วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

โดย กชมน ศรีนรคุตร

วัดหนึ่งซึ่งมีวิหารที่มีจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนา ที่บรรจงวาดลงบนแผ่นไม้ของวิหารอย่างสวยงาม โดยเล่าเรื่องนิทานชาดก รวมถึงประวัติพระอินทร์ภายในพระไตรปิฎก เรียกได้ว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีลักษณะเด่นอย่างชัดเจน นั่นก็คือวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง หลายๆคนอาจจะเคยรู้จักมาบ้างแล้ว แต่บทความที่จะกล่าวถึงนี้จะทำให้ทุกท่านรู้จักวิหารน้ำแต้มมากยิ่งขึ้นไปอีก

วิหารน้ำแต้ม หรือวิหารภาพเขียนสี (แต้ม แปลว่า ภาพเขียน) ในวัดพระธาตุลำปางหลวง ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๔ เป็นวิหารที่เก่าแก่แห่งหนึ่งทางภาคเหนือ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม วิหารน้ำแต้มเป็นวิหารขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุลำปางหลวง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นวิหารโถงขนาด ๕ ห้อง มีผนังปิดทึบเฉพาะห้องท้ายวิหารที่ยกเก็จออกไปเท่านั้น แผงผังโดยทั่วไปของวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มียกเก็จออกทางด้านหน้า ๒ ช่วง ด้านหลัง ๑ ช่วง ฐานที่รองรับตัววิหารเป็นพื้นปูนยกสูงขึ้นมา หลังคาเป็นทรงแบบล้านนาเรียกว่า ขื่อม้าตั่งไหม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินลดหลั่นเป็นชั้นลงมา ชายคาของหลังคาด้านข้างคลุมลงมาต่ำมากจึงทำให้รูปทรงของวิหารดูค่อนข้างเตี้ย เพื่อกันน้ำฝนและแสงแดด

ด้านจุดเด่นของวิหารนั่นก็คือภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่กล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุด และเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งหาดูได้ยากมาก ภาพจิตรกรรมนี้อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา แต่ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมากแล้ว

บนแผ่นไม้แผงคอสองของวิหาร เป็นเรื่องท้าวสักกะเรื่องพระนางสามาวดี ซึ่งเป็นนิทานธรรมบท ทั้งสองเรื่องเป็นนิทานอธิบายพระสูตในพระไตรปิฎกที่พระพุทธโฆษาจารย์ แปลจากภาษาลังกา เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๐ สันนิษฐานว่า แพร่หลายเข้ามาในไทยพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ –๒๐

โดยนักวิชาการสันนิษฐานจากรูปแบบศิลปะและตัวอักษรธรรมล้านนาที่อธิบายประกอบภาพ รวมทั้งเอกสารตำนานต่างๆ สามารถสรุปได้ว่า ภาพเขียนในวิหารน้ำแต้มได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุกาม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓

เรียกได้ว่าวิหารแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เมื่อมาถึงลำปางแล้ว ต้องไปดูตัววิหารที่สร้างแบบฉบับโครงสร้างล้านนาที่สวยงามยิ่ง รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังบนแผ่นไม้ที่เก่าแก่ ที่ช่างบรรจงวาดออกมาเพื่อเป็นธรรมะสอนใจแก่คนที่ได้พบเห็น เพราะสิ่งเหล่านี้หาดูได้ยากยิ่งนัก และเป็นสิ่งที่เราควรอนุรักษ์ไว้

อ้างอิง

Lanna Corner. (2551). วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวงความงดงามของสถาปัตยกรรมล้านนา. Retrieved 12 มกราคม 2557, from http://www.lannacorner.net/lanna2008/article/article.php?type=A&ID=451

ลัดดา คิดอ่าน.(2556). ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง. Retrieved 12 มกราคม 2557, from http://www.m-culture.in.th/album/175728/js/

สมพงษ์ คันธบัวสาย. (2524). ภาพเขียนสีภายในวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคาง จังหวัดลำปาง. Retrieved 14 มกราคม 2557, from http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/bachelor/a12524016/fulltext.pdf


วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง


ภาพที่ 1 (ที่มา: teerachai_moortt, 2556)


ภาพที่ 2 (ที่มา: teerachai_moortt, 2556)


ภาพที่ 3 (ที่มา: teerachai_moortt, 2556)



ภาพที่ 4 (ที่มา: teerachai_moortt, 2556)

No comments:

Post a Comment