วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย ณัฏฐา เพชรจำนง

อยุธยาถือว่าเป็นราชธานีที่สำคัญของประวัติศาสตร์ไทยและถือว่าเป็นหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในยุคตอนต้นและตอนกลางมีความรุ่งเจริญรุ่งเรืองทางด้านการค้า เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม แต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายไทยรบกับพม่าและการรบครั้งนี้อยุธยาอ่อนแอมาก และในที่สุด พ.ศ.๒๓๑o ทำให้อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ ๒ เป็นการปิดฉาก ๔๑๗ ปีแห่งความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาอย่างน่าเศร้าและเสียใจ และพม่าได้ทำการเผาบ้านเมือง ปราสาท วัดวาอาราม ซึ่งคงเหลือให้เห็นเพียงซากปรักหักพัง ให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัส

แต่ทั้งนี้ยังมีวัดหนึ่งที่รอดพ้นการถูกเผาจากพม่า นั้นคือ "วัดหน้าพระเมรุ" หรือ " วัดหน้าพระเมรุราชิการาม" เป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกพม่าทำลายในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เนื่องจากพม่าไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่นั่น ทำให้ไม่ถูกทำลาย ด้วยเหตุนี้วัดหน้าพระเมรุจึงยังคงมีงานศิลปกรรมของสมัยอยุธยาแท้ๆ ตกทอดมาให้ชนรุ่นหลังได้ชมกันจนถึงทุกวันนี้

"วัดหน้าพระเมรุ" หรือ " วัดหน้าพระเมรุราชิการาม" มีประวัติการสร้างวัดโดย พระองค์อินทร์ ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒o๔๖ อยู่ริมสระบัว ตรงข้ามพระราชวังหลวง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงตั้งพลับพลาระหว่างวัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาสเป็นที่ทำสัญญาสงบศึกกับ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง และในอีกตอนหนึ่งคือเมื่อคราวพระเจ้าอลองพญา มาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓o๓ พม่าได้ยกเอาปินใหญ่มาตั้งที่ วัดหน้าพระเมรุ กับ วัดหัสดาวาส พระเจ้าอลองพญาพยายามยิงปืนใหญ่ใส่ แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธนิมิตวิชิคมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ เมื่อพระองค์จุดปืนใหญ่ ก็เกิดระเบิดขึ้นจนทำให้ปากกระบอกปืนแตก สะเก็ดระเบิดลุกเป็นไฟ ต้องพระวรกายบาดเจ็บสาหัสประชวรหนักในวันนั้น ระหว่างเดินทางกลับ พระเจ้าอลองพญาทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงสิ้นพระชนม์ระหว่างการเดินทาง

สถาปัตยกรรมของวัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้นคือ พระอุโบสถมีขนาดยาว ๕o เมตร กว้าง ๑๖ เมตร ซึ่งมีเสาอยู่ภายใน ต่อมาสร้างขยายออกโดยเพิ่มเสารับชายคาภายนอกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระอุโบสถไม่มีหน้าต่างแต่เจาะช่องไว้เป็นลูกกรง พระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่องปางมารวิชัยงดงามอย่างยิ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า“พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมากสูงประมาณ ๖ เมตร หน้าตักกว้างประมาณ ๔.๔o เมตร

หน้าบันเป็นงานฝีมือแกะสลักไม้เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาค และมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค ล้อมรอบด้วยหมู่เทพพนม ๒๖ องค์ ซึ่งพระนารายณ์ถือเป็นเทพที่เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ตรงอาสนสงฆ์มีจารึกเป็นกาพย์สุภาพและกาพย์ยานี

วัดหน้าพระเมรุได้รับการปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาสีเขียวหรือพระคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในวิหารสรรเพชญ์(หรือเรียกว่า วิหารน้อยเพราะขนาดวิหารเล็ก) ซึ่งอยู่ข้างพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีนี้ นับเป็น ๑ ใน ๕ องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้

วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงความงามยืนยาวมาจนถึงวันนี้ เพราะรอดพ้นจากการเผาทำลายของพม่า เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ด้วยเหตุนี้วัดหน้าพระเมรุถือเป็นสมบัติสำคัญจากกรุงศรีอยุธยาเพียงชิ้นเดียวที่สำคัญยิ่งต่อชนรุ่นหลังของไทย ซึ่งทุกคนควรตระหนักและรักษาให้ดีเพื่อสืบต่อไปในภายหน้า

อ้างอิง

จิตรสิงห์ ปิยะชาติ. (๒๕๕๔). อยุธยา แผ่นดินประวัติศาสตร์ไทย รวมประวัติศาสตร์ อาณาจักรอยุธยาที่คน ไทยควรรู้. กรุงเทพฯ : ยิปซี.

วัดหน้าพระเมรุ-วิกิพีเดีย.ค้นข้อมูล ๑๑มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%9%209%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B8

วัดหน้าพระเมรุ. ค้นข้อมูล ๑๑ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://thai.tourismthailand.org/วัดหน้าพระเมรุ

ASTV ผู้จัดการออนไลน์.(๒๕๔๙). วัดหน้าพระเมรุความงามแห่งกรุงศรีฯที่ไม่ถูกทำลาย - Travel - Manager Online. ค้นข้อมูล ๑๑ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9490000023250



พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ


พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ


พระคันธารราฐ

No comments:

Post a Comment