เวียงกุมกาม เป็นเมืองทดลองที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช เมื่อ พ.ศ. 1829 เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา มาก่อนหน้าเมืองเชียงใหม่ โดยตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ภายในเวียงกุมกามค้นพบโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ วัดกานโถมหรือวัดช้างค้ำ
พญามังรายโปรดให้สร้างวัดกานโถมขึ้นในราวปี พ.ศ. 1833 ภายในวัดประกอบด้วยวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านหลังมีอาคารเชื่อมต่อออกไปมีลักษณะเป็นมณฑป หลังวิหารเป็นที่ประดิษฐานเอกสารพงศาวดาร โยนก ฐานเจดีย์มีฐานกว้าง 12 เมตร สูง 18 เมตร ทำซุ้มคูหาสี่ทิศใช้พระพุทธรูปซ้อนเป็นสองชั้น ชั้นล่างไว้พระพุทธรูป 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง มีรูปอัครสาวกโมคัลลาน์ สารีบุตร และพระอินทร์ รูปนางธรณีไว้สำหรับพระพุทธรูปด้วย
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ พระพิมพ์ดินเผาสกุลช่างหริภุญไชยจำนวนหนึ่งและจารึกหินทรายสีแดงเป็นอักษร ได้แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ อักษรมอญ อักษรที่มีลักษณะระหว่างอักษรมอญกับอักษรไทย และอักษรสุโขทัย และฝักขามรุ่นแรก ภายในวัดกานโถมยังมีต้นโพธิ์ที่เก่าแก่ เป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญเมล็ดจากเมืองลังกาและมีพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ และมีหอพญามังราย หรือ ศาลพญามังรายซึ่งเป็นที่สถิตของเทพ และเป็นที่เคารพสักการะของประชากรในละแวกนั้นมาตั้งแต่โบราณ และวัดแห่งนี้ เป็นวัดที่มีพระสงฆ์เข้าพรรษาอยู่ภายในวัด และมีพุทธศาสนิกชนทำบุญ และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญๆ ทางศาสนาอยู่เป็นประจำ
พญามังรายทรงโปรดให้ช่างไม้คนโปรดของพระองค์ชื่อ “นายช่างกานโถม” สร้างวิหารที่เวียงกุมกาม และทรงโปรดให้ตั้งชื่อตามช่างไม้คนโปรดว่า “วิหารกานโถม” ซึ่งปัจจุบัน เหลือเพียงซากของวิหารที่หันหน้าลงสู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำปิงสายเก่า ต่อมาปี พ.ศ. 1834 พญามังรายทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นที่วัดกานโถม ฐานกว้าง 6 วาสูง 9 วา ทำซุ้มคูหาทั้งสี่ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 2 ชั้น ชั้นล่างไว้พระพุทธรูปนั่ง 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืน 1 องค์ ชาวบ้านเรียกว่า “เจดีย์วัดกานโถม” ปัจจุบันวัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดช้างค้ำ”
วัดกานโถมหรือวัดช้างค้ำ เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ที่สำคัญแล้ว ยังประดิษฐานต้นศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญเมล็ดจากเมืองลังกาอีกด้วย ปัจจุบันเวียงกุมกามเป็นแหล่งความรู้การศึกษาเรื่องราวในรูปแบบของสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตลอดจนวัฒนธรรมล้านนา โดยศูนย์กลางของการนำเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ ในเขตเวียงกุมกามอยู่ที่วัดช้างค้ำ
อ้างอิง
วัดช้างค้ำ : ต้นกำเนิดแห่งการขุดค้นพบเวียงกุมกาม.สืบค้นวันที่ 17 มกราคม 2557, จาก http://www.reviewchiangmai.com/1466
เวียงกุมกาม. สืบค้นวันที่ 17 มกราคม 2557, จาก http://www.school.net.th/library/webcontest2003/100team/dlns065/map/tem01.html
วัดกานโถม วัดเก่าแก่ของเวียงกุมกาม | เชียงใหม่นิวส์
www.chiangmainews.co.th
วัดกานโถมหรือวัดช้างค้ำ
วิหารวัดกานโถม
No comments:
Post a Comment