วัดสระทองบ้านบัว จังหวัดขอนแก่น

โดย อุทุมพร ทัดบุตร

“มัญจาคีรีนามเมืองเก่า    บึงกุดเค้าคู่เมืองบ้าน
นมัสการหลวงปู่ผาง       ตลาดกลางที่นอนหมอน
แสนออนซอนดอนเต่า     งามลำเนาเขาภูเม็ง
เล็งชมกล้วยไม้ป่าบาน     โบราณสถานโนนศิลาเลข
สิมชั้นเอกวัดสระทอง    น้ำตกลือก้องห้วยเขผ้าไหมสุดเก๋หนองหญ้าปล้อง”

จากข้อความข้างต้นนั้นเป็นคำขวัญของอำเภอมัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ซึ่งได้แสดงถึงสิ่งที่โดดเด่นของท้องถิ่น มัญจาคีรีเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากมาย หนึ่งนั้นที่ชาวมัญจาคีรีมีความภาคภูมิใจ คือ “สิมวัดสระทองบ้านบัว”

 วัดสระทองบ้านบัว ตั้งอยู่ที่บ้านบัว ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น วัดมีเนื้อที่     7 ไร่ 50 ตารางวา ภายในบริเวณวัดประกอบด้วยอุโบสถหลังเก่า กว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2456 และ อุโบสถหลังใหม่ กว้าง 5 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2515

ประวัติความเป็นมาของวัดสระทองบ้านบัวเริ่มจาก พ.ศ. 2374 มีการเกิดโรคระบาด ชาวบ้านได้อพยพลูกหลานจากบ้านโนนเค้า (ปัจจุบันคือวัดป่ามัญจาคีรี) หนีโรคระบาดและการขาดแคลนน้ำบริโภค มาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมสระบัว ซึ่งมีดอกบัวขึ้นเต็มหนองสวยงามมาก จึงได้ตั้งชื่อว่าบ้านบัว ชาวบ้านได้สร้างสิมขึ้น นับว่าเป็นสิมแห่งแรกของดินแดนแถบนี้ การอพยพครั้งนั้น ได้อันเชิญพระพุทธรูปหินทรายแดงมาด้วยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน


ที่มา: http://www.tamdoo.com/

สิ่งก่อสร้างเก่าแก่และสำคัญภายในสระทองประกอบได้แก่  “สิม” หรือ “โบสถ์” ที่เป็นโบราณสถานที่สำคัญ  และภายในสิมมีพระพุทธรูปประธาน ศิลาทรายอันเก่าแก่ประดิษฐานอยู่ด้วย ดังจะกล่าวในรายละเอียดดังนี้

“สิม” เป็นคำเรียกโบสถ์หลังเล็กๆ แบบโบราณ สิมวัดสระทองบ้านบัวหลังนี้มีคุณค่าในทางเอกลักษณ์ช่างไท-อีสานพื้นบ้านได้อย่างเต็มเปี่ยม ให้ความรู้สึกแห่งความจริงใจและตั้งใจทำตามสติปัญญาความรู้ที่มี จึงบ่งบอกออกมาจากความบริสุทธิ์ซื่อซึ่งถือว่ามีคุณค่าในทางศิลปะ ลักษณะฝีมือดูเรียบง่ายใช้สีเพียง 2 – 3 สี ในการระบาย ลวดลายที่อยู่ภายนอก ตกแต่งด้วยงานปูนปั้นนูนต่ำ รูปคนขี่ช้าง รูปฉัตร 3 ชั้น เทวดา ดอกไม้รูปช้างมีสัปคับและคนขี่ช้าง


ที่มา: http://www.finearts.go.th/

สิมวัดสระทองบ้านบัวเป็นสิมทึบก่ออิฐถือปูนยาว 3 ห้อง ยาว 7.50 เมตร กว้าง 5 เมตร  ประตูเข้าด้านเดียว เจาะซุ้มหน้าต่างด้านข้าง มีซุ้มหลอกด้านผนังข้างพระประธาน  ปั้นปูนเป็นเสาเหลี่ยมย่อมุมยอดกลีบบัวมีดอก 4กลีบ ประดับกระจกเงาวงกลมเป็นแนวไปตลอด ซุ้มประตูก็ทำอย่างเดียวกัน แต่มีเพิ่มไม้แกะสลักส่วนวงกรอบบนโครงหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็งทั้งหมด  มีการแกะลวดลายลงบนขื่อ ผนังภายในสิมโล่งไม่ทำลวดลายหรือแต้มรูปแต่อย่างใด  หลังคาทรงจั่วชั้นเดียวมุงกระเบื้องซีเมนต์หางว่าว มีปีกนกยื่นคลุมตลอด เชิงชายฉลุไม้เป็นลายฟันปลาโดยรอบ

สิมวัดสระทองบ้านบัว นับได้ว่าเป็นอาคารทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่แสดงลักษณะที่เด่นชัดของพื้นที่ภาคอีสาน โดยใน ปี 2545 ได้รับรางวัลอาคารทรงคุณค่าด้านการอนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก (Award of Merit) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือที่เราเรียกกันว่า ยูเนสโก้  (UNESCO)    

ส่วนพระประธานภายในสิมวัดสระทองบ้านบัว เป็นพระพุทธรูปประธานศิลาทรายรูปแบบอีสานประดิษฐานอยู่ภายในสิม เล่ากันว่าก่อนที่จะมีการตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนบ้านบัว ชาวบ้านได้มีการอันเชิญพระพุทธรูปหินทรายแดงมาด้วยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน ที่มีชื่อว่า “พระมงคลพุทธศิลาทอง” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อศิลาทอง” ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านตลอดมา


ที่มา: http://khonkaen.nfe.go.th/

โดยการเดินทางไปยังวัดสระทอง เริ่มจากตัวเมืองขอนแก่นขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ประมาณ 14 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายสู่ถนนหมายเลข 2062 (บ้านทุ่ม-มัญจาคีรี) เมื่อถึง อ.มัญจาคีรี ใช้เส้นทางหมายเลข 229  (มัญจาคีรี-ชัยภูมิ) ตรงไปจะถึงโรงพยาบาลมัญจาคีรี จากนั้นเลี้ยวขวาสู่ถนน ขก.3010 ข้างโรงพยาบาล แล้วตรงไปจนถึงบ้านบัว ทางเข้าวัดจะอยู่ทางซ้ายมือ รวมระยะทางจากตัวเมืองราว 60 กิโลเมตร

วัดสระทอง ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านบัว นอกจากนั้น วัดสระทองยังถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนา บรรพบุรุษของชาวบ้านบัว ได้ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาและทำนุบำรุงวัดแห่งนี้ด้วยความรัก ความศรัทธา และคนรุ่นหลังควรที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษด้วยการช่วยกันดูแลรักษาวัดสระทองให้คงอยู่และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านสืบไป




อ้างอิง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป). เข้าถึงได้จาก:http://thai.tourismthailand.org (วันที่ค้นข้อมูล:26 กันยายน 2558)

ท่องเที่ยวสะดุดตา. (ม.ป.ป). เข้าถึงได้จาก:http://www.sadoodta.com/info (วันที่ค้นข้อมูล:26 กันยายน 2558)

อีสานแหล่งเรียนรู้อู่อารยธรรม. (ม.ป.ป). เข้าถึงได้จาก: http://i-san.tourismthailand.org (วันที่ค้นข้อมูล:26 กันยายน 2558)

No comments:

Post a Comment