เมื่อมนุษย์เราอยากจะรู้เรื่องราววิถีชีวิตของบรรพบุรุษในอดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร สิ่งที่สามารถบอกเราได้ก็คือ บรรดาซากปรักหักพังทั้งหลายจากอดีต อันได้แก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศาสนสถาน เป็นต้น ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยนั้น อยุธยา ถือได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่มีแหล่งโบราณสถานจำนวนมาก “วัดพุทไธศวรรย์” ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี
วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ในเขต ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศใต้ เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว 3 ปี เมื่อพ.ศ. 1896 บริเวณตำหนักเวียงเหล็ก ก่อนที่พระองค์จะทรงย้ายมาสร้างพระราชวังใหม่ใกล้หนองโสน (บึงพระราม) ในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ส่วนเวียงเหล็กนั้นได้สถาปนาเป็นวัดพุทไธศวรรย์ อันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกของการสร้างราชธานี
ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ วัดแห่งนี้ได้ถูกใช้เป็นที่ตั้งทัพของพม่า เนื่องจากวัดตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง และในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายบริเวณวัดได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบการเมรุที่สำคัญถึง 2 ครั้งคือตอนที่กรมหลวงโยธาทิพทิวังคตและตอนที่สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพทิวงคต
หลังจากที่เสียกรุงก็ไม่มีหลักฐานทางด้านเอกสารใดกล่าวถึงวัดพุทไธศวรรย์อีก จนกระทั่ง ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์เสด็จออกไปชมเพนียดทรงพบว่าที่ด้านมุขของปรางค์ประธานของวัดนั้น มีพระรูปพระเจ้าอู่ทองตั้งอยู่ จึงกราบทูลรัชกาลที่ 1 พระองค์จึงโปรดให้อัญเชิญเทวรูป นั้นลงมากรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2327 และโปรดให้หล่อดัดแปลงใหม่ ซึ่งโปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ หอพระเทพบิดรภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน
ลักษณะเด่นของวัดพุทไธศวรรย์คือ องค์ปรางค์ประธาน มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเจดีย์ทรงปรางค์เป็นศิลปะแบบขอมผนังด้านข้างประดิษฐานรอยพระพุทธบาทปูนปั้น กึ่งกลางปรางค์มีเจดีย์ขนาดเล็กซึ่งบรรจุพระบรมสาริกธาตุอยู่ภายใน บริเวณด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์
นอกจากนั้นยังมี เจดีย์ย่อมุม ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ ส่วนบนมีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน เป็นเจดีย์ที่มีความสวยงามองค์หนึ่ง
ในส่วนของวิหารต่างๆ ภายในวัดพุทธไธศวรรย์ก็จะนั้นมี พระวิหารหลวง เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธาน ส่วนท้ายพระวิหารเชื่อมต่อเนื่องกับระเบียงคดที่ล้อมรอบปรางค์ประธาน ฐานนั้นประดับบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนบนที่เป็นหลังคาและผนังได้ชำรุดลงไป
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านข้างปรางค์ประธาน ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ศิลปะอยุธยาตอนต้น ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม นอกจากนั้นยังมี พระวิหารโถง ตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหารหลวง เป็นพระวิหารที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ภายในประดิษฐานพระประธาน
และยังมี พระอุโบสถ ภายนอกล้อมรอบด้วยเสมาหินชนวนคู่ขนาดใหญ่ ประดับกระจก ตั้งอยูบนฐานปูนปั้นรูปบัวกลุ่มส่วนล่างเป็นฐานสิงห์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ศิลปะอยุธยาทั้งสามองค์
ทั้งนี้ยังมี ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นที่ประทับของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ฐานอาคารมีลักษณะโค้งแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย ชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดก ไตรภูมิและภาพตำนานสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป แต่ปัจจุบันภาพจิตรกรรมมีสภาพเลือนลางไปมากแล้ว
วัดพุทไธศวรรย์ มีศาสนสถานจำนวนมากและค่อนข้างสมบูรณ์ เนื่องมาจากวัดนี้ไม่ได้ถูกทำลาย เมื่อคราวเสียกรุงฯ ครั้งที่สอง ปัจจุบันวัดแห่งนี้ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
วัดพุทไธศวรรย์ จึงเป็นวัดที่ถือได้ว่าเป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกของการสร้างราชธานีในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงาม ทั้งยังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นวัดที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้วัดแห่งนี้ยังมีความสมบูรณ์เป็นอย่างมากเหมาะสำหรับการเยี่ยมชมและการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมและเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง
สถาบันอยุธยาศึกษา. (2557). วัดพุทไธศวรรย์. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2557, จาก http://www.comingthailand.com/ayutthaya/wat-phutthaisawan.html
Coming Thailand. (2557). วัดพุทไธศวรรย์.สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2557, จาก http://www.comingthailand.com/ayutthaya/wat-phutthaisawan.html
WM. (2557). ประวัติวัดพุทไธศวรรย์. สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2557, จาก http://www.putthaijatukam.com/history/history-putthaisawan
ปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์
อีกมุมหนึ่งของปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรค์
ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านข้างปรางค์ประธาน
No comments:
Post a Comment