วัดญาณสังวรารามวรวิหาร จังหวัดชลบุรี

โดย  ธัญลักษณ์  แผ่นจินดา

โบราณสถานเป็นหลักฐานที่สำคัญต่อการสืบค้นเรื่องราวในอดีต อีกทั้งยังถือว่าเป็นมรดกที่ล้ำค่าของผู้คนปัจจุบัน โบราณสถานนั้นสามารถบ่งบอกถึงชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษว่ามีวิถีดำรงชีวิตอย่างไรและยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี และ วัดญาณสังวรารามวรวิหารก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความงดงามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 อีกแห่งหนึ่ง

วัดญาณสังวรารามวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหารและสังกัดธรรมยุตินิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นองค์ประธาน

เมื่อปี พ.ศ. 2520 วัดญาณสังวรารามนั้นได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นสำนักสงฆ์ญาณสังวราราม และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ได้ถูดจัดให้เป็นวัดญาณสังวรารามโดยสมบูรณ์ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา โดยพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2525 (ซึ่งเป็นพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 43)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับวัดญาณสังวรารามไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ ซึ่งวัดแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นวัดหนึ่งที่เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9

วัดญาณสังวรารามนั้นได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นสมัยที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ความร่มเย็นเป็นสุขของไทย เกิดแต่พระบุญญาธิการแห่งองค์สมเด็จพระภัทรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแท้

พุทธสถาน/ถาวรวัตถุ/สถานที่สำคัญในวัดญาณสังวราราม

วัดญาณสังวราราม ได้วางแบบแผนและรูปแบบในการสร้างวัดเป็นอย่างดี โดยจะแบ่งพื้นที่เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และได้แบ่งเป็น 4 เขต โดยแต่ละเขตก็จะมีสถานที่สำคัญอยู่และในแต่ละเขตก็จะสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่หลากหลาย ได้แก่

เขตที่ 1 เขตพุทธาวาส เป็นสถานที่ตั้งปูชนียสถาน โบราณวัตถุ มีพระอุโบสถ เป็นต้น

เขตที่ 2 เขตสังฆาวาส ใช้เป็นสถานที่ ก่อสร้างเสนาสนะกุฏิน้อยใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ สามเณร เป็นต้น

เขตที่ 3 เขตโครงการพระราชดำริ เป็นสถานที่ในโครงการพระราชดำริ มีเรือนรับรอง อ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โรงพยาบาล ศูนย์การฝึกอบรมพิเศษ เป็นต้น

และเขตที่ 4 เขตอุบาสกอุบาสิกา เป็นสถานที่ตั้งศาลาโรงธรรม ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของ เหล่าพุทธศาสนิกชน ผู้มาอยู่ประพฤติธรรม รักษาศีลฟังธรรม ปฏิบัติจิตภาวนา เป็นต้น

ที่สำคัญ ภายในบริเวณวัดนั้นจะประกอบไปด้วยมณฑป (อาคารทางศาสนาที่มีหลังคารูปสี่เหลี่ยม) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งมีบันไดทอดยาวราว 200 ขั้น ราวบันไดที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีรูปเกล็ดพญานาค และยังมี พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ หรือเจดีย์ขาว ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ชั้นบนสุดของพระเจดีย์ และ พระเจดีย์พุทธคยา ที่จำลองแบบมาจากพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย และที่ตั้งถาวรวัตถุที่สร้างด้วยงานศิลป์ชั้นสูงของจีน เป็นต้น

ส่วนวิหารพระศรีอริยเมตไตรยนั้นสร้างด้วยศิลปะแบบไทยแท้ด้วยความประณีตบรรจง นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมของหลายประเทศด้วย เช่น ศาลานานาชาติ วิหารเซียนซึ่งเป็นอาคารเก็บรวบรวมศิลปะวัตถุที่สวยงามของจีน

วัดญาณสังวรารามนอกจากจะมีความสวยงามแล้วยังเป็นสถานที่สำคัญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานใดที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบันก็ถือว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งมีความงดงามไม่แพ้ชาติใดในโลก และวัดแห่งนี้ก็เป็นมรดกอันล้ำค่าอีกแห่งหนึ่งของชาวไทย

อ้างอิง

วัดญาณสังวราราม. (2010). วัดญาณสังวราราม . สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2557, จาก http://www.watyanasangvararam.com/history.html

กระทรวงวัฒนธรรมและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (2557). วัดญาณสังวราราม. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2557, จาก http://www.mculture.in.th/moc_new/album/วัดญาณสังวราราม-วรมหาวิหาร

บริษัท เว็บสวัสดีจำกัด มหาชน. (2014). วัดญาณสังวราราม . สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2557, จาก http://www.sawadee.co.th/pattaya/around_pattaya.html



วิหารพระศรีอาริยเมตไตรย


พระบรมธาตุเจดีย์


พระเจดีย์พุทธคยา



No comments:

Post a Comment