วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

โดย ณัฏฐา เพชรจำนง

กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชอาณาจักรที่สี่ในยุคประวัติศาสตร์ของไทย เริ่มตั้งแต่การย้ายราชธานีจากจากกรุงธนบุรีมาสร้างใหม่บริเวณฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับธนบุรีและมีเมืองหลวงชื่อว่า กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมี ๓ รัชกาลที่สำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ แห่งพระราชวงศ์จักรี ซึ่งพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ การส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพราะท่านทรงมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา โปรดเกล้าฯให้สร้างวัดและปฎิสังขรณ์วัดสำคัญจำนวนมาก และวัดที่สำคัญวัดหนึ่งก็คือ "วัดราชนัดดารามวรวิหาร" หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "วัดราชนัดดา"

วัดราชนัดดารามวรวิหาร หรือ วัดราชนัดดา ตั้งอยู่ที่ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นวัดสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ซึ่งเป็นพลับพลารับแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ ทรงสร้างบนสวนผลไม้เก่าเนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่ เพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (ซึ่งภายหลังเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ ๔)

จุดเด่นของวัดราชนัดดาที่ประชาชนมองเห็นได้ทั่วไปเมื่อผ่านมาทางถนนพระราชดำเนิน คือ โลหะปราสาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นแทนการสร้างเจดีย์ และได้รับการยกย่องว่าเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ ๓ ของโลก แห่งแรกอยู่ในประเทศอินเดีย แห่งที่ ๒ อยู่ในประเทศศรีลังกา ทั้งสองแห่งได้ถูกทำลายไปแล้ว ปัจจุบันเหลืออยู่ ณ วัดราชนัดดาราวรวิหารเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

โลหะปราสาทนี้จำลองมาจากประเทศลังกา มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตามโลหะปราสาทที่เมืองลังกา ส่วนลักษณะสถาปัตยกรรมสร้างตามแบบศิลปกรรมไทย เป็นอาคาร ๗ ชั้น ลดลั่นกันขึ้นไป อาคารชั้นล่าง ชั้นที่ ๓ และชั้นที่ ๕ เป็นคูหาและระเบียงรอบ ส่วนชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๔ และชั้นที่ ๖ ทำเป็นคูหาจัตุรมุขมียอดเป็นบุษบกชั้นละ ๑๒ ยอด และ ชั้นที่ ๗ เป็นยอดปราสาทจัตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ รวมเป็น ๓๗ ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา ๓๗ ประการ ยอดปราสาทชั้น ๗ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้

สำหรับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวัดราชนัดดารามนี้ก็ยังเป็นแบบไทย พระอุโบสถเป็นมี ช่อฟ้า ใบระกา ต่างจากวัดเทพธิดารามซึ่งสร้างแบบจีน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธเสฏฐตมมุนีซึ่งโปรดให้หล่อด้วยทองแดง จากตำบลจันทึก เมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกงดงาม ฝาผนังเขียนลายเทพชุมนุมกับดาวดาราศาสตร์ส่วนพระวิหารก็เป็นศิลปะแบบไทยเช่นกัน ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระนามว่า "พระพุทธชุติธรรมนราสพ"

วัดราชนัดดาถือว่าเป็นวัดแห่งเดียวของเมืองไทยที่มีโลหะปราสาทซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ ๓ ของโลก และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก เนื่องจากโลหะปราสาทที่ประเทศอินเดีย และศรีลังกาได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว ถือว่าเป็นมรดกล้ำค่าที่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และชื่นชมในความสามารถของบรรพบุรุษไทย ที่สร้างวัดแปลกใหม่และมีความสวยสดงดงามให้แก่ประเทศชาติ และเราทุกคนต้องช่วยกันรักษาเพื่อให้คงอยู่ต่อไปยาวนาน

อ้างอิง

กนกวลี ชูชัย และ กฤษฎา บุณยสมิต. (๒๕๔๕). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. (พิมพ์ครั้งที่ ๑). กรุงเทพฯ : เมธีทิปส์.

วัดราชนัดดาราม - วิกิพีเดีย. สืบค้นเมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชนัดดารามวรวิหาร

วัดราชนัดดารามวรวิหาร. สืบค้นเมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.php?option=com_content&view=article&id=6&Itemid=6

วัดราชนัดดาราม วรวิหาร - กรุงเทพมหานคร : เว็บไซต์ธรรมะไทย. สืบค้นเมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchanadaram.php



วัดราชนัดดา


โลหะปราสาทหนึ่งเดียวในโลกที่วัดราชนัดดา


พระอุโบสถวัดราชนัดดา

No comments:

Post a Comment