ย้อนไปในสมัยอยุธยาถือว่าเป็นสมัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัด สามารถดูจากการสร้างวัดวาอารามและโบราณสถานต่างๆ ซึ่งมีความประณีตและงดงาม อีกทั้งรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกความเป็นแบบเฉพาะของอยุธยาในแต่ละวัดได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่ง วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ก็เป็นวัดที่มีความสนใจไม่แพ้กับวัดอื่นๆ ในอยุธยา
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งนอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตรงข้ามกับเจดีย์ศรีสุริโยทัย ก่อนหน้านี้ชื่อ วัดกษัตรา หรือ วัดกษัตราราม ซึ่งเป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏประวัติหลักฐานการสร้าง แต่มีปรากฏแค่ในพงศาวดาร ว่าครั้งรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์ที่ 33 ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2303 พม่าได้มาตั้งกองทัพที่วัด โดยใช้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่เพื่อใช้ยิงเข้ามาในพระนคร จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงครั้งที่สอง วัดได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายเป็นอย่างมากและถูกทิ้งร้างตั้งแต่นั้นมา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2349 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศก์ (ทองอิน) กรมพระราชบวรสถานภิมุข ทรงได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอารามของวัดกษัตรา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ปฏิสังขรณ์พระอาราม ตั้งแต่พระอุโบสถ ตลอดจนเสนาสนะ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหินอ่อนเพื่อปูพื้นพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “ วัดกษัตราธิราช ” ในปี พ.ศ. 2349 ได้ถูกจัดวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นพระอารามหลวงลำดับที่ 9 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดกษัตราธิราบเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 และจุดที่น่าสนใจภายในวัดกษัตราธิราช ประกอบด้วย
พระวิหาร มีทั้งหมด 4 หลัง คือ พระวิหารใหญ่ 2 หลัง ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถและพระวิหารเล็ก 2 หลัง พระวิหารใหญ่ด้านหน้าทำประตูซุ้มยอดมณฑป หน้าบันของพระวิหารจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑล้อมรอบด้วยลายกระหนก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางถวายเนตรและปางประทานอภัย ส่วนพระวิหารอีกหลังจำหลักภาพพราหมณ์อาลัมพายน์จับพญานาคภูริทัต ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิและพระศรีอาริยเมตไตรย์
พระอุโบสถ ด้านข้างมีช่องแสงก่อเป็นซี่ลูกกรงแนวตั้ง บริเวณเสามีคันทวยไม้จำหลักรูปพญานาค รองรับชายคาปีกนกทั้งสองด้าน หัวเสาเป็นลายบัวแวง หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบูแบบโบราณ หน้าบันจำหลักลายเครือเถา ด้านหน้าประดับด้วยซุ้มบุษบกบัญชร ส่วนด้านหลังมีมุขเด็จ ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางป่าเลไลยก์
ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธกษัตราธิราช พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นประธาน ประดิษฐานบนแท่นสิงหาสน์ หน้าแท่นประดับด้วยผ้าทิพย์ปูนปั้นและรูปครุฑยุดนาค ตั้งอยู่เหนือฐานชุกชี รอบพระอุโบสถมีใบเสมาคู่หินชนวน ตั้งอยู่บนฐานบัวปูนปั้น และมีเสากลม มีบัวที่หัวเสาเป็นแบบดอกบัวตูมจำนวน 6 คู่ รองรับเครื่องบน เพดานเขียนลายทองเป็นลายราชวัตร ดอกกลมและพุ่มข้าวบิณฑ์ สลับกันเป็นระยะบนพื้นสีแดง เพดานสลับไม้ลงรักปิดทองพื้นภายในพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลีที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานแด่พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง ธัมมสิริโชติ) อดีตเจ้าอาวาส เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากการก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ตามความเชื่อ ผู้ใดได้มากราบมาไหว้จะประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานก้าวหน้ายิ่งใหญ่ขึ้น
พระปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ บริเวณเรือนธาตุ ประกอบด้วยซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน เป็นปรางค์ขนาดเล็กบนฐานเตี้ยๆ ซุ้มเรือนธาตุก่อยื่นออกมาเพียงเล็กน้อย ภายในซุ้มประดับด้วยปูนปั้นนูนสูงรูปเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองส่วนยอดประดับด้วยกลีบขนุน 7 ชั้นไม่มีลวดลายเป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงและสวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะว่าเป็นวัดที่มีความสวยงามและโดดเด่น ทั้งรูปทรงของพระวิหาร พระอุโบสถ และพระปรางค์ เหมาะแก่การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะและสถาปัตยกรรมของวัดเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดในการเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง
อ้างอิง
Thailand temples.(2556). วัดกษัตราธิราชวรวิหาร. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2557 , จาก http://www.thailandtemples.org/watgasatrachatirat/index.html
ไปด้วยกัน.คอม.(2556). วัดกษัตราธิราชวรวิหาร. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2557 , จาก http://www.paiduaykan.com/province/central/ayutthaya/watkasattrathirach.html
Coming Thailand. (2556). วัดกษัตราธิราชวรวิหาร. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2557 , จาก http://www.comingthailand.com/ayutthaya/wat-kasattrathirach.html
วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
พระวิหารหนึ่งในสี่หลังของวัด
พระพุทธกษัตราธิราช ประดิษฐานอยู่ด้านในพระอุโบสถ
No comments:
Post a Comment