วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง

โดย พัชรี หงษ์ทอง

แคว้นล้านนาเราคงเคยได้ยินชื่อกันมานานแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมารวมทั้งศิลปะที่ชาวล้านนาแสดงออกผ่านทางวัดวาอารามจำนวนมาก มีหลายแห่งที่มีความเป็นมาที่น่าสนใจ ในที่นี้ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอวัดสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง อันเป็นสถานที่ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน นั่นคือ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

ราวพุทธศตวรรษที่ 17 มีหัวหน้าชนเผ่าชื่อ ลวจักราช ปกครองดินแดนทางภาคเหนือสืบราชวงศ์มาถึงพระเจ้ามังราย เสด็จมาสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของแคว้นล้านนาและรวบรวมเมืองสำคัญคือเชียงราย ลำพูน ลำปาง ต่อมามีพะเยา แพร่ น่าน เข้าไว้ด้วยกัน ภายหลังมีการรุกรานของพม่า บ้านเมืองและวัดถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์หลายแห่ง รวมทั้ง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตอยู่ถึง 32 ปี (สันติ เล็กสุขุมม, 2549 : 41-45)

ตัววัดพระแก้วดอนเต้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำวัง ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ. ลำปาง เคยเป็นศูนย์กลางของเมืองเขลางค์ยุคต้น ซึ่งเกิดจากการรวมวัดพระแก้วดอนเต้ากับวัดสุชาดารามเข้าด้วยกัน ตำนานการต่อตั้งวัดมีอยู่ว่า นางสุชาดาได้บังเอิญพบแก้วมรกตในแตงโมหรือหมากเต้า จึงนำมาถวายพระเถระรูปหนึ่ง เพื่อให้ช่างแกะสลักเป็นพระพุทธรูปซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ซึ่งต่อมามีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางว่าทั้งสองแอบลักลอบเป็นชู้กัน ท่านเจ้าเมืองจึงสั่งให้ประหารชีวิตนางสุชาดา ส่วนพระพุทธรูปนั้นถูกพระเถระอัญเชิญหนีไป ฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ภายหลังความจริงกระจ่างขึ้นก็ได้มีผู้สงสารนางสุชาดาจึง บริจาคเงินสร้างวัดขึ้นชื่อวัดสุชาดาราม ขึ้นอีกแห่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ภายหลังจึงรวมทั้งสองวัดเป็นวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม (สุรชัย จงจิตงาม, 2555 : 82; อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์, 2548 : 86)

ภายในวัดประดิษฐานพระวิหารหลวงทรงล้านนาหันหน้าสู่แม่น้ำวังหรือทิศตะวันออก บันไดขึ้นพระวิหารเป็นรูปพญานาคสองตัวที่ราวสะพาน ประตูโขง โก่งคิ้ว หน้าบันและบานหน้าต่างแกะสลักลวดลายสวยงามโดยฝีมือช่างพื้นเมืองล้านนา ด้านในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ สร้างโดยครูบาศรีวิชัยและผู้ศรัทธา มีพระพุทธรูปองค์เล็กด้านหน้าคือพระเจ้าทันใจ แต่เดิมคือพระประธานของวัด เพดานไม้แกะสลักเป็นรูปเทวดาฝรั่งสวยงามมาก อายุกว่า 100 ปี

พระเจดีย์ประธานของวัดเป็นศิลปะล้านนา ทรงลังกาสุโขทัยผสมล้านนา ยกฐานสูงสีขาว ย่อมุม ลดชั้นสูงกว่าปกติ ตกแต่งบัวมาลัยที่ปล้องไฉน บนยอดระฆังมีขนาดใหญ่ ทำให้เจดีย์มั่นคงแข็งแรง องค์ระฆังและปล้องไฉนหุ้มแผ่นทองจังโก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ภายในองค์ระฆังประดิษฐานพระเกษาธาตุของพระพุทธเจ้า

มณฑปเป็นศิลปแบบพม่า ทรงพญาธาตุหลังคาซ้อนลดกัน 7 ชั้น สื่อถึงเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตั้งอยู่ทางทิศใต้ ด้านนอกของมณฑปชั้นหลังคาประดับลวดลายแกะสลักไม้เป็นแผ่นๆ รูปเทวดา และกินรีละเอียดมาก ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอคือพระเจ้าบัวเข็มพระพุทธรูปประธานแบบพม่า ภายในมณฑป เพดานมณฑปตกแต่งด้วยปูนปั้นประดับกระจกสีวิจิตรงดงาม (สุรชัย จงจิตงาม, 2555 : 82-83; อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์, 2548 : 86-87)

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.2530 โดยเป็นวัดขนาดใหญ่ในสมัยล้านนาที่ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ได้ดีจนถึงปัจจุบันภายในวัดประกอบด้วย พระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ประธาน พระเจดีย์บรรจุพระอัฏฐิธาตุ มณฑปประดิษฐานพระบัวเข็ม องค์ประกอบทุกส่วนของวัดถูกตกแต่งด้วยลวดลายการแกะสลักที่สวยงามรวมทั้งประพุทธรูปเป็นคุณค่าทางศิลปกรรมที่คนรุ่นหลังควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของแผ่นดินเพื่อการศึกษาสืบไป

อ้างอิง

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ: หริภุญชัย-ล้านนา, กรุงเทพ: เมืองโบราณ, 2549.

สุรชัย จงจิตงาม. วัด เวียง ศิลปะ วัฒนธรรม 8 จังหวัดภาคเหนือ ล้านนา Art&Culture, นนทบุรี: มิวเซียมเพรส สำนักกองบรรณาธิการ, 2555.

อภิวันท์ อดุลยพิเชฏฐ์. นำเที่ยว 3 เมืองล้านนา, กรุงเทพ: เมืองโบราณ , 2548.

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2557, จาก http://travel.truelife.com/detail/2172565/hilight

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2557, จาก http://www.lampang.go.th/travel/weblp/page/index.html

วัดพระแก้วดอนเต้า,ลำปาง. 11 มกราคม 2557, from http://www.thai-tour.com/thai-tour/north/lampang/data/place/pic_wat_prakaewdontao.htm

วิหารวัดพระแก้วดอนเต้า.11 มกราคม 2557, from http://www.m-culture.in.th/album/view/139320/



วิหารหลวง


เจดีย์องค์ประธานศิลปะล้านนา 


มณฑปแบบพม่าหลังคาซ้อนเจ็ดชั้นเรียกว่าทรงพญาธาตุ


พระวิหารหลวงหันหน้าสู่แม่น้ำวัง

No comments:

Post a Comment