วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย รัชพร พรหมทา

แหล่งโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นสถานที่ที่พบร่องรอยทางประวัติศาสตร์มากมาย เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเส้นทางประวัติศาสตร์ในอดีตมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งแต่ละยุคนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แหล่งโบราณสถานต่างๆ จึงเป็นเสมือนเครื่องสื่อสารของคนในยุคอดีต ที่จะสะท้อนภาพให้คนในยุคปัจจุบันได้เข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาในอดีต อย่างเช่น วัดราชบูรณะ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณเชิงสะพานป่าถ่าน ติดกับวัดมหาธาตุทางบริเวณทิศตะวันออก ห่างจากพระราชวังโบราณเพียงเล็กน้อย วัดราชบูรณะ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967 วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ถือเป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา

ภายในวัดราชบูรณะนั้น ประกอบด้วยองค์ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงเป็นลักษณะปรางค์แบบไทยบนฐานสูง มีตรีมุขและบันไดทางขึ้นทั้งสามด้านทางทิศตะวันออก ส่วนยอดเรียวแหลมคล้ายฝักข้าวโพด โดยล้อมรอบด้วยระเบียงคต มีพระวิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนพระอุโบสถนั้น ตั้งอยู่ทางด้านหลังทางทิศตะวันตกของวัดในแนวประธานเดียวกัน

วัดราชบูรณะ ได้ถือเป็นที่เล่าขานกันมากในเรื่องของการขุดพบเครื่องทองมากมายในกรุพระปรางค์ใหญ่และภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้นภายในกรุพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ร่องรอยของความเสียหายอันเกิดจากการลักลอบลงมาขนสมบัติภายในกรุ มีลักษณะเป็นช่องที่คนร้ายหย่อนตัวลงมา ต่อเนื่องลงมม ภายในกรุมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเป็นภาพชาดก พุทธประวัติ เช่น ตอนพระนางสิริมหามายา บรรทมในพระมหาปราสาท ทรงมีพระสุบินว่า ช้างเผือก (พระโพธิสัตว์) เสด็จลงสู่พระครรภ์ เป็นต้น

พระปรางค์วัดราชบูรณะมีกรุใหญ่และลึก กรมศิลปากรทำการขุดเรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2500 ในปัจจุบันเปิดให้เข้าไปชมกรุได้ตามปกติ กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะมีทั้งหมด 3 ชั้นใหญ่ๆ เรียงกันลงไปแนวดิ่ง โดยชั้นล่างสุดอยู่ในแนวระดับพื้นดิน ดังนี้

กรุชั้นที่ 1

เป็นชั้นที่อยู่บนสุด เดิมมีผนังก่อปิดภาพทั้งหมด (ภาพคนจีน เทพชุมนุม ฯลฯ) หลังผนังทำเป็นช่องเล็กๆ ใส่พระพิมพ์ และ พระพุทธรูปไว้จนเต็ม และในนั้น คนร้ายพบพระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตัก 1 ศอก อยู่ 3-4 องค์

กรุชั้นที่ 2

เป็นชั้นกลาง มีถาดทองคำ 3 ใบเต็มไปด้วยเครื่องทอง กรมศิลปากรได้รื้อพื้นออก จึงทำให้กรุห้องที่ 2 และ 3 เชื่อมกัน มีจิตรกรรมเป็นภาพอดีตชาติพระพุทธเจ้า วาดอยู่ในช่องสี่เหลี่ยม และ รอบๆมีโต๊ะสำริดเล็กๆตั้งอยู่ทุกซุ้มเว้นด้านใต้ ใช้วางเครื่องทอง และ ผ้าทองที่ขโมยให้การว่าแค่แตะก็ป่นเป็นผงแล้ว

กรุชั้นที่ 3

เป็นห้องที่อยู่ในสุด เป็นห้องที่สำคัญที่สุด บรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเก็บรักษาอย่างดีในเจดีย์ทองคำ และ รอบๆยังเต็มไปด้วยพระพุทธรูปต่างๆ

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เองนั้น เปรียบเสมือนเป็นของทุกคน ที่สมควรจะต้องดูแลรักษา เนื่องจากสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ได้สะท้อนให้คนรุ่นหลังได้รู้จักสภาวะทางสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของคนในอดีต ทั้งนี้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ถือเป็นเครื่องที่ช่วยให้ข้อมูล ความรู้ ความเป็นมาของมนุษย์และสังคมในยุคนั้น ซึ่งสิ่งที่คนในปัจจุบันนั้น จะสามารถสร้างสรรค์ และใช้แหล่งโบราณสถานดังกล่าวได้เป็นประโยชน์อย่างถูกต้อง นำข้อมูลจากการศึกษาไปพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ต่อไป และช่วยกันรักษา อนุรักษ์ให้คงอยู่สืบ

อ้างอิง

แถมสุข นุ่มนนท์. (2531). หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร

วุฒิชัย มูลศิลป์ และดารุณี ม่วงแก้ว. (2529). หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิชย์

ปรมานุชิตชิโนรส. สมเด็จกรมพระ. พระปฐมสมโพธิกถา กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ, 2519

ศิลปากร. กรม. จิตรกรรมและศิลปวัตถุในกรุพระปรางค์ราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: 2501

วัดราชบูรณะ อยุธยา กรุสมบัติแห่งเจ้าสามพระยา. มปป. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2557, จาก http://www.comingthailand.com/ayutthaya/watratchaburana.html.



ทางเข้าพระวิหารซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าพระปรางค์


ภายในวิหาร


ปรางค์ประธานมีตรีมุข และมีเจดีย์ราย


No comments:

Post a Comment