วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

โดย พิมพ์ลภัส เฉลิมศรี

วัดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดที่สร้างตามยุคสมัย หรือวัดที่สร้างไว้เพื่อประจำรัชการต่างๆ ดังวัดต่อไปนี้ที่จะนำเสนอ นั่นคือวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหารซึ่งเป็นวัดประจำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง

วัดราชประดิษฐ์ฯ ตั้งอยู่กลางใจเมืองกรุงเทพมหานคร ใกล้กับพระบรมมหานครราช เขต 2 เลขที่ 2 (วัดราชประดิษฐ์ฯ) ตำบลพระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร
เป็นอารามหลวงชั้นเอกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน เช่นที่สุโขทัย

พระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯขึ้น ก็เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ เพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้ สะดวก วัดราชประดิษฐ์จึงเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ ในนิกายนี้ เพราะวัดอื่น ๆ ของฝ่ายธรรมยุติเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย วัดประดิษฐ์ฯ จึงเป็นเสมือนวัดต้นแบบของคณะธรรมยุติกนิกายที่มีอยู่ในพุทธอาณาจักรบนแผ่นดินไทยนับแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหารสร้างขึ้นในที่ดินที่เคยเป็นสวนกาแฟของหลวง โดยก่อสร้างใน พ.ศ. 2407 เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระ ราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม" เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น "วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม" เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลี และภาษาไทย

ในพระวิหารหลวงมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี 12 เดือน ที่รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้วาดไว้ มีสถาปัตยกรรมที่น่าชม เช่น ปาสาณเจดีย์ ปรางค์ขอม ปราสาทพระบรมรูป (ปราสาทพระจอม), ปราสาทพระไตรปิฎก ฯลฯ และเพราะด้วยธรรมยุติกนิกายนั้นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก เขตสังฆาวาสนั้นจึงห้ามสตรีผ่านเข้าออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน

วัดราชประดิษฐ์ เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดเล็ก เพราะมีเนื้อที่ตั้งวัดเพียง 2 ไร่ 2 งาน กับ 98 ตารางวาเท่านั้น แต่ภายในบริเวณวัดมีความสวยงามวิจิตรตระการตา เต็มไปด้วยศิลปะมากมายหลายแขนงไม่น้อยไปกว่าพระอารามหลวงอื่นๆ ที่มีบริเวณพระอารามใหญ่กว่า

ประตูวัดทางด้านทิศเหนือซึ่งมีบานประตูเป็นไม้สักสลักเป็นรูป “เสี้ยวกาง” รำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต ถัดไปเป็น “พระวิหารหลวง” ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที มีมุขหน้าและหลังประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมดหลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อนๆ มีช่อฟ้าใบระกาประดับเสริม หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นรูปมหาพิชัยมงกุฎบนพระแสงขรรค์ ซึ่งมีพานแว่นฟ้ารองรับ พานแว่นฟ้าประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง 6 เชือก ทั้งสองข้างประดับด้วยฉัตรห้าชั้น พื้นของหน้าบันเป็นลายกนกลงรักปิดทองทั้งหมด ตัวหน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นลวดลายดังกล่าว เป็นยอดของสถาปัตยกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซุ้มประตูหน้าต่างประดับรูปลายปูนปั้น ลงรักปิดทองติดกระจกสีเป็นรูปมงกุฎทุกบาน ตัวบานประตูหน้าต่างสลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่ง ซ้อนกันสองชั้นลงรักปิดทองติดกระจกสี

ด้านหลังพระวิหาร มีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐานศิลาจารึก ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ฉบับ

จากข้อมูลที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ถึงความสวยงามและศิลปะที่แปลกตาไปบ้างเนื่องจากเป็นศิลปะที่นำมาผสมผสานกันหลายแขนงจนเกิดเป็นศิลปะในวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ซึ่งควรค่าแก่การเรียนรู้และรักษาไว้เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

อ้างอิง

วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี. (2557).  วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร. ค้นข้อมูลเมื่อ 21 มกราคม 2557 จาก http://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ธรรมมะไทย .วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร. ค้นข้อมูลเมื่อ 21 มกราคม 2557 จาก http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchapradit.php







No comments:

Post a Comment