วัดเจดีย์เหลี่ยม จังหวัดเชียงใหม่



โดย เพชรไพลิน โฆษิตธนสาร

หากกล่าวถึงความเชื่อ ความศรัทธา ในแต่ละพื้นที่และภูมิภาค ล้วนมีสถานที่สักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจมากมาย หลายรูปแบบแตกต่างกัน เช่นพระสถูปเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ล้วนมีประวัติ ความเป็นมา ตำนาน หรือเรื่องเล่าต่อกันมาแทบทั้งสิ้น และประเพณีนิยมในการสร้างพระสถูปเจดีย์นั้น มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ดั่งเช่น วัดเจดีย์เหลี่ยม

วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ วัดกู่คำตั้งอยู่ที่  ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าเม็งราย (บางข้อมูลเรียก พระญามังราย) เมื่อปี พ.ศ. 1831 พระองค์ให้ทรงขุดคูเวียงหาทั้งสี่ด้านและให้ไขน้ำปิงเข้าสู่คูเวียง และตั้งลำเลียง (ค่าย) ไว้โดยรอบ จากนั้นพระองค์โปรดให้เอาดินที่ขุดออกมาจากหนองคูหานี่ มาปั้นอิฐก่อเจดีย์กู่คำ คือเจดีย์เหลี่ยม โดยพระองค์ทรงให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์จากวัด จามเทวีลำพูน (วัดกู่กุด) ให้สร้างไว้ในเวียงกุมกามเพื่อให้เป็นที่สักการะของประชาชนทั้งหลาย ลักษณะของเจดีย์นั้น มีฐานกว้าง 8 วา 1 ศอก สูง 22 วา ซึ่งเป็นศิลปะแบบลพบุรี มีพระพุทธรูปยืนอยู่ในซุ้มพระทั้งสี่ด้าน ด้านละ15องค์ รวม 60 องค์ ข้อมูลบางแห่งบอกว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระชายาทั้ง 60 พระองค์ องค์เจดีย์แปลนขึ้น ไม่มีฉัตรเหมือนเจดีย์ทั่วไปๆ มีลักษณะคล้ายสถูป จึงมีชื่ออีกชื่อว่า เจดีย์กู่คำ

และจากหลักฐานตำนานวัดช้างค้ำ เมื่อพระเจ้าเม็งรายสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมแล้ว พระองค์ทรงหล่อพระพุทธรูป 5 องค์ นั่ง 4 ยืน 1 องค์ โปรดให้หล่อที่วัดเจดีย์เหลี่ยมเมื่อ พ.ศ.1832 ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.1833 จุลศักราช 652 โดยนายช่างชื่อ กาดโถม (วัดช้างค้ำปัจจุบันนี้ วัดช้างค้ำอยู่ห่างไกลวัดเจดีย์เหลี่ยมประมาณ 1 ก.ม. ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้)  หลังจากนั้นพระยาเม็งรายทรงเอาใจใส่รักษาวัดทั้ง 2 นี้ ให้รุ่งเรืองแล้วก็เสวยราชสมบัติอยู่เวียงกุมกามที่นั้น ได้ 11 ปี แล้วจึงยกย้ายรี้พลโยธาไปสร้างเวียงเชียงใหม่ เป็นราชธานีใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 1839

หลังจากนั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี วัดเจดีย์เหลี่ยมได้ถูกทิ้งให้รกร้างและชำรุดทรุดโทรมหักพังไปมาก ปีและปรากฏหลักฐานขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2451จุลศักราช 1270 เมื่อหลวงโยนวิจิตร (หมองปันใหย่ อุปโยคิน) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระญาตะก่า คหบดีชาวมอญสัญชาติพม่า ที่มาค้าขายอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ได้มีศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์เหลี่ยมขึ้นมาใหม่ ด้วยการก่อพอกฐานเจดีย์องค์เดิม ด้วยเกรงว่ารูถ้ำจะเป็นที่อาศัยอยู่หรือเป็นที่หลบลี้นี้ภัยของโจรผู้ร้ายหรือสัตว์ร้ายต่างๆ จึงก่อปิดเสีย แล้วก่อพระพุทธรูปนั่งทับไว้ที่ปากถ้ำมาจนทุกวันนี้ การที่คนโบราณเจดีย์นี้ว่า เจดีย์กู่คำ หรือวัดกู่คำ เข้าใจว่าคงเป็นเจดีย์ที่ไม่มียอดฉัตรแหลมเหนือเจดีย์ธรรมดาทั่วไป มีรูปคล้ายกู่เขาจึงเรียกเช่นนั้น เพราะคำว่ากู่นี้คนโบราณ เรียกกันว่าเป็นสถานที่เก็บอิฐของคนสำคัญ เช่น เจ้านาย ครูบาอาจารย์ หรือท่านผู้ดีมีชื่อเสียง เมื่อท่านสิ้นชีพไปแล้วเก็บอิฐบรรจุไว้ แล้วก่อเป็นรูปคล้ายรูปเจดีย์ใหญ่บ้างน้อยบ้างตามเกียรติยศของท่าน แต่เดี๋ยวนี้เรียกว่าอนุสาวรีย์และติดตั้งฉัตรใหญ่ ฉัตรเล็กให้งดงามกว่าเก่า และเพิ่มซุ้มพระที่นั่งอีก 4 โดยนายช่างพม่าเป็นผู้ดำเนินการ ลวดลายก็เลยกลายเป็นศิลปะแบบพม่าแทนที่ศิลปะแบบขอม แต่รูปทรงเป็นของเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงประติมากรรมจากศิลปะขอมเป็นศิลปะพม่า พระเจดีย์นี้ยังมีรูปร่างเป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ว่าเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ และเป็นวัตถุโบราณอันสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีรูปทรงอันสวยงามเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกแห่งหนึ่งรวมไปถึงเป็นสถานที่บูชาสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในอดีตจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

ตำนานวัดกู่คำ (เจดีย์เหลี่ยม) เวียงกุมกาม. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2557. จาก http://www.lannacorner.net/lanna2011/article/article.php?type=A&ID=563.

พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ. เจดีย์ในพระพุทธศาสนา. 2547. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2557. จาก http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=392&articlegroup_id=97.

วัดเจดีย์เหลี่ยม. 2556. สืบค้นเมื่อ18 มกราคม 2557, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/วัดเจดีย์เหลี่ยม.

วัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม เมืองหลวงเก่า จังหวัดเชียงใหม่. 2554. สืบค้นเมื่อ18 มกราคม 2557, จาก http://www.kammatan.com/board/index.php?topic=90.0.



เจดีย์วัดกู่คำ เวียงกุมกาม


เจดีย์เหลี่ยมวัดกู่คำ




No comments:

Post a Comment