ในทางประวัติศาสตร์ของไทยไม่ว่าจะเป็นยุคไหนสมัยไหนก็ตาม หลักฐานสำคัญที่จะสะท้อนเกี่ยวกับ พิธีกรรม ความเชื่อ และศิลปกรรมต่างๆ ของแต่ละยุคสมัยที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกๆ คน นั่นก็คือวัด และหนึ่งในวัดที่และแสดงออกในเรื่องเหล่านี้คือ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดภูเขาทอง
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณสืบเนื่องมาแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดสระแก สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) โปรดเกล้าให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับพิธีพระกระษาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ.2325
วัดสระเกศจึงได้เป็นวัดที่สำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเกี่ยวกับพระบรมราชจักรีวงศ์มาตั้งแต่ต้น จึงเป็นอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่1) เป็นต้นมา ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมากปฏิสังขรณ์ก่อสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะสงฆ์สืบมาโดยลำดับ
พระบรมบรรพตภูเขาทอง เป็นพระเจดีย์สำคัญองค์หนึ่งที่ตั้งอยู่ภายในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แต่เดิม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ให้มีขนาดสูงใหญ่เฉกเช่นเดียวกับพระเจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่การก่อสร้างครั้งนั้นก็ไม่สำเร็จตามพระราชประสงค์ เนื่องจากก่อได้เพียงแค่ฐานเท่านั้น ก็เกิดทรุดพังทลายก่อน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นการก่อสร้างใหม่ โดยก่อกองอิฐที่พังทลายขึ้นให้เป็นภูเขา พระเจดีย์อยู่ด้านบน โปรดเกล้าฯ ราราชทานนามว่า บรมบรรพต ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า ภูเขาทอง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่3) ได้ทรงกำหนดพระบรมบรรพตภูเขาทองให้เป็นปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จ ต่อมาในสมัยสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) จึงให้แบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้ด้านบนยอด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุการก่อสร่างจึงสำเร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่5)
พระเจดีย์ ในปี พ.ศ.2411 มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียมาประดิษฐานในเจดีย์ ปี พ.ศ. 2509 ได้ทำการบูรณะใหม่โดยติกระเบื้อโมเสกสีทอง พร้อมกับสร้างเจดีย์องค์เล็กขึ้นที่มุมทั้งสี่
พระเจดีย์องค์เล็ก ตั้งอยู่ภายในพระเจดีย์องค์ใหญ่ ภายในพระเจดีย์องค์เล็กมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.2420
พระระเบียงรอบพระอุโบสถ มีพระเจดีย์รายรอบ ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปประดิษฐานเรียงกันอยู่เต็มพระระเบียงทั้ง 4 ด้าน มีจำนวนทั้งหมด 163 องค์ ประดิษฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระปั้นปิดทองปางสมาธิที่ใหญ่โต พร้อมด้วยความงามสมพุทธลักษณะองค์หนึ่งในกรุงเทพมหานคร ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แล้วมาทำการปฏิสังขรณ์เขียนใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 7) ที่ฝาผนังด้านใน สองด้านเบื้องล่างเป็นภาพทศชาติ ด้านบนเป็นภาพเทวดาและท้าวจตุโลกบาล ด้านหน้าเป็นภาพมารวิชัย ส่วนด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ คือสวรรค์ มนุษย์ และนรก
วัดสระเกศราชวรมหาวิหารจึงเป็นวัดหนึ่งที่มีความน่าสนใจในด้านประวัติศาสตร์เป็นอย่างมากในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ มีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์มาว่าจะเป็นในด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมและประติมากรรม และทุกๆ ปีที่นี่ก็ยังมีการจัดงานประจำปีอีกด้วย นั่นคือ งานวัดภูเขาทอง
อ้างอิง
วิไลรัตน์ ยังรอด และธวัชชัย องค์อุฒิเวทย์. (2546). หนังสือชุด แผนที่ความรู้เมืองไทย: วัดในรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: แปลน รีดเดอร์.
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร-วิกิพีเดีย. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2557, จาก http://th.wikipedia.org/วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
พระบรมบรรพตภูเขาทอง-วัดสระเกศวรมหาวิหาร. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2557 , จาก http://www.watsraket.com/history-goldenmountain.html
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ). (2552). วัดสระเกศราชวรวิหาร. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2557 , จาก http://www.watsraket.com/history-watsrakes.html
เจดีย์วัดสระเกศ
พระบรมบรรพตภูเขาทอง
ภายในอุโบสถวัดสระเกศ
บันไดทางขึ้น-ลง
No comments:
Post a Comment