วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย ปุณณภา ขันธรัตน์

ประวัติศาสตร์ของไทยในอดีตนั้นมีความเป็นมาช้านาน หลายยุคหลายสมัยซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญในการเป็นชาติไทยอย่างมาก สมัยอยุธยานั้นเป็นสมัยที่มีความรุ่งเรืองเป็นระยะเวลานาน ก่อนที่ไทยจะก้าวเข้าสู่ในยุครัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ศาสนสถานของอยุธยานั้น เป็นสิ่งที่บงชี้ถึงความรุ่งเรืองของเมืองหลวงเดิมในอดีต ศาสนสถานที่มีความสำคัญอย่างมากแห่งหนึ่งคือ “วัดมหาธาตุ”

วัดมหาธาตุ “วัดอันเป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า” ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ สร้างขึ้นสมัยขุนหลวงพะงั่ว เมื่อปี พ.ศ.1917 พงศาวดารบางฉบับ กล่าวว่า สร้างขึ้นสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 1 และเสร็จสิ้นในสมัยพระราเมศวร ต่อมาพระองค์โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดเมื่อพ.ศ.1927 พระปรางค์วัดมหาธาตุนั้นถือเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเจดีย์ทรงปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลของปรางค์แบบขอมปนอยู่

จารีตการสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่เอาไว้ในเมืองนั้น เปรียบเสมือนว่า เจดีย์นั้นเป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุและวัดนั้นเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะอาณาจักรอยุธยา จะเห็นได้ว่าเป็นธรรมเนียมที่เริ่มตั้งแต่สมัยแรกๆ จึงเป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ในฐานะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าและเนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับพระบรมมหาราชวังจึงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช(ฝ่ายคามวาสี) มาตลอดจนสิ้นสมัยอยุธยา

ปรางค์ประธานของวัดนั้นซึ่งได้พังทลายลงมาจนถึงชั้นครุฑในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ สมัยพระเจ้าปราสาททองเมื่อ พ.ศ. 2176 โดยปรับองค์ปรางค์ที่มีลักษณะ “ล่ำนัก” ให้เพรียวสูงขึ้นและมีนภศูลอีก 3 วา รวมความสูงทั้งสิ้น 1 เส้น 5 วา หรือ 50 เมตร และคงจะมีการสร้างอาคารและเจดีย์เพิ่มเติมในสมัยต่างๆกัน หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดนี้จึงได้ร้างและเสื่อมโทรมเรื่อยมา จนกระทั่งปรางค์ประธานวัดได้พังทลายลงมาในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อพ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งบูรณะวัดมหาธาตุ ซึ่งพบของโบราณหลายชิ้นที่สำคัญที่องค์ปรางค์ประธาน คือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงินนาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้ว โกเมนและทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับ ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ภายในห้องกลางของปรางค์ประธานยังมีจิตรกรรมฝาผนัง เป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิ บ้างก็เป็นปางมารวิชัยภายในซุ้มเรือนแก้วประทับนั่งเรียงเป็นแถวหลายแถว โดยแต่ละองค์มีพระสาวกนั่งประนมมืออยู่ภายใต้ฉัตร 3 ชั้น

จุดเด่นของวัดมหาธาตุนั้น คือ ฐานขององค์ปรางมีรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ เรียงรายอยู่โดยรอบ เปรียบเสมือนล้อมรอบเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ลดหลั่นกัน 4 ชั้น ซึ่งพบเพียงองค์เดียวในอยุธยา เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีการค้นพบพระพุทธรูปหินสีเขียวสมัยทวารวดี ในสมัยรัชกาลที่ 3 เชื่อกันว่าน่าจะถูกเคลื่อนย้ายมาจากวัดหน้าพระเมรุ นครปฐม ตั้งแต่สมัยอยุธยา

วัดมหาธาตุจึงเป็นวัดที่มีความสำคัญและเปรียบเสมือนที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์และมีจุดเด่นของสถาปัตยกรรมผสมผสานของศิลปะขอม เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นเพียงองค์เดียวที่พบในอยุธยา ทั้งนี้ยังมีการค้นพบวัตถุโบราณในสมัยอยุธยาเป็นจำนวนมาก วัดมหาธาตุเป็นอีกวัดหนึ่งในอยุธยาที่ควรค่าแก่การเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิง

สถาบันอยุธยาศึกษา. (2557). วัดมหาธาตุ. ค้นข้อมูล 10 มกราคม 2557, จาก http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/content/view/360/116/

แหล่งชุมชนคนชอบเที่ยว. (2557). วัดมหาธาตุ อยุธยา. ค้นข้อมูล 10 มกราคม 2557, จาก http://www.paiduaykan.com/76_province/central/ayutthaya/watpramahathat.html







No comments:

Post a Comment