วัดจามเทวีหรือวัดกู่กุด จังหวัดลำพูน

โดย จิรนันท์ ตั้งมั่น

อาณาจักรหริภุญไชย  เป็นหนึ่งในอาณาจักรโบราณในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย  ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดลำพูน  ตามตำนานจามเทวีวงศ์โบราณได้บันทึกไว้ว่า ฤๅษีวาสุเทพ เป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชยขึ้นในปี พ.ศ.๑๓๑๐ แล้วต่อมาได้อัญเชิญพระนางจามเทวี ขึ้นไปปกครอง  พระนางจามเทวีทรงสถาปนาความรุ่งเรืองและทรงปกครองเมืองหริภุญไชยด้วยทศพิธราชธรรม ถือว่าพระนางทรงเป็นจอมนางปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชยอย่างแท้จริง ปัจจุบันมีโบราณสถานที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับพระนางที่ยังหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่หลายแห่ง  ในที่นี้ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอโบราณสถานแห่งหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันเกี่ยวเนื่องกับพระนางจามเทวี  ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชยนั่นก็คือ  วัดจามเทวีหรือวัดกู่กุดนั่นเอง

วัดจามเทวี หรือ วัดกู่กุด ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนจามเทวี หมู่ ๕ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตามตำนานพิ้นเมืองฉบับนายสุทธวารีกล่าวไว้ว่า ภายหลังพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศพระโอรสทั้งสองของพระนางจามเทวีแล้ว  พระนางก็ทรงสละพระราชอำนาจและพระราชภาระทางบ้านเมืองทุกอย่าง ทรงหันพระพักตร์เข้าสู่ทางธรรม  และทรงสร้างวัดวาพระอารามต่างๆไว้มากมายสำหรับไว้บำเพ็ญศีลภาวนา  และวัดที่พระนางทรงเลือกเป็นที่ประทับสุดท้ายนั้น จากตำนานหลายฉบับระบุตรงกันว่าวัดดังกล่าวคือ วัดจามเทวี ในปัจจุบันนั่นเอง

และจากตำนานพิ้นเมืองฉบับนายสุทธวารียังระบุอีกว่า  หลังจากพระนางสวรรคตมีการเก็บพระศพไว้ ๒ ปีจึงถวายพระเพลิง  จากนั้นพระโอรสของพระนางจึงนำพระอัฐิไปบรรจุไว้ที่วัดจามเทวี  โดยก่อเจดีย์ประดิษฐานพระอัฐิไว้  เรียกว่า “สุวรรณจังโกฏิเจดีย์”  หรือที่นิยมเรียกว่าเจดีย์กู่กุดในปัจจุบันนี้นั่นเอง ภายในเจดีย์นั้นนอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิแล้ว  ยังได้บรรจุเครื่องประดับของพระนางไว้อีกด้วย รวมทั้งบรรจุงาช้างคู่พระบารมีของพระนางไว้ด้วยกัน  สุวรรณจังโกฏิเจดีย์จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของ หริภุญไชยต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ภายในวัดจามเทวีมีเจดีย์เก่าแก่อยู่ ๒ องค์ คือ เจดีย์สุวรรณจังโกฏิ หรือ เจดีย์กู่กุด ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลา ฐานเขียงของเจดีย์รวมทั้งเรือนธาตุมีลักษณะสี่เหลี่ยม เรือนธาตุซ้อนเรียงกัน ๕ ชั้น สอบเล็กลงตามลำดับขึ้นไป  แต่ละชั้นมีเจดีย์ประดับทิศทั้งสี่  และที่มุมทั้งสี่ของเจดีย์แต่ละชั้นมีเจดีย์เหลี่ยมขนาดเล็กประดับประจำทุกมุม ใหญ่เล็กลดหลั่นกันขึ้นไป  และแต่ละชั้นจะมีซุ้มจระนำด้านละ ๓ ซุ้ม  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประธานอภัยปูนปั้น รวม ๖๐ องค์ ซุ้มจระนำทำเป็นซุ้มโค้งแบบสองหยัก ส่วนยอดบนสุดได้หักหายไป  ชาวบ้านจึงนิยมเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์กู่กุด

และนอกจากนั้นภายในวัดยังมีเจดีย์อีกองค์คือ รัตนเจดีย์  ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป สามารถแบ่งได้เป็นสามส่วนคือ ส่วนฐานประกอบด้วยฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น  ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลารองรับองค์เรือนธาตุ  โดยส่วนล่างของเรือนธาตุทำเป็นฐานลดท้องไม้ลงเล็กน้อยจากระดับผนังของเรือนธาตุ  ส่วนเรือนธาตุมีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยมทรงสูง ประดับซุ้มจระนำ  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ซุ้มมีลักษณะเป็นวงโค้งสามวง ภายนอกประกอบด้วยทรงฝักเพกา หรือเรียกว่า ซุ้มเคล็ก ส่วนยอดถัดจากตัวเรือนธาตุขึ้นไป เป็นบัวถลาลดท้องไม้สองชั้น ขนาดเล็กลดหลั่นกันขึ้นไปเล็กน้อย รองรับฐานแปดเหลี่ยมเตี้ยๆ มีลักษณะลดท้องไม้เช่นกัน  แต่ที่บริเวณท้องไม้แต่ละด้านจะมีซุ้มทรงสามเหลี่ยม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ   ถัดขึ้นไปเป็นชั้นลวดบัวรองรับองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดบนสุดหักหายไปแล้ว

วัดจามเทวี เป็นวัดสำคัญเก่าแก่ของเมืองลำพูน มีอายุและประวัติความเป็นมาที่ยาวนานสามารถสืบค้นถึงการสร้างเมืองหริภุญไชยได้  ด้วยความที่วัดนี้มีโบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์เก่าแก่ทั้งสององค์ที่ยังหลงเหลือสามารถอยู่รอดพ้นเงื้อมมือข้าศึกมาได้หลายยุคหลายสมัยจนทุกวันนี้  และยังมีสภาพที่สมบูรณ์  ทั้งยังมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี  ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรหริภุญไชย วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวลำพูนอีกแห่งหนึ่ง

อ้างอิง

กิตติ  วัฒนะมหาตม์. (๒๕๓๓). จอมนางหริภุญไชย. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊ค.

เพ็ญสุภา  สุขคตะ  ใจอินทร์. (๒๕๔๘). เจดีย์กู่กุฏิวัดจามเทวี  คือสุวรรณจังโกฏหรือสันมหาพล?. วารสารราชบัณฑิตยสถาน, ๓๐ (๒), ๓๓๗-๓๕๔.

สอนสุพรรณ, (นามแฝง). (๒๕๕๑). ประติมากรรมเทวดา : สกุลช่างหริภุญไชย (๑). สืบค้นเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๗ ,จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=199418

สำนักงานสรรพากรพื้นที่ลำพูน. (๒๕๔๔). วัดจามเทวี. สืบค้นเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๗ ,จาก http://www.rd.go.th/lamphun/58.0.html


เจดีย์วัดกู่กุด หรือ  เจดีย์สุวรรณจังโกฏิ 


พระพุทธรูปปูนปั้นภายในซุ้ม


รัตนเจดีย์

No comments:

Post a Comment