม่กี่ก้าวก็สะดุดกับแท่งหินที่เรียกว่า “ใบเสมา” แน่นอนว่ามันคือสัญลักษณ์ที่บอกว่าที่นี่คือ “พระอุโบสถ” อาคารที่ใหญ่โต โอ่โถ่งแห่งนี้คือสถานที่ประกอบพิธีของเหล่าพระสงฆ์  มีลักษณะเหมือนพระอุโบสถทั่วไป  ที่สะดุดตา คือประติมากรรมหน้าประตู เป็นรูปสัตว์สองตัวที่ทำหน้าที่เฝ้าอุโบสถ  นั่นคือ “สิงห์” นั่นเอง ที่บอกว่าสะดุดเพราะรูปร่างมันน่ารักเกินกว่าจะเป็นสิงห์

การเดินทางมายังพระธาตุขามแก่นนั้นไม่ยาก เพราะตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นเพียงเล็กน้อย เพียงขับรถไปตามถนนขอนแก่น - ยางตลาด เลี้ยวซ้ายบ้านพรหมนิมิตร อ.เมืองขอนแก่นประมาณ 15 ก.ม. ก็จะถึงวัดเจติยภูมิอันเป็นที่ตั้งพระธาตุขามแก่นนั่นเอง หรือสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลได้ที่ เบอร์ 089-5753873 วัดเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 6.00น. – 19.30น.
   
พระธาตุขามแก่นนั้นเป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นเราได้สักการบูชา แหล่งรวมจิตใจของทุกๆคน แม้ว่าเราจะแตกต่าง  แต่จิตใจของคนขอนแก่นที่รวมอยู่ที่นี่นั้นเหมือนๆ กัน และสิ่งสำคัญที่สุดที่เราทุกคนต้องช่วยกันกระทำไม่ใช่การกราบไว้พระธาตุ แต่คือการทำให้พระธาตุยังเป็นศูนย์รวมจิตใจให้เราและรุ่นหลังให้ตราบนานเท่านาน ตามวิถีแห่งผู้มีจิตใจแห่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่แท้จริง



อ้างอิง

วัดพระธาตุขามแก่น สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558, จาก  https://www.facebook.com/Prathat.KK

วัดพระธาตุขามแก่น สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558, จาก  http://www.faiththaistory.com/khamkaen/

วัดพระธาตุขามแก่น สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558, จาก  http://www.touronthai.com

วัดพระธาตุขามแก่น สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558, จาก  https://th.wikipedia.org/

อ่านเพิ่มเติม »

วัดป่าภูก้อน จังหวัดอุดรธานี

โดย ประภาพร อรดี

แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศไทยไม่เคยขาดพระภิกษุสงฆ์ ผู้คงแก่เรียนและเต็มไปด้วยวิถีปฏิบัติ ที่ชอบ ที่ควร ตามรอยขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่เราชาวพุทธบริษัท พุทธสถานก็เช่นเดียวกัน เรามีวัด และสถานปฎิบัติธรรมอยู่มากมายทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการเรียนรู้ ศึกษาพระธรรม และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่มีความเก่าแก่ หรือสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ในตัวเมือง หรือสถานที่ที่อยู่ตามชนบท หรือรายล้อมไปด้วยความเป็นธรรมชาติก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อจิตใจ และมีความน่าเลื่อมใสในตัวเอง จากกระแสความศรัทธาของผู้คนที่มีมาอย่างยาวนานหลายพันปี

แต่หากจะกล่าวถึง พุทธสถาน ที่เป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจ เปี่ยมล้นไปด้วยความศรัทธาที่หลั่งไหลมากจากทั่วทุกสารทิศ ที่รายล้อมไปด้วยป่าเขาที่เขียวขจีบนพื้นที่กว่า 3000 ไร่ แหล่งต้นน้ำลำธารอันอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่สวบงามสะดุดุตา มีการตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา มีเสน่ห์และความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร หนึ่งเดียวในแถบภาคอีสานตอนบน แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง “ป่าห่มศรัทธา วัดป่าภูก้อน จังหวัดอุดรธานี”


ที่มา: http://www.naiia.org/post/

วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย กำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัทสี่ ผู้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย

โดยในปี พ.ศ. 2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้ไปธุดงค์ทางภาคอีสาน คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมคณะได้เดินทางมาแถบจังหวัดสกลนครและอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อย ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อย และปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมและอยู่อาศัยของพระสงฆ์ จากนั้นท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายได้พาไปดูป่าภูก้อนที่กำลังถูกสัมปทานตีตราตัดไม้ คณะศรัทธาจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม (ปัจจุบันเป็นพระครูจิตตภาวนาญาณ) เป็นประธานและขวัญกำลังใจในการก่อสร้าง และได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้ ต่อมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็น 'วัดป่าภูก้อน' ขึ้นในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530



ปัจจุบันนี้วัดมีศาลาอุโบสถ 2 ชั้น 1 หลัง ซึ่งเป็นที่ประกอบพิธีสงฆ์ชั้นบนและเป็นที่ฉันชั้นล่าง มีกุฏิพระ 45 หลัง เรือนครัว 1 หลัง เรือนพักฆราวาส 6 หลังถังเก็บน้ำคอนกรีต 20 ถัง และห้องน้ำจำนวนมาก โดยใช้ระบบประปาภูเขา จากฝายเก็บน้ำดินขนาดเล็กที่เป็นแหล่งต้นน้ำซับและน้ำตกในวัด ซึ่งต่อมากรมชลประทานได้บูรณะถวายให้แข็งแรงถาวรในปี 2538 และวัดยังได้ต่อระบบประปาไปถึงหมู่บ้านนาคำที่อยู่ห่างจากวัดไป 4 กม. เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำใช้อย่างสะดวกและสะอาด

ด้วยความสง่างามและความศักดิ์สิทธิ์ของอาณาเขตพุทธอุทยาน และป่าสงวนแห่งชาติบนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ที่กรมป่าไม้ได้ให้วัดป่าภูก้อนช่วยดูแลงานด้านป่าไม้ (เพิ่มขึ้นจากพื้นที่พุทธอุทยานเดิมอีก 2,000 ไร่) เพื่อรักษาป้องกันไฟป่าและการบุกรุกทำลายป่าล่าสัตว์ วัดป่าภูก้อนจึงเป็นที่สงบสัปปายะ วิเวกควรแก่การบำเพ็ญภาวนารักษากายวาจาและจิตใจในกรรมฐานเป็นที่สุด ดังมีผู้ได้พบเห็นหลักฐานความอัศจรรย์ของธรรมชาติแห่งนี้อยู่เสมอ คณะศรัทธา จึงร่วมกันดำริสร้างพระมหาเจดีย์ นามว่า "พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์"


ที่มา: http://www.tamdoo.com/

ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี” ที่สร้างเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ พระพุทธรูปปางไสยาสน์แนวนอนความยาวกว่า 20 เมตร ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 6 ปี และเต็มไปด้วยตำนานเล่าขาน ตั้งแต่การได้มาของหินอ่อนขาวบริสุทธิ์จากประเทศอิตาลี ซึ่งนำมาใช้เป็นส่วนของเศียรพระ รวมถึงงานแกะสลักอันวิจิตรตระการตาราวกับมีชีวิต จากนั้นแวะขึ้นไปกราบนมัสการ “องค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์” เจดีย์ที่ชั้นบนสุดเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ในปัจจุบันนี้ วัดป่าภูก้อนดำรงคงอยู่ด้วยความสมดุลของป่าไม้ที่ทวีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นทุกคืนวัน โดยบุคคลผู้มีความศรัทธาและระลึกคุณของสรรพสิ่งทั้งหลายของชาติและแผ่นดินอันเป็นที่กำเนิดแห่งชีวิต โดยมีคุณพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องสำนึก และมีพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ชาวไทยทุกคนควรทดแทน เป็นกำลังใจส่งเสริมพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบให้ดำรงปฏิปทาของพระป่ากรรมฐานเพื่อบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนถึงที่สุด

การเดินทางไปวัดป่าภูก้อน จากตัวเมืองจังหวัด อุดรธานี ให้ออกทางหลวงเส้นจังหวัดหนองคาย ไปถึงหลักกิโลเมตรที่ 13 แยกซ้ายไป อ.บ้านผือ อ.นายูง จนถึง บ.นาคำใหญ่ จะมีทางเลี้ยวเข้าวัดป่าภูก้อน รวมแล้วระยะทางจากตัวเมืองอุดรธานี ถึงวัดป่าภูก้อน 125 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที รถทุกชนิดสามารถขึ้นได้ยกเว้นรถบัสคันใหญ่ต้องจิดไว้ตรงปากทางขึ้นแล้วใช้บริการรถสองแถวขึ้นไปยังวัด เสียค่าบริการ คนละ 20 บาท

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า วัดป่าภูก้อน เป็นพุทธสถานที่สวยงาม วิจิตรตระการตา อย่างมีเอกลักษณ์ และทรงคุณค่าคู่ควรแก่การเยี่ยมชม และสักการบูชา รวมถึงการแสดงกตัญญูกตเวทิตาแด่คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และบูรพอาจารย์กรรมฐานในแถบอีสาน ทั้งยังเป็นมงคลสถานที่พุทธศาสนิกชน จะได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าไม้อันให้ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นที่ปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอีสาน ซึ่งควรร่วมกันส่งเสริมรักษาอย่างจริงจังตลอดไป



อ้างอิง

กาลครั้งหนึ่ง...ในถิ่นอีสาน จากอุดรฯ ถึงหนองคาย “สัมผัสป่าห่มศรัทธา-ชมเกล็ดพญานาคริมโขง” Retrieved 19 กันยายน 2558, from http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000010748

ประวัติวัดป่าภูก้อน Retrieved 19 กันยายน 2558, from http://www.watpaphukon.org/history/

วัดป่าภูก้อน Retrieved 19 กันยายน 2558, from http://www.flydrivethai.com/index.php/relaxing-car-drive/10-dreamdestinations/dreamdestinations-2/dreamdestinations-watpaphukon

อ่านเพิ่มเติม »

เมืองโบราณโนนเมือง จังหวัดขอนแก่น

โดย อานนท์  ศรีสุวรรณ์

แหล่งโบราณคดีที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต เป็นแหล่งที่มีความสำคัญต่อการศึกษาวิถีชีวิตและพัฒนาการของมนุษย์แต่ละยุคสมัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีแหล่งโบราณคดีที่มีร่องรอยของชุมชนโบราณปรากฏอยู่หลายแห่ง จึงนำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ เมืองโบราณโนนเมืองก็เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีสำคัญเหล่านี้

เมืองโบราณโนนเมือง ตั้งอยู่ที่ บ้านนาโพธิ์ ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ  จังหวัดขอนแก่น เป็นแหล่งโบราณคดีที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานถึงการอาศัยอยู่ของมนุษย์ในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งเมืองโบราณแห่งนี้ได้เคยเป็นชุมชนในช่วง 2,500 – 2,000 ปีมาแล้ว มีผู้คนอาศัยอยู่จนกระทั่งถึงวัฒนธรรมสมัยทวารวดี  ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16  ประมาณ 1,400 – 1,000 ปีมาแล้ว มีเนื้อที่ทั้งหมด 216 ไร่ พื้นที่ชั้นในค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 420 เมตร ชั้นนอกรูปทรงค่อนข้างรี กว้างประมาณ  600 เมตรมีคูเมืองล้อมรอบ 2 ชั้น ระยะห่างกันประมาณ 200 เมตร ด้านทิศใต้มีแม่น้ำเชิญไหลผ่าน  พื้นที่รอบนอกตัวเมืองเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก  (ภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 ภาพถ่ายทางอากาศแสดงขอบเขตพื้นที่เมืองโบราณโนเมือง
ที่มา : http://haab.catholic.or.th/

จากการสำรวจของกรมศิลปากรโดยหน่วยงานศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น (ปัจจุบันคือ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น)ได้ดำเนินการขุดข้น ในปี 2525 จำนวน 7 หลุมพบโครงกระดูกจำนวน 11 โครง และในปี 2534 -2535 ได้รับงบประมาณการศึกษาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้จากโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง (โครงการอีสานเขียว) จึงได้ขุดค้นเพิ่มเติมอีก 6 หลุมพบโครงกระดูจำนวน 17 โครง โดยจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งให้ผู้ที่สนใจได้ชมและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนี้ได้อย่างใกล้ชิด  มีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่ความลึกจากพื้นดินประมาณ 270 เซนติเมตร  มีอายุราว 2,500 ปี  ที่มีการฝังตามแบบประเพณีโบราณ  มีธรรมเนียมการฝังสิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ เช่น หม้อ  ภาชนะดินเผาที่มีทั้งดินเผาเขียนสีและลายขูดขีด (ลายเชือกทาบ) กำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์  เช่น  กระดูกหมู  กระดูกควาย  เขากวาง เปลือกหอย และกระดองเต่าใกล้กับโครงกระดูก เพื่ออุทิศให้กับผู้ตายตามคติความเชื่อในยุคสมัยนั้น (ภาพที่ 2)



ภาพที่ 2  โครงกระดูกมนุษย์ อายุราว 2,500 ปี พร้อมกับสิ่งของ ภาชนะดินเผา
ที่มา: http://www.holidaythai.com/

ยังพบเครื่องมือเหล็กประเภท จอบ เคียว และกระดูกของสัตว์ต่างๆ เช่น เก้ง กวาง และปลาหลายชนิด ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในอดีต ชุมชนแห่งนี้ ดำรงชีพด้วยการทำการเกษตร นอกจากนี้แล้วยังพบใบเสมาหินทรายศิลปะสมัยทวารวดี ที่ถูกปักไว้เพื่อกำหนดให้เป็นพื้นที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในสมัยนั้น พื้นที่แห่งนี้ได้มีผู้คนอาศัยอยู่เรื่อยมาจนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 จึงได้ถูกทิ้งร้างไปในที่สุด


ภาพที่ 3  ใบเสมาหินทราย
ที่มา :   http://info.dla.go.th/

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญและสิ่งของที่ขุดค้นพบและมีความสมบรูณ์ได้ถูกนำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่ได้มีการจัดแสดงอยู่ที่เมืองโบราณแห่งนี้

ท่านที่สนใจอยากเดินทางมาเที่ยวชมเมืองโบราณแห่งนี้ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทาง ขอนแก่น  –    ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ระยะทางจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 80 กิโลเมตร ผ่านตัวอำเภอชุมแพ ถึงที่ทำการไปรษณีย์เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณโนนเมือง

ปัจจุบันเมืองโบราณโนนเมืองได้ถูกจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาถึงร่องรอยโบราณคดีหลักฐานทางประวัติศาสตร์  โดยไม่เสียค่าเข้าชม โดยมีอาคารศูนย์ข้อมูลที่รวบรวมและจัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณโนนเมือง รวมทั้งมีอาคารจัดแสดงหลุมขุดค้น 5 หลุม สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวในอดีตของจังหวัดขอนแก่น รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน


ภาพที่ 4 อาคารจัดแสดงหลุมขุดค้น




อ้างอิง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , เมืองโบราณโนนเมือง. Retrieved 25 กันยายน 2558, from http://thai.tourismthailand.org/

สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม  , เมืองโบราณโนนเมือง. Retrieved 25 กันยายน 2558, from http://haab.catholic.or.th/web/index.php?option=com_content&view=article&id=1661:2013-05-16-03-36-47&catid=128:2012-07-27-08-28-55&Itemid=66

ไทยทัวร์ อินโฟ , เมืองโบราณโนนเมือง ขอนแก่น . Retrieved 25 กันยายน 2558, from http://thai.tourismthailand.org/

อ่านเพิ่มเติม »

เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

โดย สลิตา พานคำ

ในปัจจุบันที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ทำให้เหลือชุมชนที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนน้อยเต็มที และหนึ่งในนั้นคือ “เกาะเกร็ด” แหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นชุมชนคนมอญที่ขึ้นชื่อในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผา และวัฒนธรรมดั้งเดิมก็ยังสามารถอนุรักษ์สิ่งที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ได้เป็นอย่างดี

เกาะเกร็ด เป็นเกาะกลางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 4.2 ตารางกิโลเมตรหรือ 2,625 ไร่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นี่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาสืบเนื่องมาแต่ครั้งโบราณ

เกาะเกร็ด เกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2265 เรียกว่า “คลองลัดเกาะเกร็ดน้อย” (คลองลัดเกาะเกร็ดใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก) ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึ่งเกลายเป็นเกาะ มีชื่อเดิมว่า เกาะศาลากุน

เกาะเกร็ดมีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากวัดวาอารามต่างๆ บนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยา หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้นมีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้ว เกาะศาลากุน จึงมีฐานะเป็นตำบล และเรียกกันว่าตำบลเกาะเกร็ด เกาะนี้จึงมีชื่อเรียกกันเป็น เกาะเกร็ด



เมื่อเวลาผ่านไปทำให้ชาวมอญเกาะเกร็ดมีความรักและผูกพันต่อถิ่นที่อยู่อาศัยมากขึ้น มีการรวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายในชุมชนโดยเฉพาะกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ชาวมอญเคารพนับถือ ดังนั้นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในเกาะเกร็ดจึงเกี่ยวข้องกับวัด ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นศูนย์กลางของชุมชนแห่งนี้

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบนเกาะเกร็ด ได้แก่


1.วัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว)



ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตะหว่างอยู่ ส่วนพระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบันที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฎกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชการลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง ด้านหลังพระอุโบสถ มีพระมหารามัญเจดีย์ จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า

พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดยาว 9.50 เมตร ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี


ที่มา: http://nbi.onab.go.th/

เอกลักษณ์ของมอญอีกอย่างหนึ่งในวัดนี้ คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องจากเจดีย์อยู่ติดแม่น้ำ กระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง ดูแปลกตา นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเกาะเกร็ด    
พระนนทมุนินท์ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ (จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหาร เปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00 - 16.00 น.
       
2.วัดเสาธงทอง


ที่มา: http://www.manager.co.th/

วัดเสาธงทอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2313 เป็นวัดเก่า เดิมชื่อ "วัดสวนหมาก" นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐาน เจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงมะเฟืองกลีบอวบองค์สุดท้ายของโลก  ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมาก เขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญ เรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะอาล๊าต” หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์ รูปทรงคล้ายมะเฟือง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น มีต้นยางใหญ่อายุประมาณ 200 ปี เปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00 - 16.00 น.

3.วัดไผ่ล้อม


ที่มา: http://www.painaidii.com/

วัดไผ่ล้อมเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระอุโบสถสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2318 มีความงดงามเป็นอย่างมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวย และบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า "เพี๊ยะโต้" โดยพระยาเจ่ง ต้นตระกูลคชเสนีย์ ผู้คุมไพร่พลกองมอญที่เข้ามาอาศัยพึงพระบรมโพธิสมภาร และให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดนนทบุรีขึ้นไปถึงอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

ปูชนียสถานที่สำคัญคือ อุโบสถ เป็นอาคารขนาดทรงโรงขนาด 5 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หน้าบันไดไม้จำหลักลายดอกพุดตานใบเทศปิดทองประดับกระจกทั้งหมด หน้าอุโบสถมีเจดีย์ขยาดย่อม 2 องค์ รูปทรงเจดีย์ทรงรามัญประดับลายปูนปั้น ภายในวัดไผ่ล้อมจะมี พระพุทธชินราช และพระพุทธรูปหลวงพ่อโต อยู่ด้านหน้าโบสถ์ ให้นักท่องเที่ยวได้กราบสักการะก่อนเข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูปด้านใน

ด้านหลังอุโบสถเดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระฐาตุรามัญเจดีย์ (พระมหาเจดีย์ชเวดากองจำลอง) ซึ่งเป็นศิลปะพม่า มีพระธาตุรามัญเจดีย์ขนาดใหญ่แต่ชำรุดปรักหักพัง ทางวัดได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เจดีย์เดิม เมื่อ พ.ศ. 2530 เป็นเจดีย์มอญที่มีความงดงาม องค์พระเจดีย์ประดิษฐานอยู่บนฐานใหญ่ รอบฐานในทิศทั้งแปด มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวัดแบบมอญ ทั้ง 8 ทิศ กำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุรามัญเจดีย์ ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีซุ้มประตูแบบมอญทั้งสองด้านสามารถบอกประวัติความเป็นมาของวัด และศิลปกรรมชาวมอญบนเกาะเกร็ดได้เช่นกันเป็นอุโบสถที่มีความงามหลังหนึ่งเช่นเดียวกับอุโบสถวัดฉิมพลีสุธาวาส ถือเป็นโบสถ์สมัยอยุธยาที่งามมากแห่งหนึ่งมีการซ่อมครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 มีเจ้าอาวาส พระอางุย สุนฺทโร (วงษ์สกุล) คนในพื้นที่เรียกวัดนี้ว่าวัดมอญ เปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00 - 16.00 น.

4.วัดฉิมพลีสุทธาวาส


ที่มา http://www.bloggang.com/

วัดฉิมพลีตั้งอยู่บนเกาะเกร็ดทางด้านทิศใต้ เป็นวัดโบราณ ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเรียกกันว่า "วัดป่าฝ้าย" มีชื่อเต็มว่า "วัดฉิมพลีสุทธาวาส" มีพระอุโบสถเก่าขนาดเล็กลักษณะงดงามมาก และยังคงสภาพสมบูรณ์ตามแบบเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถ ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ยอดมณฑป ซุ้มปประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นแบบหน้านางซึ่งยังคงความงามอยู่ ฐานพระอุโบสถโค้งแบบเรือสำเภา ด้านเหนือพระอุโบสถมี เจดีย์ทรงระฆังซึ่งแปลกกว่าที่อื่น คือ มีกระจกสีประดับอยู่ที่องค์เจดีย์ นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตาจีนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างประตูกำแพงพระอุโบสถ 2 ตัวอีกด้วย

อาณาบริเวณของวัดฉิมพลีในปัจจุบันนั้นใหญ่กว่าในอดีตเนื่องจากรวมเอาอาณาบริเวณของวัดป่าเลไลย์ ซึ่งในขณะนี้เป็นวัดร้างเข้าด้วยกันแล้ว วัดป่าเลไลย์นี้มีพระอุโบสถที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง และมีใบเสมาทำจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปากเกร็ด บานประตูเขียนลายทองรดน้ำภาพเสี้ยวกาง ที่งดงาม แต่ได้ลบเลือนไปมากแล้วรวมทั้งยังมีความสูง 1.69 เมตร ส่วนพระประธาน และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยแบบอยุธยา ได้นำไปประดิษฐานที่พระอุโบสถ เปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00 - 16.00 น.

5.กวานอาม่าน (หมูบ้านดินเผา)



ในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวมอญเกาะเกร็ดในอดีตมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการทำเครื่องปั้นดินเผานานนับร้อยปี เรียกได้ว่าการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวมอญเกาะเกร็ด เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวมอญเกาะเกร็ดหลายเรื่อง เช่น การพึ่งพาอาศัยกันในการทำมาหากินเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ของคนในชุมชน การให้ความเคารพนับถือผู้มีความสามารถพิเศษในวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตในสังคม คติความเชื่อของชาวมอญเกาะเกร็ดเกี่ยวกับผีที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเครื่องปั้นดินเผาอันเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวมอญเกาะเกร็ดเป็นที่รู้จักของสังคมภายนอก

ปัจจุบันชาวมอญเกาะเกร็ดมิได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาทุกครัวเรือนแล้ว เนื่องจากความนิยมในการใช้เครื่องปั้นดินเผาลดลง อีกทั้งวัสดุในการผลิตก็หายากและมีราคาแพง ชาวมอญเกาะเกร็ดหันไปทำอาชีพอื่นเป็นส่วนมาก จนเมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น เกาะเกร็ดและเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญแห่งนี้จึงได้รับความสนใจอีกครั้ง ทำให้ชาวมอญเกาะเกร็ดหันมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทสวยงามจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว หลังจากซบเซาไปนานแต่ก็เทียบไม่ได้กับในอดีตที่มีการผลิตมากกว่าหลายสิบเท่า

พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญลายโบราณ การปั้นเครื่องปั้นดินเผา นั้นเป็นอาชีพชาวมอญมาตั้งแต่ครั้งตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นับเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่ ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ลวดลายประณีตสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และยังเป็นสัญลักษณ์ตราประจำจังหวัดนนทบุรี สองข้างทาง เดินบนเกาะมีบางบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ภาชนะของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระถาง ครก โอ่งน้ำ ฯลฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น.

สำหรับการข้ามมายังเกาะเกร็ดโดยเรือข้ามฟากได้สองท่าคือ ท่าเรือวัดสนามเหนือ (ไม่ไกลจากท่าน้ำปากเกร็ด) หรือท่าเรือวัดกลางเกร็ด มีเรือบริการระหว่าง 05.00-21.30 น. เปิดทำการทุกวัน เวลา 08.00 - 17.00 น.

ชุมชนคนมอญเกาะเกร็ดนั้นเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการหลายด้านที่เติบโตควบคู่มากับประเทศไทย และการมาเที่ยวเกาะเกร็ดนั้นมาเพื่อให้เห็นชีวิตประจำวันของชาวมอญเกาะเกร็ดที่ยังคงหลงเหลือวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ โดยเฉพาะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายสวยงามตามแบบฉบับช่างฝีมือชาวมอญ ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากโดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่นิยมซื้อเพื่อเป็นของที่ระลึก อีกทั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีเกาะตั้งอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดผู้คนทั้งใน และนอกประเทศได้เป็นอย่างดี



อ้างอิง

อลิสา รามโกมุท. เกาะเกร็ด:วิถีชีวิตชุมชนมอญริมน้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ : สมาพันธ์.
2542.

Jadai. 2557.  Jadai เที่ยวตะลอน (ไม่) On Tour --> ชุด ตะลุยเกาะเกร็ด. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2558, จาก http://www.tibbook.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=7&No=1247098

THAIWEEKENDER . 2558. เที่ยวที่ไหนดี สูดอากาศชานเมือง เกาะเกร็ด. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2558, จาก http://www.thaiweekender.com/index.php/kohkret.html

กระปุกดอทคอม. 2558. เที่ยวเกาะเกร็ด เกาะกลางลำน้ำเจ้าพระยา. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2558, จาก http://travel.kapook.com/view649.html

Dhurakij Pundit University. 2558. เกาะเกร็ด. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2558, จาก http://www.dpu.ac.th/dpuplace

ทัวร์ออนไทยดอทคอม. 2558. วัดเสาธงทอง. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2558, จาก http://www.touronthai.com






อ่านเพิ่มเติม »

วัดพระธาตุหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี

โดย ภัทรพร เหล่าอยู่คง

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเทศกาลแห่เทียนพรรษา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีความเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทำให้จังหวัดอุบลราชธานีมีพุทธสถานหลายแห่ง และหนึ่งในพุทธสถานที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานีก็คือ วัดพระธาตุหนองบัว ซึ่งเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน และไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยวที่อุบลราชธานี

วัดพระธาตุหนองบัว หรือวัดหนองบัว เป็นวัดราษฎร์ นิกายธรรมยุต ตั้งอยู่บนถนนธรรมวิถี ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ตามประวัติเล่าว่า นายฟอง สิทธิธรรม ได้มอบที่ดิน 50 ไร่ไว้ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2498 ในการสร้างวัดเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเป็นที่ระลึกเนื่องในวาระมงคลกึ่งพุทธกาล พุทธศตวรรษ 2500 ก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบสมบูรณ์ในปลายปี พ.ศ.2501 เดือนสิงหาคม

ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมแนวผสมผสานที่งดงามตามแบบอีสาน คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สำคัญของวัดพระธาตุหนองบัว และนอกเหนือจากเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ภายในวัดยังมีพระวิหารที่น่าสนใจไม่แพ้กัน


ที่มา : http://www.skyscrapercity.com/

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนาในปี พ.ศ.2500 และเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุไว้ในพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์องค์จริง มีลักษณะเป็นองค์สี่เหลี่ยมลงรักปิดทอง ศิลปะอินเดียแบบปาละ สลักลายเป็นเรื่องพระเจ้า 500 ชาติในกรอบสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถวคั่นแถวด้วยลายกลีบบัว ในอดีตพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์องค์เดิมมีขนาดกว้างด้านละ 5 เมตร สูงประมาณ 17 เมตร ต่อมามีการสร้างเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เดิม ขนาดฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร มีขนาดใหญ่กว่าเจดีย์องค์เดิมมาก เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2512 และรอบพระธาตุเจดีย์องค์จริงยังมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ด้าน


ที่มา : http://www.ubon24.com/

ตัวเจดีย์ก่ออิฐถือปูนมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ยอดสอบเข้าเล็กน้อย และปลายตัดแล้วต่อยอดด้านบนให้แหลมสูงด้วยเจดีย์ขนาดเล็กสีทอง ฐานตอนล่างสุดของเจดีย์เป็นรูปมารแบก ถัดขึ้นไปเป็นรูปพระสงฆ์สาวกยืนในซุ้มด้านละ 8 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพระเจ้าสิบชาติ โดยสลักเป็นช่องๆ 1 ช่องต่อ 1 เรื่อง รวม 10 ช่อง เหนือขึ้นไปเป็นลายรัดประคตรูปเทพนั่งบนแท่นสลับกับลายนก และด้านบนประดับลายปูนปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าในปางต่างๆสูงจนถึงยอดเจดีย์ ส่วนยอดเจดีย์เป็นฉัตร 5 ชั้นลงรักปิดทอง ที่ยอดฉัตรเป็นรูปดอกบัวตูม ทำด้วยทองคำ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน บริเวณมุมกำแพงแก้วทั้ง 4 มุม สร้างเป็นเจดีย์รายทรงเหลี่ยมประดับลายรูปเทพพนมและลายกนก ที่ฐานปั้นเป็นรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้ม


ที่มา : http://2g.pantip.com/

วิหาร สร้างเลียนแบบรูปทรงมาจากปรินิพพานวิหาร เมืองกุสินารา รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย ลักษณะสร้างเป็นอาคารตรีมุข คือมีหลังคายื่นออกไปเป็นสามด้าน หลังคารูปร่างโค้งมน มีระเบียงพาไลโดยรอบ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธไสยาสน์ในซุ้มตรีมุข เพดานโค้งด้านบนเขียนรูปเทวดาดั้นเมฆพนมมือบนพื้นสีแดง ตรงกลางเป็นรูปดาว ส่วนล่างเขียนจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ เสา พื้น และผนังบุหินแกรนิต สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี

การเดินทางมายังวัดพระธาตุหนองบัวโดยรถยนต์ส่วนตัวสามารถขับจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปตามถนนชยางกูรทางไปจังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกจากถนนชยางกูรให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนธรรมวิถี ประมาณ 500 เมตร จะเห็นวัดอยู่ทางขวามือ ทางวัดเปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา 05.00 น. ถึง 19.00 น. เป็นประจำทุกวัน

วัดพระธาตุหนองบัวเป็นวัดสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี มีอายุเก่าแก่ และมีสถาปัตยกรรมแนวผสมผสานตามแบบอีสานที่งดงาม ภายในวัดมีพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ที่ซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้ได้เข้าไปกราบไหว้สักการะบูชา และเยี่ยมชมความงดงามของพระธาตุเจดีย์ อีกทั้งยังมีวิหารที่มีความสวยงามไม่แพ้กัน ผ่านจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อไร ก็อย่าลืมแวะมาชมความงามของวัดพระธาตุหนองบัวได้



อ้างอิง

วัดพระธาตุหนองบัว. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2558 , จาก http://www.touronthai.com/วัดพระธาตุหนองบัว-62000014.html

วัดพระธาตุหนองบัว. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2558 , จาก                                                                     http://at-bangkok.com/travel_ubonrachtani_watsrinuan.php

วัดพระธาตุหนองบัว. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2558 , จาก http://www.southlaostour.com/

อ่านเพิ่มเติม »

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

โดย เจนจิรา ยอดชัยภูมิ

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมีหลากหลายแห่งที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวในอดีต ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการแนะนำในครั้งนี้ คือ  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญที่น่าสนใจที่จะศึกษาหาความรู้มากที่สุดแห่งอีกหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า "เมืองอภัยสาลี" ถูกค้นพบเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองศรีเทพ" เมื่อปี พ.ศ. 2447-2448


ภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงถึงเมืองโบราณศรีเทพ

เมืองโบราณศรีเทพนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ ที่ตั้งของเมืองอยู่ในชุมทาง ที่สามารถติดต่อกับภาคอื่น ๆ ได้สะดวก ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากอาณาจักรข้างเคียง มาผสมผสาน เช่น ศิลปะทวารวดี ศิลปะขอม เป็นต้น เมืองศรีเทพสร้างขึ้นในยุคของขอมเรืองอำนาจ ซึ่งคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี โดยดูจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวัฒนธรรมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความเจริญสูงสุดทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม สันนิษฐานว่าเจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 107 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณสองพันไร่เศษ มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ  และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในเมืองมีปรางค์สมัยลพบุรีอยู่สององค์ เรียกว่า ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ  ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพิพัฒยสัตยา เพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

โบราณสถานและสถานที่สำคัญที่ค้นพบในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้แก่

ปรางค์ศรีเทพ 

เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานลูกบัวฟัก เรืองธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17


ปรางค์ศรีเทพ

สระแก้วสระขวัญ

สระแก้วจะอยู่นอกเมืองไปทิศเหนือ ส่วนสระขวัญจะอยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก สระน้ำทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำทั้งสองสระนี้ไปทำน้ำพิพัฒน์สัตยา ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน


บ่อน้ำโบราณ

โบราณสถานเขาคลังใน 

ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สร้างประมาณพุทธศตรวรรษที่ 11-12 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างคล้ายกับเมืองทวารวดีอื่นๆ เช่น คูเมืองที่จังหวัดราชบุรี เมืองโบราณบ้านคูบัว มีการใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับอยู่ เป็นศิลปะสมัยทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติ


โบราณสถานเขาคลังใน

ปรางค์สองพี่น้อง 

ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียวจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตีประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ เป็นศิลปะขอมแบบบาปวน และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก นอกจากนี้ระหว่างองค์ปรางค์ทั้งสองแห่งคือปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพจะมีกำแพงล้อมรอบ และมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผัง ในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย และยังมีอาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้ขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2531


ปรางค์สองพี่น้อง


ทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17

นอกจากโบราณสถานหลักภายในเมืองแล้วยังมีโบราณสถานขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป   นอกเมืองออกไปยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น ทางทิศเหนือห่างไปราว 2-3 กิโลเมตร มีโบราณสถานเขาคลังนอก ซึ่งเป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโบราณสถานเขาคลังใน แต่ยังไม่ได้ทำการขุดแต่งและพัฒนา โบราณสถานปรางค์ฤาษีซึ่งเป็นปราสาทในแบบศิลป์เขมร ส่วนทางด้านทิศตะวัน ตกของเมืองห่างไปราว 20 กิโลเมตร พบแหล่งโบราณสถานเขาถมอรัตน์ ซึ่งพบภาพสลักบนผนังถ้ำเป็นรูปพระโพธิสัตว์และพุทธรูปในแบบศิลปะทราวดีอีกด้วย

เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร การเดินทางค่อนข้างสะดวก โดยใช้เส้นทางตามทางหลวงหมายเลข 21 (เฉลิมพระเกียรติ-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพแหล่งนี้เป็นแหล่งขุนทรัพย์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่มีประวัติความเป็นมาและโบราณสถานที่สำคัญที่ยังหลงเหลือให้คนในปัจจุบันได้ศึกษาหาความรู้ เป็นสถานที่ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งที่อยากแนะนำให้มาเที่ยวค่ะ




อ้างอิง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ.สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558,จาก https://th.wikipedia.org/

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ.สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558,จาก http://thai.tourismthailand.org/

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ.สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558,จาก http://www.bloggang.com/





อ่านเพิ่มเติม »