วัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย ธนัญ ผิวละออ

หากจะพูดถึงสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ และเป็นสถานที่ที่ครอบคลุมชีวิตตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต แน่นอนว่าสถานที่นั้นคือ วัด ซึ้งทำหน้าที่เหล่านั้นได้ครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้นวัดยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ทั้งในด้านพิธีกรรมทางศาสนา รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นลักษณะรูปแบบศิลปกรรมในยุคต่างๆ กระทั้งได้รับทั้งการประยุกต์มาจนถึงปัจจุบัน และหนึ่งในวัดที่และแสดงออกในเรื่องเหล่านี้คือ วัดพระรามในยุคสมัยอยุธยา

วัดพระรามตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวิหารมงคลบพิตร ทางทิศตะวันออกของวัดติดกับบึงพระราม ในพระราชของพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวว่า วัดพระรามเป็นวัดที่สมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระราชบิดา ในปีพ.ศ.1912 แต่ในระยะนั้นสมเด็จพระราเมศวรเสวยราชสมบัติได้เพียงปีเดียว การก่อสร้างเข้าใจว่าสร้างไม่เสร็จแล้ว ได้มีการสันนิษฐานว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงช่วยเหลือหรือทรงยินยอมให้สร้างจนเสร็จ หรือมิฉะนั้นก็คงจะสร้างเสร็จในคราวที่สมเด็จพระราเมศวรเสวยราชสมบัติได้ครั้งที่ 2 หลังจากสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้ทรงสวรรคตแล้ว

ต่อมาวัดนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก และพระมหากษัตริย์องค์ต่อมาได้ทำการซ่อมแซมและก่อสร้างเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง เนื่องจากเป็นวัดที่ใกล้กับพระราชวัง ไม่น่าที่จะปล่อยให้วัดชำรุดหักพัง แต่การซ่อมแซมไม่ได้ใหญ่โตมากนัก ต่อมาจึงมีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่อีก 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ และครั้งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

จุดเด่นของวัดพระรามคือพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงแหลมขึ้นไปด้านบนทางด้านทิศตะวันออกมีพระปรางค์องค์ขนาดกลางองค์ส่วนทางตะวันตกทำเป็นซุ้มประตูมีบันไดสูงจากฐานขึ้นไปทั้งสองข้างที่มุมปรางค์ประกอบด้วยรูปสัตว์หิมพานมีปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศเหนือและใต้รอบๆปรางค์เล็กมีเจดีย์ล้อมรอบอีก 4 ด้าน

นอกจากนี้ยังมีเจดีย์เล็กบ้างใหญ่บ้างอยู่รอบๆ องค์พระปรางค์ประมาณ 28 องค์ วัดพระรามนี้เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือกำแพงวัดพระรามด้านเหนือมีแนวเหลื่อมกันอยู่กำแพงด้านตะวันออกตะวันตกและด้านใต้มีซุ้มประตูค่อนไปทางทิศตะวันตกได้ระดับกับมุมระเบียงด้านตะวันตกเฉียงหนือของปรางค์ส่วนแนวเหลื่อมนั้นได้ระดับกับมุมระเบียงตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ ไม่มีซุ้มประตูคล้ายเจตนาสร้างไว้เพื่อประสงค์อะไรอย่างหนึ่ง และนอกจากนั้นยังมีวิหารอีก 7 หลัง สร้างกระจายกันอยู่

หน้าวัดพระรามจะมีบึงขนาดใหญ่ บึงหนึ่งเรียกว่า บึงพระราม เดิมนั้นน่าจะเป็นบึงที่มีขนาดเล็ก เมื่อแรกสร้างพระนครนั้นคงมีการขุกดินในบึงนี้มาถมในพื้นที่บริเวณพระราชวังและบริเวณวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดพระราม จึงทำให้กลายเป็นบึงขนาดใหญ่ บึงนี้มีชื่อปรากฏในมนเทียรบาลว่า บึงชีขัน

วัดพระราม เป็นวัดทีมีรูปแบบศิลปกรรมในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1893-2112) เป็นระยะเวลาในการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักร ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2112 ให้แก่พม่า

รูปแบบศิลปกรรมในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น มีลักษณะโดดเด่นที่ การสร้างปรางค์หรือเจดีย์ที่เป็นประธานของวัด มีระเบียงคดหรือกำแพงชั้นในล้อมรอบ มีวิหารอยู่ด้านหน้า

วัดพระรามเป็นวัดที่ก่อสร้างเพื่อถวายให้กับพระบรมศพของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นวัดที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากมีสิ่งก่อสร้างอันโดดเด่น คือ ปรางค์พระประธานองค์ใหญ่ แล้วก็ยังมีสวนสาธารณะบึงพระราม ที่ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของบรรดานักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป

อ้างอิง

วรรณกาญจน์ เอกฉันท์. (2545). ชุดอุทยานประวัติศาสตร์: อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา. กรุงเทพฯ: ทีชชิ่งทอยส์.

วัดพระราม. ค้นข้อมูล 12 มกราคม 2557, จาก http://watboran.wordpress.com/2007/01/22/วัดพระราม/

วัดพระราม-วิกิพีเดีย. ค้นข้อมูล 12 มกราคม 2557, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระราม



วัดพระราม


บึงพระราม


เจดีย์ประธานทรงปรางค์


No comments:

Post a Comment