วัดบวรนิเวศ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่มีชื่อเสียงมากอีกแห่งในกรุงเทพฯ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่นี่วัดเก่าแก่อันมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองที่โดดเด่น ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ ในท้องที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
วัดบวรนิเวศหรือที่คนกรุงเทพรู้จักกันในชื่อ วัดใหม่ โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในรัชกาลที่ 3ทรงสร้างขั้นใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กันกับวัดรังษีสุทธาวาสที่ต่อมาได้เสื่อมโทรมลงรัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมเข้าด้วยกัน วัดแห่งนี้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระราชาคณะเสด็จประทับที่วัดนี้ พระองค์ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างสิ่งต่างๆเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง
พระพุทธรูปสำคัญภายในวัด (1) พระไพรีพินาศ ประดิษฐานอยู่บนลานประทักษิณพระเจดีย์วชิรญาณภิกขุ
(2) พระพุทธชินสีห์ เป็นฝีมือของช่างสุโขทัยและพระสุวรรณเขตหรือที่ชาวบ้านเรียก พระโต (3) พระพุทธวชิรญาณ เป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้หล่ออุทิศถวายรัชกาลที่ 4 (4) พระศาสดา เดิมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนธาตุ แล้วถูกอัญเชิญไปไว้ที่วัดอ้อยช้าง วัดประดู่ฉิมพลี และท้ายที่สุดจึงถูกอัญเชิญมาประดิษฐานในวิหารพระศาสดา
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน หลังคาแบบทรงไทยชั้นเดียว มี2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องรางแบบจีน หลังคาพระอุโบสถเป็นแบบตรีมุข หน้าบันทั้ง 3 ด้าน มีลวดลายเหมือนกัน บานประตู ด้านนอก เป็นไม้สักแกะสลักปิดทอง บานประตูด้านในเป็นภาพเขียนสีน้ำมันลายทวารบาลแบบจีน เสาพระอุโบสถมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ เสารับมุขพระอุโบสถ และเสาด้านข้างพระอุโบสถ ซึ่งเป็นเสาเหลี่ยมลบมุม พื้นอุโบสถและบันไดเป็นหินอ่อน บนเสาบันไดประดับด้วยสิงโตหิน พนักกำแพงแก้วประดับด้วยกระเบื้องปรุลายประจำยาม บันไดทางขึ้นทั้ง 3 ทางของพระอุโบสถมีตัวเหราเป็นราวบันได รอบ ๆ พระอุโบสถประดับด้วยตุ๊กตาจีน ฐานปัทม์พื้นหินอ่อน ภายในพระอุโบสถนี้ยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังอีกด้วย
พระอุโบสถวัดรังสี ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง หลังคาทรงไทยชั้นเดียว มุงด้วยกระเบื้องราง หน้าบันไม่มีลวดลาย ไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง มีระเบียงล้อมรอบ พนักระเบียงประดับกระเบื้องมุงสีเขียว พื้นหินขัด
วิหารพระศาสดา ลักษณะของตัวอาคารก่ออิฐถือปูนพื้น 2 ชั้น มีระเบียบรอบฐาน ลูกแก้ว หลังคามุข 2 ชั้นมี 2 ตับ หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นรูปพระมหาพิชัย
วิหารเก๋ง เป็นวิหารแบบผสมระหว่างทรงไทยกับทรงจีน ตัววิหารเก๋งประดับกระเบื้อง เคลือบสีเป็นลายช่อดอกไม้ ไก่ฟ้า สิงโต แจกันดอกไม้ และเครื่องบูชาอย่างจีน ฐานบัวมีพาไลเปิดโล่งโดยรอบเสาพาไล สี่เหลี่ยม หนา ลบมุดปลายสอบ บานหน้าต่างไม้ ลายรดน้ำ รูปทิวทัศน์อย่างแบบจีน
พระมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่มีสัณฐานกลมหรือเรียกว่า ลอมฟาง มีคูหาข้างในเข้าไปได้ มีชั้นทักษิณ 2 ชั้น เป็นสี่เหลี่ยมฐานพระเจดีย์ชั้นบน โดยล้อมรอบ 24 วา 3 ศอก 5 นิ้ว
หอระฆัง เป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ผนังชั้นล่างปรุเป็นช่องรูปกากบาด ซุ้มหน้าต่างชั้นบนประดับปูนปั้นลายดอกไม้ หลังคาทรงระฆัง 4 เหลี่ยมปลายงอนเล็กน้อย และหอไตร มีลักษณะก่ออิฐถือปูน ฐานปัทม์ มีพาไลโดยรอบ มีบันไดขึ้นด้านหน้าหลังคาทรงไม้
ตำหนักเพชร เป็นคอนกรีตชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ สันหลังคาประดับด้วยปูนปั้นลายกระจัง หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระ ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ซุ้มประตูหน้าต่างทำด้วยไม้ ส่วน ตำหนักจันทร์ เป็นคอนกรีต 2 ชั้น แบบตะวันตก ประดับที่ผนังด้วยเชิงชาย คันทวยและช่องลม เหนือหน้าต่างเป็นลายฉลุไม้ เสาเหลี่ยมติดผนังเซาะร่องตามแนวยาว ของคันเสา พื้นและบันไดปูด้วยหินอ่อน
ตึกมนุษย์นาควิทยาทาน เป็นอาคารสถาปัตยกรรมเลียนแบบศิลปโกธิค เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น หน้าจั่วของอาคารประดับตกแต่งด้วยเสากลมติดผนัง รองรับซุ้มโค้ง หน้าต่างประดับกระจกสี ตรงกลางของตัวอาคารเป็นนาฬิกา
วัดบวรนิเวศแห่งนี้นอกจากขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามและเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว ยังเป็นวัดสำคัญประจำราชวงศ์จักรีอีกด้วย เพราะเป็นวัดที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่4 สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน รวมทั้งพระบรมวงศ์ชั้นสูงด้วย จึงเป็นอีกวัดที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่งและควรค่าแก่การรักษาทั้งยังเหมาะในด้านการศึกษาอีกด้วย
อ้างอิง
วัดบวรนิเวศวิหาร. ค้นข้อมูล 15 มกราคม 2557, จาก http://www.watbowon.com/home.html
ธรรมะไทย. วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร. ค้นข้อมูล 15 มกราคม 2557, จาก http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watbowon.php
ไปด้วยกันดอทคอม. วัดบวรนิเวศ. ค้นข้อมูล 15 มกราคม 2557, จาก http://www.paiduaykan.com/province/central/bangkok/watbowon.html
วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร-วิกิพีเดีย. (2556). ค้นข้อมูล 18 มกราคม 2557, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
วัดบวรนิเวศวิหาร
พระอุโบสถ
พระเจดีย์ใหญ่
พระโต (องค์หลัง) - พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า)
No comments:
Post a Comment