วัดธรรมิกราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


โดย วริทธิ์นันท์ คงสถิตย์ธรรม

หากจะพูดถึงโบราณสถานในประเทศไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดสิ่งก่อสร้างยังหลงเหลืออยู่มากที่สุดก็คงจะเป็นศาสนสถาน เช่นเดียวกับที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มีศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธอยู่มากมาย แสดงให้เห็นถึงความรัก ความศรัทรา ความประณีตงดงามในการก่อสร้าง และยังแฝงไปด้วยเรื่องราวต่างๆอีกมากมาย และวัดธรรมิกราชก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาอีกเช่นกัน

วัดธรรมิกราช หรือชื่อเดิมคือ วัดมุขราช ตั้งอยู่ที่ ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ด้านหน้าพระราชวังโบราณ และติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดหลวงเก่าแก่สร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นในยุคเดียวกันกับวัดพนัญเชิง ตามพงศาวดารเหนือที่ว่า สร้างขึ้นโดย พระยาธรรมิกราช พระราชโอรสพระเจ้าสายน้ำผึ้ง แห่งกรุงอโยธยา

ความสำคัญในอดีตนั้น เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จมาฟังธรรมในวันพระ และยังเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นสนามสอบเปรียญธรรมสำหรับพระสงฆ์อีกด้วย ปัจจุบันวัดธรรมมิกราชก็ยังเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่

ในวัดมีวิหารหลวงขนาด 11 ห้อง กว้าง 19 x 53 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ แต่คงเหลือเพียงเศียรเท่านั้น กำแพงของวิหารมีการเจาะช่องรับแสงแบบวัดหน้าพระเมรุ และมีเสาวิหารขนาดใหญ่เพื่อรองรับเครื่องบน วิหารนี้ยังมีกำแพงแก้วล้อมรอบด้วย เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่หน้าพระราชวัง จึงเรียกวิหารนี้กันว่า พระวิหารทรงธรรม

พระพุทธรูปสำริดในวิหารที่คงเหลือแต่พระเศียรเท่านั้น เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ กว้าง 1.40 เมตร สูง 1.80 เมตร พระเศียรปัจจุบันจัดแสดงไว้ที่ชั้นล่างของอาคารหลัก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เป็นศิลปะแบบอู่ทอง หรืออยุธยาตอนต้น พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยมในแบบประติมากรรมแบบขอมเขมร และเมื่อวิเคราะห์จากพงศาวดารเหนือที่ว่า พระยาธรรมิกราช พระราชโอรสในพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้างวัดนี้แล้ว จาก 2 สาเหตุดังกล่าว ทำให้เชื่อกันว่าวัดนี้น่าจะสร้างก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นเสียอีก

ด้านหน้าวิหารหลวงมีองค์เจดีย์ทรงระฆัง แต่ปัจจุบันพังทลายไปเหลือเพียงครึ่งองค์เท่านั้น มีสิงห์ปูนปั้นแบบศิลปะขอมเขมรยืนอยู่รอบฐานของเจดีย์ จึงอาจเป็นไปได้ว่าเจดีย์องค์นี้สร้างในยุคที่นิยมศิลปะขอมเขมรอีกครั้ง นั้นก็คือยุคของพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง ด้านข้างของวิหารหลวงที่อาคารขนาดใหญ่ขนาบอยู่ทั้ง 2 ด้าน โดยทางเหนือเป็นฐานของวิหารขนาดใหญ่ และทางใต้เป็นอุโบสถ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่

ทางด้านเหนือของวัดมีวิหารพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งขององค์เจดีย์ มีขนาดยาว 12 เมตร พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ ฝ่าพระบาทมีรอยมงคลปิดทองประดับกระจก วิหารแห่งนี้ได้รับการบูรณะในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2499 และได้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดอีกครั้งหลังจากเป็นวัดร้างมาตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2

เรียกได้ว่าวัดธรรมมิกราช ถือเป็นอีกวัดที่แสดงให้เห็นสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยา ความเชื่อ ความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา เป็นสถานที่ที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะศึกษาประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยา เพราะมีรูปแบบศิลปะในแบบต่างๆที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้ ชนรุ่นหลังอย่างเราจึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาและเก็บรักษาให้เป็นมรดกของชาติเราต่อไป

อ้างอิง

Coming Thailand. (ม.ป.ป). วัดธรรมมิกราช. ค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2557. จาก http://www.comingthailand.com/ayutthaya/wat-thammikarat.html

อยุธยาศึกษา. (ม.ป.ป). วัดธรรมมิกราช. ค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2557. จาก http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/content/view/359/116/


วัดธรรมิกราช 



พระวิหารทรงธรรม


เจดีย์สิงห์ล้อม





No comments:

Post a Comment