วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

โดย กมลพรรณ แกมทอง

ในปัจจุบันถ้าพูดถึงวัดประจำรัชกาลในสมัยรัตนโกสินทร์ หลายๆ คนก็คงนึกถึง “ วัดอรุณราชวราราม ” เป็นอันดับต้นๆ เพราะว่าเป็นวัดที่มีพระปรางค์ที่สง่างามมากและนอกจากนี้ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 ซึ่งสถาปัตยกรรมของวัดมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร หนึ่งในหกวัดในประเทศไทย มีพระปรางค์สูงที่สุดในประเทศไทย และเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียก “ วัดมะกอก ” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงย้ายราชธานีมา ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จจากอยุธยามาทางแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงหน้าวัดตอนรุ่งแจ้งพอดี จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ วัดแจ้ง ” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดให้ย้ายราชธานีมากรุงธนบุรี และทรงสร้างพระราชวังใหม่ จึงทำให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในวัด ซึ่งอาจจะถือแบบอย่างพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในพระราชวัง

ช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง และต่อมาในปี พ.ศ.2327 ได้ย้ายพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนถึงปัจจุบัน ส่วนพระบางนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดพระราชทานกลับไปประดิษฐานอยู่ที่ นครเวียงจันทร์ ประเทศลาว

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ จึงได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ และได้รื้อกำแพงพระราชวังออก จึงทำให้วัดไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังและทำให้กลับมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาเช่นเดิม

และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ และทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปขึ้นมาด้วยพระองค์เอง ซึ่งได้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ แล้วโปรดพระราชทานพระนามว่า “วัดอรุณราชธาราม” จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในส่วนที่เสียหายไปและทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถของวัด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 แล้วทรงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “วัดอรุณราชวราราม” จนถึงปัจจุบัน และสิงก่อสร้างสำคัญภายในวัด มีดังต่อไปนี้

พระปรางค์ เป็นศิลปกรรมที่สวยที่สุดในวัด และถือเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พร้อมกับพระอุโบสถและวิหารน้อย แต่มาบูรณะเสริมฐานให้สูงใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และบูรณะใหญ่อีกครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 และสมัยรัชกาลที่ 5 จนสำเร็จเป็นเจดีย์ทรงปรางค์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน พระปรางค์องค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูนและตกแต่งด้วยชิ้นส่วนกระเบื้องเคลือบสีตามแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

มีปรางค์เล็กล้อมอยู่ 4 ทิศ และมีพระมณฑปอยู่ทั้ง 4 ทิศ จากยอดพระปรางค์ลงไปหาฐาน มีสิ่งต่าง ๆ ตามลำดับคือ พระมหามงกุฎ นภศูล พระนารายณ์แบก พญาครุฑแบก และฐานพระปรางค์กลมโดยรอบ 234 เมตร และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาก่อพระฤกษ์ พ.ศ. 2385 ใช้เวลา 9 ปีในการสร้าง เพื่อเป็นศรีแก่พระนคร

พระวิหาร เป็นอาคารยกพื้นสูง หลังคาทำการลดหลั่น 3 ชั้นและมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ข้างหน้ามีรูปเทวดานั่งบนแท่น มีมุขทั้งด้านหน้าและหลัง ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายก้านแย่งขบวนไทย เป็นกระเบื้องที่นำมาจากเมืองจีน ส่วนพระประธานในวิหารนั้น คือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร

พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญซึ่งมีความสวยงามอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นพระอุโบสถยกพื้นสูง มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีทองและสีเขียวใบ้ไม้ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ ลงรักปิดทองประดับที่กระจก หน้าบันทั้งด้านหน้าและหลังสลักด้วยไม้ เป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ ตัวพระอุโบสถมีมุขทั้งด้านหน้าและหลัง มีเสาใหญ่รับเชิงชายทั้งด้านทิศเหนือและใต้ มีทางเดินได้ พื้นของพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อน ส่วนบันไดและเสาบันไดเป็นหินทราย และมีกำแพง ประกอบด้วย หินสลักรูปดอกไม้ ใบไม้ที่หุ้มที่หุ้มกลองด้านหน้าอยู่ระหว่างประตูทั้งสองข้างด้วย

โบสถ์น้อย เป็นโบสถ์เดิมในสมัยอยุธยา เป็นอาคารทรงเตี้ย หน้าบันเป็นลายกนกปิดทองประดับกระจก ไม่มีกำแพงแก้ว มุขหลังประดิษฐานพระกัจจายน์ เป็นพระที่ลงรักปิดทอง พระประธานเป็นปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าฐานชุกชีทำเป็นลับแลก่ออิฐ มีพระแท่นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ด้วย ต่อมาได้สร้างพระบรมรูปหล่อพร้อมฐานสถิตย์ดวงพระวิญญาณของพระองค์ไว้ด้วย

วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่มีความสำคัญทั้งด้านสถาปัตยกรรมที่สวยงามและศิลปกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของวัด ทั้งพระปรางค์ที่เป็นจุดเด่นของวัดและมีความสูงที่สุดในประเทศไทย และนอกจากนี้ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 อีกด้วย จึงเหมาะการแก่อนุรักษ์และเก็บรักษาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มาชมถึงความงดงามของวัดแห่งนี้

อ้างอิง

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร.(2556).วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร.ค้นข้อมูล 14 มกราคม 2557 , จาก http://www.watarun.org/index1.html

ธรรมะไทย.(2556).วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร.ค้นข้อมูล 14 มกราคม 2557 , จาก http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watarun.php

ท่องวัดผ่านเว็บ.(2556).วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร.ค้นข้อมูล 15 มกราคม 2557 , จาก http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.php?option=com_content&view=article&id=20&Itemid=20

นานาสาระ.(2556).พระปรางค์วัดอรุณ.ค้นข้อมูล 15 มกราคม 2557 , จาก http://allknowledges.tripod.com/prangwatchaeng.html



วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระเจ้าพระยา



พระปรางค์และพระอุโบสถ



ปรางค์ประธานและปรางค์ทิศ


ซุ้มประตูยอดมงกุฏทางเข้าสู่พระอุโบสถ




No comments:

Post a Comment