วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

โดย นางสาวไหมแพร โพธิ์ขวัญ

ถ้าจะกล่าวถึงวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันสิ่งที่มีความสำคัญมากในสังคมไทยคงหนีไปพ้นความเชื่อความศรัทราในเรื่องของศาสนา ผู้คนในสมัยรัตนโกสินทร์ต่างก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่แพ้อดีตที่ผ่านมา วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดอีกแห่งหนึ่งในมัยตันรัตนโกสินทร์ ที่เกิดขึ้นจากเนื่องจากศรัทธาของผู้คนในสมัยนั้น

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือวัดกัลยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ โดยวัดนี้เกิดจากการอุทิศบ้านจาก เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) และมีการซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติมเพื่อนำมาสร้าง เมื่อพ.ศ.๒๓๖๘ แล้วน้อมเกล้าฯถวาย ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร นอกจากนั้นยังทรงประธานให้สร้างพระวิหารหลวงและพระประธานสำหรับพระวิหารหลวงอีกด้วย

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่คนจีนเรียกกันติดปากว่า “ซำปอกง” ส่วนคนไทยมักเรียกว่า “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ องค์พระมีสีเหลืองทองอร่ามทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 11.75 เมตร สูง 15.46 เมตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน จึงมีชื่อเรียกในภาษาจีนด้วย นั่นก็คือ “ซำปอกง” ภายในพระวิหาร มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พุทธประวัติที่แทรกเรื่องราวชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคมอย่างยิ่งอีกด้วย

นอกจากพระพุทธไตรรัตนนายก ด้านขวามือของพระวิหารหลวงซึ่งเป็นพระอุโบสถ ภายในยังมีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ประดิษฐานเป็นองค์ประธาน อันเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระวรกายได้สัดส่วนงดงามตามแบบพระพุทธรูปที่สร้างในรัชกาลที่ ๓ เบื้องพระบาทพระพุทธรูปข้างขวามีรูปหล่อช้างปาลิไลยก์หมอบที่พื้น ชูงวงถือกระบอกน้ำ และข้างซ้ายมีลิงถือรวงผึ้ง ส่วนด้านหน้าคือพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิรองพระประธานภายในพระอุโบสถ

วัดกัลยาณมิตรเป็นพระอารามหลวงขนาดใหญ่ มีผังวัดที่แบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน มีถนนคั่นระหว่างพื้นที่ทั้งสองส่วนเขตพุทธาวาสอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจ้าพระยา จากริมฝั่งแม่น้ำขึ้นมาผ่านศาลาจัตุรมุข (ท่าฉนวน) มีทางเดินเข้าสู่ลานกว้าง มีศาลาเก๋งจีน ๒ หลัง สองฝั่งทางเดินทั้งสองด้านของศาลาเก๋งจีน มีพระเจดีย์แบบพิเศษ ๒ องค์คือ พระเจดีย์ทรงถะยอดปรางค์ และพระเจดีย์ทรงเครื่องหินอ่อน ทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของตึกหินและศาลาการเปรียญ ผ่านศาลาเก๋งจีนเข้าสู่ศาลาตรีมุข เข้ามาภายในกำแพงแก้วเขตพุทธาวาสที่มีพระอุโบสถพระวิหารหลวง พระวิหารน้อย และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น หอพระธรรม มณเฑียรเถลิงพระเกียรติ หอระฆัง ส่วนเขตสังฆาวาสมีอาคารหมู่กุฏิคณะต่างๆ และอาคารเจ้าพระยานิกรบดินทร

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ถือว่าเป็นวัดของไทยที่มีกลิ่นไอของความเป็นจีนผสมผสานอยู่ด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ ของคนไทยในอดีตและปัจจุบัน ถือเป็นมรดกล้ำค่าที่ให้คนไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และตระหนักถึงความมีน้ำใจซึ่งกันและกันของคนไทยในอดีตด้วย

อ้างอิง 

ธรรมะไทย. (2555). วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร. ค้นข้อมูลเมื่อ 12 มกราคม 2557. http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watkalayanamit.php

ศิริชัย ภูระยา. (2555). วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร. ค้นข้อมูลเมื่อ 12 มกราคม 2557. จาก http://watkanlayanamitra.blogspot.com/2012/10/blog-post_23.html


ทางเดินเข้าสู่พระวิหารหลวง


พระวิหารหลวงที่ประดิษฐาน พระพุทธไตรรัตนนายก



พระพุทธไตรรัตนนายก (ซำปอกง) พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่


No comments:

Post a Comment