พระนครศรีอยุธยาก็เป็นจังหวัดที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน แถมยังเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูสถานที่ทางประวัติศาสตร์และศาสนสถานเป็นจำนวนมาก วัดมงคลบพิตร ก็เป็นศาสนสถานอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
วัดมงคลบพิตรตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ถัดไปจากคุ้มขุนแผน พระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร นับว่าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย
พระพุทธรูปสำริดที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลบพิตรแห่งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างในตอนต้นของกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ. 1991-2145 ต้นรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระพุทธรูปมีเค้าพระพักตร์มน เครื่องแต่งพระพักตร์มีลักษณะห่างจากภาพของพระพุทธรูปแบบสุโขทัยมาก ในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม ได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปจากทางทิศตะวันออกของพระวิหารในปัจจุบันประมาณ 200 เมตร ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ และได้ก่ออาคารรูปทรงมณฑปคลุมเอาไว้เพื่อใช้พื้นที่ประดิษฐานเดิมในการสร้าพระเมรุถวายเพลิงพระบรมศพ
พระพุทธรูปองค์ปัจจุบันที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลบพิตรนั้นเป็นองค์ที่ได้รับการบูรณะแล้ว การบูรณะนั้นได้รักษารูปแบบเดิมไว้ โดยการบูรณะตามภาพถ่ายที่ถ่ายไว้ก่อนการบูรณะ และในตอนที่กรมศิลปากรบูรณพระพุทธรูปองค์นี้ ได้พบว่าภายในพระอุระบรรจุพระพุทธรูปสำริดไว้อีกหลายองค์ มีหลากหลายขนาด
ในสมัยพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปของพระมงคลบพิตรพังทลายลงมาโดนพระเศียรของพระพุทธรูปหักลงมาเนื่องจากถูกฟ้าผ่า จึงได้มีการบูรณะเปลี่ยนอาคารจากเดิมที่เป็นทรงมณฑปมาเป็นทรงวิหารแทน ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศจงได้มีการบูรณะทรงวิหารใหม่อีกครั้ง และหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ข้าศึกบุกเข้าตีกรุง วิหารพระมงคลบพิตรจึงถูกข้าศึกเผาเครื่องบนลงมาต้องพระเมาลีและพระกรขวาของพระมงคลบพิตรหัก ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณทิศตะวันออกวิหารพระมงคลบพิตรซึ่งแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพมหานคร
ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ.2499 ได้มีการสร้างวิหารพระมงคลบพิตรขึ้นมาใหม่ เป็นรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก่อนนั้นในปี พ.ศ.2498 รัฐบาลไทยได้เชิญ ฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่า มาที่ประเทศไทยและได้มาเยือนที่อยุธยาเป็นกรณีพิเศษ โดย ฯพณฯ ได้กล่าวขอขมาต่อกรุงศรีอยุธยาเกี่ยวกับเรื่องที่กองทัพพม่าได้กระทำในอดีต มีการมอบเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อสมทบทุนสร้างหลังคาพระวิหารมงคลบพิตรที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และยังได้อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกไว้เพื่อเป็นศิริมงคล ณ วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน กรุงเทพมหานครด้วย
วัดมงคลบพิตรเป็นวัดเดียวในละแวกเดียวกันที่ได้มีการบูรณะให้มีสภาพดีอย่างของสมัยใหม่ แต่คงรูปแบบดั้งเดิมตามแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา คือ มีขนาดและรูปร่างสูงใหญ่ แกะสลักทองตกแต่งรอบบริเวณ มีการเจาะผนังอาคารเป็นหน้าต่างให้แสงส่องลอดเข้ามา ลักษณะเด่นอีกประการคือ การออกแบบโดยเน้นการนำแสงจากธรรมชาติให้ฉายมายังพระประธานจากทางด้านหน้า ซึ่งนี้เป็นการบูรณะที่ทำตามภาพถ่ายซึ่งถ่ายไว้ก่อนบูรณะแล้ว
วัดมงคลบพิตร ซึ่งมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงพลังความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ไม่อาจแยกออกจากอุดมคติของสังคมได้เลย พุทธศาสนานั้นถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้กับคนไทยมาเป็นเวลานาน และถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สังคมได้รู้จัก ผิด ชอบ ชั่ว ดี อีกด้วย นอกจากนั้นยังทำให้เราได้ทราบอีกด้วยว่าในสมัยอยุธยานั้น มีศาสตร์เกี่ยวกับโลหะ คือความสามารถในการหล่อโลหะเช่นสำริดซึ่งเป็นโลหะที่สำคัญที่สุด มาทำเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้เรียนรู้จากการท่องเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์นั้น ถือเป็นประโยชน์ต่อเรามากๆ ทำให้เราได้รู้ประวัติความเป็นมาของบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ทำให้เราได้รู้จักข้อมูลต่างๆและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิต ที่สำคัญที่สุด ทำให้เราได้รู้ว่ากว่าไทยจะเป็นไทในวันนี้ บรรพบุรุษของเราต้องเหนื่อยยากมากมายเพียงใด เราเป็นลูกหลานจึงควรอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นไทยตราบนานเท่านาน
อ้างอิง
ไทยทัวร์. (2557). วัดมงคลบพิตร. ค้นข้อมูลเมื่อ 11 มกราคม 2557. http://www.thai-tour.com/thai-tour/central/ayutthaya/data/place/pic_watmongkolbopit.htm
สถาบันอยุธยาศึกษา. (2557). วัดมงคลบพิตร. ค้นข้อมูลเมื่อ 12 มกราคม 2557. จาก http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/content/view/204/116/
วิหารพระมงคลบพิตร
พระพุทธรูปสำริด(องค์บูรณะแล้ว)
No comments:
Post a Comment