วิหารลายคำ วัดพระสิงห์

โดย อรณิชา สินธุอารีย์

แคว้นล้านนา มีโบราณสถานที่เต็มไปด้วย แหล่งรวบรวมทางศิลปะ วัฒนธรรม และ ทางพระพุทธศาสนา ที่น่าศึกษาค้นคว้าอยู่มากมายหลายแห่ง และแหล่งโบราณสถานที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในแคว้นล้านนา คือ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เป็นโบราณสถานที่โด่งดังในหมู่ นักวิชาการ นักท่องเที่ยว และ โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี ถึงความงดงามทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง และ พระพุทธสิหิงค์ที่เป็นพระพุทธรูปประธานของวิหาร เหตุที่ข้าพเจ้าสนใจหยิบยกรื่องนี้ขึ้นมาศึกษา เพราะมีความใฝ่รู้ที่จะศึกษาศิลปะทางวัฒนธรรมของไทย ที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าจากบรรพบุรุษไทย สู่ความเป็นไทยในปัจจุบัน



วัดพระสิงห์ หรือมีชื่อเต็มว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนสามล้านตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่สร้างโดย พญาผายูกษัตริย์เชียงใหม่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟูซึ่งเป็นพระราชบิดา เดิมชื่อว่า วัดลีเชียงพระ

วิหารลายคำ เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนามีขนาดเล็กภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ที่ผนังวิหารมีภาพจิตรกรรมโดยรอบทิศเหนือเขียนเป็นเรื่องสังข์ทอง ทิศใต้เป็นเรื่องสุวรรณหงส์ภาพจิตรกรรมดังกล่าวมีความน่าสนใจมากโดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบเพียงแห่งเดียวที่นี่ลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมที่พบในล้านนา นิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน เป็นภาพเหมือนชีวิตจริง(สันติ เล็กสุขุม, 2549 : 55-56)

สถาปัตยกรรมวิหารลายคำ วิหารลายคำเดิมเป็นอาคารที่มีมุขยื่นออกมาจนคลุมบันไดทั้งหมด และชายคาคลุมไปถึงสิงห์ที่ตั้งอยู่บนฐานทั้ง 2 ข้าง และมีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังและลายทองทั้งหมด ลักษณะเฉพาะของวิหารล้านนา คือ เป็นอาคารย่อมุมที่มีฐานยกขึ้น (ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์ และ ภาณุพงษ์เลาหสม,2453:4-8)

จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ ได้รับการศึกษาและเผยแพร่อย่างเป็นทางการ โดยท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อพ.ศ.2502 ในหนังสือชื่อ วิวัฒนาการแห่งจิตรกรรมฝาผนังของไทย โดยมีการเล่าเรื่องสังข์ทองโดยสังเขป ลักษณะเด่นประการแรกของจิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ คือ ภาพรวมของการตกแต่งภายในอาคาร ส่วนแรกเป็น ภาพลายทองล่องชาด เทคนิคฉลุกระดาษ ปรากฏบนผนังด้านหลัง พระประธาน เสาหลวง ช่วงกลางวิหาร เสาระเบียง ส่วนที่2เป็น ภาพเขียนสีฝุ่น บนผนังด้านข้างอาคาร แสดงภาพเล่าเรื่องราวขนาดยาวเขียนต่อเนื่องกันไป ฉากเหตุการณ์ย่อยๆ บอกให้รู้ถึงลำดับของเวลาและพื้นที่ ประกอบกับโครงสี ที่แสดงน้ำหนักอ่อนแก่ บรรยากาศ และระยะความลึก(ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์ และ ภาณุพงษ์เลาหสม,2453:52-58)

ถ้าจะกล่าวถึงตำนานหรือประวัติพระพุทธสิหิงค์  มีผู้เรียบเรียงหลายท่านและถูกนำกลับมาเรียบเรียงใหม่หลายครั้ง จนถึงสมัย หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ท่านได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์ลังกาได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 และได้ถูกอัญเชิญเข้ามาสู่ประเทศสยาม ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระพุทธสิหิงค์  ถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศสยามมาแล้วแต่ยาวนาน พระพุทธสิหิงค์ มี อยู่ 3 องค์ แต่ละองค์ ประดิษฐานต่างที่กันไป
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ 1 ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ 2 ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ 3 ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ ข้างศาลากลาง จ.นครศรีธรรมราช 
ลักษณะของพระพุทธสิหิงค์  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงนั่งขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลว หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว เป็นศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก

ความงดงามของสถาปัตยกรรมและจิตกรรมฝาผนังของวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ภายในวัดมีศิลปกรรมที่สร้างด้วยช่างฝีมือชาวล้านนาที่สวยงาม เช่นวิหารหลวงที่สร้างเมื่อครั้งครูบาศรีวิชัย หอไตรศิลปะแบบล้านนา เจดีย์ทรงระฆังคว่ำศิลปกรรมล้านนาและวิหารลายคำที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่อีกองค์หนึ่งซึ่ง เป็นผลงานที่มีความประณีตและสวยงามรวมถึงการเล่าเรื่องราวถึงวิถีชีวิต และเรื่องราวทางวรรณกรรมไทยได้อย่างประณีตบรรจง รวมไปถึงการแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการสื่อทางศิลปะทุกแขนง ให้เห็นว่าล้านนามีความรุ่งเรืองและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นแบบฉบับอันทรงคุณค่า คู่ควรแก่การศึกษา และควรอนุรักษ์ศิลปะความเป็นไทย เพื่อคนรุ่นหลังได้ศึกษาและได้เห็นสืบต่อๆไป

อ้างอิง

ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์ และ ภาณุพงษ์เลาหสม: วิหารลายคำ วัดพระสิงห์,เชียงใหม่,2543.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ: หริภุญชัย-ล้านนา, กรุงเทพ: เมืองโบราณ, 2549.

วัดพระสิงห์ วรมวิหาร. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2557, จาก http://www.วัดพระสิงห์เชียงใหม่.com/index.php

วัดพระสิงห์ วรมวิหาร.  สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2557, จาก http://www.chiangmai.go.th/cmweb/temple/prasingha/image1.html


วัดพระสิงห์มหาวิหาร


ภายในวิหารลายคำ


พระพุทธสิหิงค์


จิตกรรมฝาผนัง


No comments:

Post a Comment