พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

โดย ปิยะรัตน์  ตุนาง

หากจะกล่าวถึงพระพุทธรูปที่ สวยงามที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าต้องมีชื่อของพระพุทธชินราชแห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อยู่ในลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน  เพราะองค์พระพุทธชินราชนั้นมีลักษณะที่ งดงามถึงขั้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้มาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ทรงรับฟังคำทูลขอร้องของชาวพิษณุโลก ที่ว่าพระพุทธชินราชองค์นี้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง จึงทรงตัดสินพระทัยหล่อ พระพุทธชินราชจำลอง ขึ้นมาแทน

พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก และไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปีใด แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดารเหนือ คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) จากนั้นจึงมีการลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะ ลงรักปิดทองอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการบูรณะครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ 9

ลักษณะของพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย หมวดพระพุทธชินราช ลักษณะขององค์พระเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขโนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน อยู่ในลักษณะปางมารวิชัย ด้านซ้ายและขวาขององค์พระมียักษ์ 2 ตน คอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นศิลปะที่สวยงามอย่างมาก

พระพุทธชินราชประดิษฐานในวิหารลักษณะเก้าห้อง ซึ่งมีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้องค์พระสวยงามบริบูรณ์อย่างในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ยังพบว่ากษัตริย์ในทุกๆสมัยของไทยให้ความเคารพและศรัทธาต่อองค์พระพุทธชินราชมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ พระองค์

การสร้างพระพุทธชินราช ได้มีตำนานกล่าวไว้ว่า พระมหาธรรมราชา (พญาลิไท)หรือพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกบรมบพิตร กษัตริย์องค์ที่ 4 ในพระราชวงศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัย เป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช เมื่อราว พ.ศ. 1900 ทรงโปรดให้ช่างสวรรคโลก ช่างเชียงแสน และช่างหริภุญไชย สมทบกับช่างกรุงศรีสัชนาลัย ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 3 องค์ ได้แก่ พระศรีศาสดา พระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์ จวบจนถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะจุลศักราช 717 ราว พ.ศ. 1898 ได้มงคลฤกษ์ กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว และทำการแกะพิมพ์ออกปรากฏว่า พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา องค์พระสมบูรณ์สวยงามดี

ส่วนพระพุทธชินราชนั้นได้หล่อถึง 3 ครั้งก็ไม่เสร็จเป็นองค์พระได้ กล่าวคือทองแล่นไม่ติดเต็มองค์ พระพุทธรูป  พระมหาธรรมราชา จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง ครั้งนั้นจึงร้อนถึงอาสนะของพระอินทร์ พระองค์จึง แปลงกายเป็นตาปะขาวลงมาช่วยทำรูปพระ คุมพิมพ์ปั้นเบ้า และด้วยอานุภาพพระอินทร์   จึงสามารถหล่อพระพุทธชินราชได้สำเร็จ พระมหาธรรมราชาทรงปิติเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสให้หา "ตาปะขาว" ผู้นั้น แต่ตาปะขาวได้หายตัวไปแล้ว หมู่บ้านและวัดที่ตาปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า บ้านตาปะขาวหายและวัดตาปะขาวหายต่อมาจนถึงทุกวันนี้ และจากวัดตาปะขาวหายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 800 เมตร ได้ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการหายตัวไปของตาปะขาว เล่ากันว่ามีผู้พบเห็นว่าท้องฟ้าเปิดเป็นช่องขึ้นไป ชาวบ้านเห็นเป็นที่อัศจรรย์จึงได้สร้างศาลาขึ้นไว้ ณ พื้นดินเบื้องล่างไว้เป็นที่ระลึก เรียกว่า "ศาลาช่อฟ้า" ตราบจนทุกวันนี้

สำหรับผู้เขียนนั้น ก็ยังไม่เคยได้มีโอกาส ไปกราบสักการะพระพุทธชินราชที่ วัดพระศรีศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพียงแต่เคยเห็นองค์จำลองที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมศูนย์เวฬุวัน  จังหวัดขอนแก่น ซึ่งก็มีความสวยงามเป็นอย่างมาก  ถ้ามีโอกาสได้เดินทางไปที่จังหวัดพิษณุโลก  ผู้เขียนคงไม่พลาดที่จะไปกราบสักการะพระพุทธชินราชอย่างแน่นอน

อ้างอิง

พระพุทธชินราช  สืบค้นเมื่อ 30มกราคม 2557 , จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A

วัดพระศรีศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารสืบค้นเมื่อ 30มกราคม 2557 ,
จาก http://www.thai-tour.com/thai-tour/north/pitsanulok/data/place/pic_wat-phasrimahathat.htm

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก  สืบค้นเมื่อ 30มกราคม 2557 ,
จาก http://www.phitsanulok.go.th/cinarhat_story.htm



No comments:

Post a Comment