วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

โดย สกาวรัตน์ แซ่อุย

ถ้าจะพูดถึงวัดจอมทองอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู  แต่ถ้าบอกว่าเป็น วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร มั่นใจว่าทุกคนก็น่าจะรู้จัก เพราะเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)และเป็นวัดที่มีศิลปะที่ผสมสานได้อย่างลงตัวซึ่งเป็นต้นแบบของวัดไทยสไตล์จีน

วัดราชโอรสาราม หรือ วัดราชโอรส ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชย ฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) และติดคลองบางหว้า ทางด้านทิศเหนือของวัด ตั้งอยู่เลขที่ 258 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

“วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร”วัดประจำรัชกาลที่ 3 เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า วัดจอมทอง สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2363 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (สมัยรัตนโกสินทร์) จึงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งแม่ทัพไปสกัดกั้นทัพพม่าทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี เมื่อขบวนทัพมาถึงหน้าวัดจอมทอง ทรงหยุดทัพและทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม พร้อมทรงอธิษฐานขอให้ได้ชัยชนะกลับมา ปรากฏว่าเมื่อยกทัพไปแล้วกลับไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา กลายเป็นว่าไม่ต้องรบกันเหนื่อย ภายหลังพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งวัดเสมือนสร้างใหม่ และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามใหม่จากรัชที่2ว่า วัดราชโอรสารามฯ ซึ่งหมายถึงพระราชโอรสคือพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

การสร้างวัดราชโอรสฯ ในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญของสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 สิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้ก็อยู่ที่ศิลปะและสถาปัตยกรรมภายในวัด ที่มีการก่อสร้างตามแบบของรัชกาลที่ 3 เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดศิลปะแบบจีน พระอุโบสถและพระวิหารต่างๆก็เลยไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าชำรุดเสียหายได้ง่ายและเปลืองเวลาในการทำ หน้าบันจึงเป็นแบบเรียบๆ มีการประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลายดอกไม้ หรือสัตว์ต่างๆ เช่นหงส์ หรือมังกรตามแบบจีน

สิ่งที่สำคัญในพระอาราม ได้แก่

1.พระอุโบสถ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมผสมระหว่างไทย และจีน หลังคาเป็นแบบจีนแต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ สวยงาม แต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน คือ มังกร หงส์ และนกยูง ตอนล่างเป็นภาพทิวทัศน์มีบ้านเรือน สัตว์เลี้ยงภูเขา ต้นไม้ ตามขอบหลังคาประดับกระเบื้องสี และถ้วยชามโดยรอบ

2. พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคาร ของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา

และยังประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ( ฉัตร 9 ชั้น ) พ.ศ. 2504 พระพุทธรูปองค์นี้กล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างได้งดงามกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นที่สร้างในสมัยเดียวกัน

3. พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล ขณะพระองค์ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อทรงเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้าง ได้ประทับที่พระแท่นใต้ต้นพิกุลใหญ่ที่อยู่ตรงด้านหน้าทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ และก็มีการเล่ากันว่าพระองค์เคยรับสั่งไว้ว่า "ถ้าฉันตายจะมาอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้ " อาจจะเป็นเพราะพระราชดำรัสนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาพระอารามนี้ จะมาทรงถวายสักการะที่พระแท่นนี้เสมอจนกลายเป็นประเพณี

4. ถะ (สถูปเจดีย์จีน) อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นสถูปแบบจีน มีทรงเหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น สูงประมาณ 5-6 วา ยอดเป็นรูปทรงน้ำเต้า สถูปองค์นี้ ก่อด้วยอิฐถือปูนปิดทึบ ภายนอกเป็นแผ่นหินอ่อนสลักรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และลวดลายปะติดไว้ด้านนอก

5. พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้ว เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นขนาดยาว 20 เมตร โดยรอบลานพระวิหารมีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองประดิษฐานอยู่ 32องค์ ที่ผนังพระระเบียงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีแผ่นหินอ่อนจารึกตำรายาและตำราหมอนวด โดยเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

6. ศาลาการเปรียญ อยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ เป็นอาคารที่มีลักษณะผสมทางศิลปกรรม ระหว่างไทยและจีน บนหลังคาประดับรูปถะ ระหว่างมังกรกระเบื้องเคลือบสีอย่างศาลเจ้าจีน ผนังด้านนอกตอนบนเขียนรูปผลไม้ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล (ฮก ลก ซิ่ว) เช่น ส้มมือ หมายถึง การมีวาสนาสูง ทับทิม หมายถึง ความมั่นคงอุดมสมบูรณ์ และผลท้อ หมายถึง การมีอายุยืน

ด้วยศิลปกรรมที่งดงามแปลกตา แต่ก็ยังคงครบถ้วนด้วยความเป็นวัดแห่งพระพุทธศาสนา ก็ทำให้วัดนี้เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และที่สำคัญยังมีแผ่นศิลาจารึกไว้ให้ศึกษาและเรียนรู้ นับว่าเป็นวัดที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง  ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็อยากที่จะให้มาเยี่ยมชม สวดมนต์ไหว้พระและชมความงดงามทางสถาปัตยกรรมกันที่ "วัดราชโอรสฯ" แห่งนี้

อ้างอิง

วัดราชโอรสาราม-สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร.(2557).วัดราชโอรสารามฯ. ค้นข้อมูล: 21 มกราคม2557,จาก http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.php?option=com_content&view=article&id=8:watradchaorod:&catid=1&Itemid=8

วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร creativevill. (2557).วัดราชโอรสารามฯ.ค้นข้อมูล: 21 มกราคม2557,จาก www.creativevill.com/?p=2571


วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร


พระอุโบสถ


สถูปเจดีย์หินทรงแปดเหลี่ยมแบบจีน เรียกว่า ถะ


พระประธานในพระอุโบสถ


No comments:

Post a Comment