วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา

โดย เทพสุดา วงษ์คำสิงห์

หากพูดถึงจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว คงจะมองเห็นความเจริญในด้านหลายๆด้าน  มีสถานที่ท่องเที่ยวและศาสนสถานที่สำคัญหลายแหล่งมากมาย ซึ่งวัดโสธรวรารามวรวิหาร ก็เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและการสักการบูชาหลวงพ่อโสธรของผู้คนในจังหวัด และวัดโสธรแห่งนี้ยังเป็นวัดที่มีชื่อเสียงไม่แพ้วัดอื่นเช่นกัน จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากหลายแห่งเลยทีเดียว

วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือที่เรียกกันว่า  วัดหลวงพ่อโสธร  อยู่ในเขตเทศบาลเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า วัดหงส์ เพราะมี เสาหงส์ อยู่ในวัดเป็นเสาสูง มียอดเป็นตัวหงส์อยู่ปลายเสา ต่อมาได้เกิดพายุใหญ่พัดให้หงส์บนยอดเสาตกลงมาเหลือแต่เสา ชาวบ้านจึงแก้ไขโดยเอาธงขึ้นแขวนแทน ชื่อวัดหงส์จึงเปลี่ยนเป็น วัดเสาธง ต่อมาก็เกิดพายุพัดเสาธงหักอีกเป็นสองท่อน ชื่อวัดเสาธงจึงเปลี่ยนเป็น วัดเสาธงทอน ต่อมาเมื่อหลวงพ่อพระพุทธโสธรได้เสด็จมาประทับที่วัดนี้วัดเสาธงทอน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดศรีโสทร"

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสวัดนี้เมื่อปี พ.ศ. 2451 และทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนนี้ชื่อวัดได้เปลี่ยนตัวสะกดเป็น "โสธร" เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสเสด็จไปตรวจราชการคณะสงฆ์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2458 และได้เสด็จที่วัดโสธร ก็ยังทรงวินิจฉัยว่า ผู้ที่ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า "วัดโสธร" นั้น ไม่ใช่เป็นคนไม่มีความรู้ เพราะชื่อนี้เป็นชื่อที่ไพเราะ ทั้งแปลก็ได้มีความหมายดีด้วยอีกด้วย

วัดโสธรวรารามวรวิหารเป็นที่ประดิษฐานของ  หลวงพ่อโสธรพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างของล้านช้าง พระพุทธโสธร เป็นพระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ 4 ชั้น ซึ่งปู 4ลาดด้วยผ้าทิพย์ มีความหมายถึงการอยู่สูงสุด เป็นพุทธเหนือพระอริยบุคคล 4 คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

ประวัติได้กล่าวว่าได้ปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมากแต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้จะมีผู้คนมานมัสการปิดทองหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าของวัดมีสภาพทรุดโทรม และคับแคบ ทางคณะกรรมการวัดจึงมีมติให้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าและสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ โดยอัญเชิญพระพุทธโสธรองค์จำลองไปประดิษฐานไว้ ณ อาคารชั่วคราว เพื่อเปิดให้ประชาชนได้มานมัสการตามปกติ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 โดยมีสำนักงานโยธาจังหวัดเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

ลักษณะการสร้างของสำนักงานโยธาจังหวัด  เป็นอาคารทรงไทยที่ออกแบบพิเศษ เฉพาะรัชกาลลักษณะ แบบพระอุโบสถเป็นหลังคาประกอบเครื่องยอดชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย ต่อเชื่อมด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและ ด้านหลังด้านข้างต่อเชื่อมด้วยอาคารรูปทรงเดียวกับพระวิหารเป็นอาคารมุขเด็จ จึงมีลักษณะเป็นอาคารมีหลังคาแบบจตุรมุขอย่างปราสาทไทย กว้าง 44.5 เมตร ยาว 123.50 เมตร ส่วนกลางพระอุโบสถมียอดมณฑปสูง 85 เมตร ยอดมณฑปมีลักษณะเป็นฉัตร 5 ชั้น มีความสูง 4.90 เมตร ยอดฉัตรเป็นทองคำน้ำหนัก 77กิโลกรัม มูลค่า 44 ล้านบาท ผนังด้านนอกพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนจากเมืองคาร์ราร่า ประเทศอิตาลี ผนังด้านในเป็นงาน จิตรกรรมฝาผนัง โดยศิลปินแห่งชาติซึ่งเป็นผู้เขียนภาพประกอบพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกแบบจตุรมุขอย่างปราสาทไทยลักษณะพระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์

ส่วนสำคัญที่สุดของวัดโสธรวรารามวรวิหารคือ ส่วนกลางของพระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวง พ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพ จิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์เป็น เรื่องราว ของสีทันดร มหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ดาวดึง พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาลตำแหน่งของ ดวงดาวบนเพดาน จะกำหนดตำแหน่งตามดาราศาสตร์ ตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นวันยกยอด ฉัตรทองคำเหนือมณฑป พระอุโบสถ และภาพของจักรวาลบนเพดานจะเป็นภาพเขียน ประดับโมเสกสี จึงเป็น พระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ และสวยงามที่สุด

การเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระพุทธโสธร ได้สืบต่อกันมาชั่วลูกชั่วหลาน จนเกิดเป็นตำนานธรรมเนียมประเพณีเพื่อสักการะองค์หลวงพ่อจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและในขณะเดียวกันสัญลักษณะแทนองค์หลวงพ่อก็เกิดขึ้นในรูปของพระพุทธรูปและพระเครื่อง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อบูชาหรือพกพาติดตัว ก็จะนำมาซึ่งสิริมงคล ความปลอดภัยและโชคลาภแก่ผู้ที่เชื่อถือศรัทธา

นอกจากในบริเวณตัววัดโสธรฯแล้ว ยังมีบริการร้านค้าจำหน่ายอาหารและสินค้าของที่ระลึกจากจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนั้นบริเวณท่าน้ำของวัด มีบริการเรือหางยาวรับส่งผู้โดยสารระหว่างตลาดในตัวเมือง และวัดโสธรฯ และเรือ เวลาเปิดให้เข้านมัสการ วันธรรมดา 07.00 น.-16.15 น วันหยุด 07.00 น.-17.00 น.

จะเห็นได้ว่าก็ตามวัดโสธรวรารามวรวิหารนี้ก็เป็นวัดที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของชาวฉะเชิงเทรา ชาวบ้านยังศรัทธาในหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ชาวฉะเชิงเทรามีความผูกพันอย่างแน่นเหนียวกับพุทธศาสนา วัดโสธรเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้วมานานแสนนาน

อ้างอิง

ธรรมไทย.วัดโสธรวราราม วรวิหาร จ. ฉะเชิงเทรา.ค้นข้อมูลวันที่ 21 มกราคม 2557, จาก http://www.dhammathai.org/watthai/central/watsothon.php

จังหวดฉะเชิงเทรา. (2556).วัดโสธรวรารามวรวิหาร หลวงพ่อพุทธโสธร.ค้นข้อมูลวันที่ 21 มกราคม 2557, จาก http://www.chachoengsao.go.th/province/index.php/2013-04-29-07-43-29/2013-05-22-08-44-25/87-sotorn-wat


วัดโสธรววรารามวรวิหาร


พระอุโบสถทรงมณฑปแบบไทย วัดโสธรววรารามวรวิหาร


หลวงพ่อพุทธโสธร


No comments:

Post a Comment