เวียงท่ากาน อารยะธรรมเก่าแก่อายุกว่าพันปี บนแผ่นดินล้านนา ที่เพิ่งถูกบันทึกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ แวดล้อมด้วยชุมชนทั้งไทยลื้อและไทยยองผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่น ที่ร่วมกันรักษาอารยะธรรมดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้ อีกทั้งด้วยพระมหากรุณาธิคุณยิ่งของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ มีพระดำริจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน” เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนล้านนาโบราณแห่งนี้ ดิฉันจึงมีความสนใจและใคร่ขอนำเสนอบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาได้ศึกษาในสถานที่ที่แปลกใหม่ และเป็นแนวทางให้แก่ผู้ที่สนใจท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์ไปยังดินแดนแห่งนี้
คำว่า “เวียง” มีความหมายว่า กำแพงหรือฮั่ว บริเวณเมืองที่ถูกล้อมรอบไปด้วยคูน้ำและกำแพง ส่วนมากจะถูกใช้เรียกในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน หรือเมืองในสมัยก่อนเชียงแสนจนถึงล้านนา ส่วนคำว่า “ท่ากาน”นั้น ชาวบ้านเล่าว่ามาจากคำว่า “ต๊ะก๋า” ในตำนานเล่าว่า เมื่อก่อนมีกาเผือกตัวใหญ่บินลง ณ ที่แห่งนี้ชาวบ้านกลัวว่าจะทำให้เกิดความเดือดร้อนในหมู่บ้าน จึงพากันไล่กาหรือต๊ะก๋าไม่ให้มาลง จึงเรียกกันต่อมาว่า “บ้านต๊ะก๋า” ต่อมาเมื่อประมาณพ.ศ. 2450 เจ้าอาวาสวัดท่ากาน ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บ้านท่ากาน” เนื่องจากคำว่า “บ้านต๊ะก๋า” ไม่เป็นภาษาเขียน จากหลักฐานทางด้านเอกสารและตำนานหลายฉบับ เช่น พงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า เมืองท่ากานเป็นเมืองที่มีประวัติเกี่ยวกับนิยายปรัมปราทางพุทธศาสนากล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าเคยเสด็จมายังเมืองนี้
เวียงท่ากาน ตั้งอยู่ที่ บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปรากฏแนวคูเมือง1 ชั้น และมีกำแพงดินหรือคันดินล้อมรอบ 2 ชั้นปัจจุบันเหลือแนวคูน้ำคันดินให้เห็น 3 ด้าน ยกเว้นด้านทิศใต้ ตัวเมืองมีสภาพเป็นเนินสูงพื้นโดยรอบเป็นที่ราบลุ่มห่างจากลำน้ำปิงประมาณ 3 กิโลเมตรสภาพภายในตัวเมืองเดิมเป็นป่าทึบ ต่อมามีการโค่นต้นไม้ใหญ่ เพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัยพื้นที่บริเวณชายเนินเป็นที่นาทั้งหมด ปัจจุบันบ้านเรือนราษฎรส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในตัวเมือง ชาวบ้านท่ากานส่วนใหญ่เป็นพวกชาวยองที่อพยพเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวีละ ปกครองเชียงใหม่ คนส่วนใหญ่พูดภาษายอง
เวียงท่ากานเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองปกครองภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารเพราะเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ ชื่อของเวียงท่ากานปรากฎในเอกสารโบราณเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกนาถ หลักฐานทางโบราณคดีประเภทโบราณวัตถุเช่นพระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปดินเผา พระพุทธรูปสำริด และพระโพธิสัตว์เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงศิลปะแบบหริภุญไชย นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุในสมัยล้านนาให้ศึกษาอีกด้วย โบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์แปดเหลี่ยมแบบหริภุญไชยและเจดีย์วิหารอีกมากมาย ภายในกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้ยังเคยมีคน ขุดพบพระบุทองคำ เงินสำริด พระพิมพ์ดินเผา ที่สำคัญคือไหลายโบราณสมัยราชวงศ์หยวน นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งกลุ่มโบราณสถานได้เป็น 3 กลุ่ม
ปัจจุบันชาวบ้านเวียงท่าการได้ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาเวียงท่าการไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันท้องถิ่นก็จะได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เป็นการช่วยนำรายได้เข้าประเทศจำนวนมากอีกด้วย
อ้างอิง
ชาจีน. เวียงท่ากานเวียงท่องเที่ยวที่ท้าทาย. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม2557, จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=525969
ประวัติเวียงท่ากาน(ชุมชนโบราณล้านนา). สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2557, จาก
http://203.172.198.146/kid_job/ms6_44/no12_13/oi.htm
No comments:
Post a Comment