เศียรพระพุทธรูปในศิลปะหริภุญไชย

โดย ชนิตา รอยประโคน

“หริภุญไชย” เป็นชื่อของแคว้น หรือ อาณาจักรโบราณ ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลำพูน เป็นแคว้นที่มีอารยธรรม มีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ และมีวิวัฒนาการงานศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอื่นๆ จนเกิดการผสมผสานเข้าด้วยกัน และคลี่คลายเป็นศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง   จนกลายเป็นศิลปะหริภุญไชยอย่างแท้จริง   ดังจะปรากฏในงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรม  งานประติมากรรมสมัยหริภุญไชยที่น่าสนใจ  และผู้เขียนใคร่จะขอนำเสนอ  คืองานประติมากรรมพระเศียรพระพุทธรูปศิลปะหริภุญไชยอย่างแท้จริงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘

งานประติมากรรมในศิลปะหริภุญไชย โดยเฉพาะพระพุทธรูปส่วนใหญ่นิยมสร้างขึ้นจากดินเผา ศิลา สำริด และปูนปั้น (สงวน รอดบุญ, ๒๕๒๙ : ๖๙) ดังนั้นจึงไม่ใช่ประติมากรรมลอยตัว แต่เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นประดับศาสนสถาน และงานส่วนใหญ่สร้างขึ้น เนื่องในพุทธศาสนาแบบเถรวาท (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ๒๕๕๖ : ๑๔๖)

พระพุทธรูปสมัยหริภุญไชยแบ่งตามช่วงระยะเวลา โดยใช้ลักษณะความแตกต่างทางด้านอิทธิพลศิลปะที่ปรากฏตามช่วงระยะเวลา เป็น ๓ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ อิทธิพลศิลปะทวารวดีจากภาคกลางของประเทศไทย ระยะที่ ๒ พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ อิทธิพลศิลปะเขมร และ ระยะที่ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ อิทธิพลศิลปะพุกาม และมีลักษณะที่เป็นศิลปะหริภุญไชยอย่างแท้จริง (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ๒๕๕๖:๑๔๖)

ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอพระเศียรพระพุทธรูปศิลปะหริภุญไชยอย่างแท้จริง ลักษณะเฉพาะที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชยอย่างแท้จริง คือ พระพุทธรูปที่สร้างจากดินเผาและ ปูนปั้น และถึงแม้ว่าพระพุทธรูปในศิลปะหริภุญไชยจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะทวารวดี ศิลปะเขมร และศิลปะพุกาม แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการที่พัฒนาการให้มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ประติมากรรมพระเศียรพระพุทธรูปดินเผา (รูปที่ ๑) ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน และพระเศียรพระพุทธรูปดินเผา (รูปที่ ๒) ที่จัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ พระเศียรพระพุทธรูปนี้มีลักษณะค่อนข้างแบน พระพักตร์สี่เหลี่ยม สีพระพักตร์เคร่งขรึม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นสันนูนต่อกัน และมีเส้นขีดซ้อนกันขนานอยู่เบื้องใต้ พระเนตรโปน ถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะอย่างแท้จริง ที่มีความแตกต่างจากงานประติกรรมพระพุทธรูปหริภุญไชย ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษ ๑๗-๑๘ และลักษณะของ พระนาสิกแบนใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้างแบบทวารวดี และมีขอบพระโอษฐ์หนา พระมัสสุเป็นเส้นขีดอยู่เหนือพระโอษฐ์

ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (๒๕๕๖ : ๑๕๘-๑๕๙) อธิบายไว้ว่า ลักษณะพระพักตร์คล้ายกับกลุ่มที่รับอิทธิพลศิลปะเขมร และที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะอย่างแท้จริงของพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชย คือ ขมวดพระเกศาที่เป็นเกลียวยกขึ้นสูงขึ้นมาอย่างมาก และมีอุษณีษะทรงกรวยขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ขมวดพระเกศามักทำจากดินเผา นำไปเผาก่อนแล้วนำมาติดกับพระเศียรในภายหลัง พบทั้งในพระพุทธรูปปูนปั้นและดินเผา อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตประการสำคัญ คือ พระพุทธรูปหริภุญไชยนิยมทำขอบพระพักตร์เป็นสันแนวตั้งขึ้นมาระหว่างพระนลาฏกับขมวดพระเกศา คล้ายกับที่เรียกว่า “ไรพระศก” ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะทำขึ้นเป็นกรอบพระพักตร์ เพื่อสะดวกในการนำขมวดพระเกศามาติดในภายหลัง เพราะประติกรรมพระพุทธรูปหริภุญไชยมีเทคนิคการทำขมวดพระเกศาด้วยดินเผา ที่เผาเป็นชิ้นๆ และนำมาติดกับพระเศียรหลังจากเผาแล้ว หลังจากนั้นคงมีการลงรักปิดทองหรือบางครั้งลงสีน้ำดิน เช่น พระเศียรพระพุทธรูป (รูปที่ ๓) จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

งานประติมากรรม พระเศียรพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชยอย่างแท้จริง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘) ที่ได้นำเสนอนั้น เป็นงานประติมากรรมที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลศิลปะ เขมร ศิลปะทวารวดี และศิลปะพุกาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการงานประติมากรรมที่มีรูปแบบเฉพาะของตัวเองอย่างแท้จริง เป็นรูปแบบเฉพาะที่มีความเป็นหริภุญไชยอย่างแท้จริง เช่น ลักษณะของพระพักตร์ในงานประติมากรรม ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมดินเผาและปูนปั้นอย่างแท้จริง ประติมากรรมที่มีพระพักตร์ค่อนข้างเคร่งครึม พระเนตรโปน มีพระมัสสุ ขมวดพระเกศาที่เป็นเกลียวทรงสูง มีเทคนิคการทำที่ปั้นขมวดพระเกศามาติดในภายหลังหรือทำจากแม่พิมพ์ฯลฯ อีกทั้งงานประติมากรรมพระเศียรพระพุทธรูปยังสะท้อนให้เห็นว่า อาณาจักรหริภุญไชยมีการนับถือพระพุทธศาสนาและได้รับวัฒนธรรมทางศาสนาที่ดีงามก่อให้ เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาที่มีความงดงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่างแท้จริง

อ้างอิง

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (๒๕๕๖). พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

สงวน รอดบุญ. (๒๕๒๘). ศิลปกรรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา

เศียรพระพุทธรูป. สืบค้นเมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://www.nationalmuseums.finearts.go.th/hariphunchai/hilight.htm


รูปที่ ๑ เศียรพระพุทธรูป ประเภทปูนปั้นบนโกลนศิลาแลง ศิลปะหริภุญไชย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน



รูปที่ ๒ พระเศียรพระพุทธรูปดินเผา ศิลปะหริภุญไชย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน


รูปที่ ๓ พระเศียรพระพุทธรูปดินเผา ศิลปะหริภุญไชย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่

No comments:

Post a Comment