วัดหน้าพระธาตุ จังหวัดนครราชสีมา

โดยนางสาวณัชชา อุนรัตน์

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 ของประวัติศาสตร์ไทย  นับว่าเป็นระยะเชื่อมต่อระหว่างประวัติศาสตร์ไทยยุคเก่า มาสู่การปฏิรูป และพัฒนาประเทศ ตามแบบอารยธรรมตะวันตกในยุคปัจจุบัน ทำให้มีความเจริญในด้านต่างๆ ตามมา รวมถึงด้านศิลปกรรมด้วย วัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ก็คือ วัดหน้าพระธาตุ

วัดหน้าพระธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดตะคุ ตั้งอยู่ที่ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างขึ้นราวสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อวัดนั้นเรียกกล่าวกันตามพระธาตุเจดีย์ที่มีปรากฏอยู่ภายในวัด จุดเด่นของวัดนี้คือมีความโดดเด่นด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ และโบราณสถานยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งประกอบด้วย

พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า เป็นพระธาตุเจดีย์ศิลปะลาว รูปทรงบัวเหลี่ยม ที่สูงเรียว ยอดสอบเข้าหากันเป็นยอดแหลม ภายในบรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวปักธงชัย เป็นพระธาตุเจดีย์ที่กล่าวกันว่าชาวลาว ซึ่งอพยพจากเวียงจันทน์ มาอาศัยอยู่ที่ตำบลตะคุ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ด้านข้างพระธาตุเจดีย์ มีเจดีย์องค์เล็ก เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิท่านเจ้าอาวาสเก่า

พระอุโบสถหลังเก่า หรือ สิม คือพระอุโบสถแบบอีสาน ตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหาร เป็นพระอุโบสถสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องบนเครื่องไม้เก่าแก่ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่ทำเป็นปูนปั้นแทน มีจั่วลดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันมีงานไม้จำหลักลวดลายพรรณพฤกษา ฐานพระอุโบสถแอ่นโค้งแบบท้องสำเภา มีรูปแบบคล้ายศิลปะของอยุธยาตอนปลาย ผนังด้านนอกเหนือประตูทางเข้า มีจิตรกรรมฝาผนัง หรือที่เรียกกันว่า ฮูปแต้ม เป็นงานสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่ทั้งสี่ด้าน เป็นภาพเรื่องราวทัศชาติชาดก นอกจากนี้ยังสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตพื้นบ้าน และแง่คิดเกี่ยวกับธรรมะอีกด้วย

หอไตรกลางน้ำ ตั้งอยู่กลางน้ำหน้าพระธาตุเจดีย์ เป็นหอไตรเรือนไทยทรงพื้นเมืออีสาน ผนังแบบฝาปะกน ชั้นเดียว สร้างในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก โดยตั้งอยู่กลางน้ำเพื่อป้องกันปลวก บานประตูเป็นลวดลายรดน้ำปิดทอง ภายในมีงานจิตรกรรมและภาพเรื่องราวพุทธประวัติ

จิตรกรรมฝาผนังวัดหน้าพระธาตุ ปรากฏอยู่ที่ภายนอกและภายในพระอุโบสถ ภายนอกเป็นภาพจุฬามณีเจดีย์ ดาวดึงส์ และเนมิราชชาดก ส่วนจิตรกรรมภายในอุโบสถจะเขียนเรื่องทศชาติชาดกเป็นหลัก รวมทั้งพุทธประวัติบางตอน  และจุลปทุมชาดก โดยมีรูปแบบสะท้อนเอกลักษณ์พื้นถิ่นเด่นชัด

อายุของจิตรกรรมสันนิษฐานว่าอยู่ในราวรัชกาลที่ 3-4 ลงมา ทั้งนี้พิจารณาจากองค์ประกอบภาพในด้านต่าง ๆ ภาพจิตรกรรมสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตประจำของคนในสังคมชนบทที่ประกอบอาชีพทำนา ทอดแห จับปลา ใช้เกวียนเป็นพาหนะ พักผ่อนหย่อนใจด้วยการเล่นชนไก่ เล่นว่าว ต่อนกเขา รวมทั้งภาพการสังวาส

ในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดหน้าพระธาตุ ได้ทำการคัดลอกภาพจิตรกรรมจากพระอุโบสถ เป็นภาพลายเส้น เพื่อศึกษารูปแบบของจิตรกรรมและเพื่อการค้นคว้าทางเทคนิคและวิชาการ ภาพลายเส้น แบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ ดังนี้ คือหมวดนักดนตรี หมวดชีวิตความเป็นอยู่ หมวดสถาปัตยกรรม หมวดการแต่งกายทหาร หมวดพาหนะเดินทาง และหมวดสัตว์

วัดหน้าพระธาตุถือเป็นศาสนสถานเก่าแก่ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ยังคงมีความงดงามและความโดดเด่นทางด้านศิลปกรรมต่างๆ และจิตรกรรมภายในวัดมีความเป็นเอกลักษณ์ แสดงให้เห็นถึงศิลปะและวัฒนธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์อย่างเด่นชัด เราจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์ศาสนสถานแห่งนี้ไว้เพื่อเป็นการสืบพระศาสนา และอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

อ้างอิง

พวงชมพู หนึ่งสวัสดิ์. ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหน้าพระธาตุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, (2526). สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2557
จาก http://www.era.su.ac.th/Mural/napratas/

วัดหน้าพระธาตุ จิตรกรรมเก่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. กรุงเทพฯ : สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ2557 จาก http://www.comingthailand.com/nakhonratchasima/wat-naphrathat.html


พระอุโบสถหลังเก่า หรือ สิม (พระอุโบสถแบบอีสาน)


ภาพจิตรกรรมฝาผนัง จุลปทุมชาดก วัดหน้าพระธาตุ


จิตรกรรมภายในพระอุโบสถ


พระธาตุเจดีย์


หอไตรกลางน้ำ



No comments:

Post a Comment