วัดดุสิตาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย ชลทิชา โสพิลา

อยุธยามีความรุ่งเรืองมาแต่อดีตอันยาวนาน โดยเฉพาะในด้านของศาสนา เห็นได้จากวัดวาอารามมากมายที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งวัดดุสิตารามก็เป็นหนึ่งในวัดที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและอารยธรรมของผู้คนในยุคสมัยนั้น

วัดดุสิตาราม ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอยุธยา เป็นวัดโบราณที่มีความเกี่ยวข้องกับ พระนมของสมเด็จพระนารายณ์ (เจ้าแม่วัดดุสิต) อีกทั้งยังเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) วัดดุสิตารามเป็นวัดที่ เจ้าแม่วัดดุสิต ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาและเป็นวัดที่มีที่ตั้งใกล้กับตำหนักของพระนางด้วย ตำหนักแห่งนี้เป็นตำหนักที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักแก่พระนมของพระองค์

เจ้าแม่วัดดุสิต แต่เดิมนั้นอาศัยอยู่ริมคลองดุสิตตรงส่วนที่ต่อกับคลองปากข้าวสารและใกล้กับบริเวณของวัดดุสิต ต่อมาได้เป็นแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้เป็นท้าวสมศักดิ์มหาธาตรในภายหลัง สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทานสร้างวังใกล้วัดดุสิตารามถวายพระนาง จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า เจ้าแม่วัดดุสิต

เจ้าแม่วัดดุสิตมีบุตรธิดา 3 คน บุตรชายคนโตเป็นชาย ชื่อ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) บุตรคนที่สองเป็นหญิง ชื่อ ท้าวศรีสุดารักษ์ (แช่ม) และบุตรคนที่สามเป็นชาย ชื่อ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

ภายในวัดยังประกอบด้วยโบราณสถานมากมาย ได้แก่

เจดีย์ประธาน มีลักษณะสูงใหญ่เช่นเดียวกับเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลแต่มีขนาดเล็กกว่าเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ มีบันไดทางขึ้นลง โดยรอบมีเจดีย์บริวารที่มุมมุมทั้งสี่ ส่วนล่างของเจดีย์เป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมลดหลั่นขึ้นไปรองรับมาลัยเถา ด้านบนเป็นองค์ระฆังทรงเรียว ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง รองรับเสาหานที่ล้อมรอบก้านฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอด ด้านหน้าของตัวเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง และได้มีการบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลาย

พระอุโบสถ เป็นอุโบสถในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา ซึ่งฐานพระอุโบสถจะแอ่นเป็นท้องสำเภา ด้านหน้ามีพาไลและหลังคามีประตูทางเข้าด้านหน้าสองข้าง ด้านข้างเจาะหน้าต่างข้างละบาน มีเสาประดับผนังประดับกลีบบัว หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้า ใบระกาทำด้วยไม้ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายกนก รอบพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของใบเสมาหินทรายสีขาว ของสมัยอยุธยาตอนปลายและตั้งอยู่บนฐานบัวปูนปั้น

พระวิหาร (ศาลา) สิ่งประดิษฐานที่สำคัญคือ รอยพระพุทธบาทหินทรายสีขาว เป็นของสมัยอยุธยาตอนปลายและ ใบเสมาหินทรายแดง

รอยพระพุทธบาท ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดดุสิดารามมาแต่เดิม ชาวบ้านพบอยู่ในแอ่งน้ำในบริเวณใกล้วัด จึงนำมาไว้ที่วัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2508 หรือ 2509 เป็นรอยพระพุทธบาทที่สร้างด้วยหินทรายสีขาว ขนาดยาวประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 0.5 เมตร ตรงกลางเป็นรูปธรรมจักร นอกธรรมจักรทำเป็นตารางสี่เหลี่ยม ภายในสลักภาพมงคล เป็นลักษณะการสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีรูปแบบคล้ายๆ กับรอยพระพุทธบาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศส่งไปถวายกษัตริย์ลังกา

เสมาหินทราย ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของตัวศาลา ใบเสมาตั้งอยู่บนฐานสูง จากรูปแบบและลวดลายมีผู้สันนิษฐานว่า เป็นใบเสมาสมัยอโยธยา ซึ่งยังไม่เป็นข้อสรุป

ปัจจุบันโบราณสถานภายในวัดดุสิตารามได้พังลงไปมาก ทั้งจากฝีมือของมนุษย์และธรรมชาติ เราควรช่วยกันดูแลรักษา เพื่อคงไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ ใช้ในการศึกษาหรือแม้กระทั่งการตระหนักถึงความเป็นมาของประวัติศาสตร์ได้ และหากมีโอกาสก็ขอเชิญชวนไปเยี่ยมชมวัดแห่งนี้กันนะคะ

อ้างอิง

coming thailand. วัดดุสิตาราม อยุธยา. สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2557, จาก http://www.comingthailand.com/ayutthaya/wat-dusitaram.html

วัดดุสิดาราม-วิกิพีเดีย. (2555). สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2557, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/วัดดุสิดาราม

สถาบันอยุธยาศึกษา. (2557). ตามหาร่องรอยบ้านรับแขกเมืองของพระยาพระคลัง. ค้นข้อมูลเมื่อ 13 มกราคม 2557. จาก http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/content/view/490/32/

ศรีรัญจวน. เดลินิวส์ ออนไลน์. (2557). รักแห่งพระกรุณาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. ค้นข้อมูล 13 มกราคม 2557,จาก http://www.dailynews.co.th/Content/Article/17987/ตอนที่+17+รักแห่งพระกรุณาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เจดีย์ประธาน



พระอุโบสถ


หน้าบันพระอุโบสถ

No comments:

Post a Comment