วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

โดย ธนัชภัค คำประไพ

ประเทศไทยมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายหลายยุคหลายสมัยแต่ละยุคมีสถานที่ที่บ่งบอกถึงเรื่องราว รูปแบบสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรมได้อย่างหลากหลาย แต่ถ้าพูดถึงสถานที่ในยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น“วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร”ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่บอกเรื่องราว รูปแบบสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี

วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนตีทองและถนนบำรุงเมืองโดยหน้าวัดหันออกทางถนนอุณากรรณซึ่งวัดสุทัศน์ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2350-2351 เดิมพระราชทานนามว่า“วัดมหาสุทธาวาส” โปรดให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) โดยอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงของวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่ยังสร้างไม่เสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็ทรงให้สร้างต่อไปและแสดงฝีพระหัตถ์ไว้เป็นอนุสรณ์โดยทรงสร้างบานประตูกลางจำหลักด้วยฝีพระหัตถ์ร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดีของตัวพระวิหาร แต่ก็สิ้นรัชกาลก่อนที่จะสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่3 ทรงโปรดให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนเสร็จก็ทรงให้สร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ และให้สร้างสัตตมหาสถาน สร้างกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารโดยภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493

ภายในวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่สำคัญๆ ดังนี้

พระอุโบสถ มีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หันหน้าไปด้านทิศตะวันออก เสาเหลี่ยมแบบจีนไม่มีหัวเสา ผนังของพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มยอดมีลักษณะแปลกและงดงาม ด้านทิศเหนือและทิศใต้มีเกยด้านละ 4 เกย ใช้เป็นที่ประทับโปรยทานแก่ประชาชนในพระราชพิธี “เกยโปรยทาน” ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ปางมารวิชัย

พระวิหารแบบสถาปัตยกรรมมาจากพระวิหารมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนฐานไพที 2 ชั้นล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วหลังคาไทย 2 ชั้น 1 ลดมีมุขเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลังประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์เสาเหลี่ยมมีบัวหัวเสาผนังพระวิหารเป็นภาพจิตรกรรมเรื่องไตรภูมิกถาเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนีปางมารวิชัย

วิหารคตหรือระเบียงคตสร้างล้อมรอบพระวิหารเป็นหลังคาทรงไทยโบราณหน้าบันสลักภาพนารายณ์ทรงครุฑผนังภายในเขียนสีลายดอกไม้ร่วงสลับกับนกบินเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นจำนวน 156 องค์

หอระฆัง สร้างอยู่ในเขตสังฆาวาส ก่อด้วยอิฐถือปูนลักษณะเป็นแปดเหลี่ยมตั้งแต่ฐาน แต่พื้นดินขึ้นไปเป็นหน้ากระดานบัวคว่ำท่อนที่ 2 เป็นหน้ากระดานบัวหงาย ผนังคูหาแต่ละมุมก่ออิฐตัน สร้างเป็นซุ้มคูหา ด้านนอก ชั้นที่ 3 เจาะช่องเป็นคูหาเพื่อให้แลเห็นระฆังที่แขวนหลังคา ก่ออิฐถือปูนทำเป็นทรงบัวตูมอ่อน นอกจากนั้นก็ยังมีอาคารอื่นๆ อันประกอบด้วย ศาลาวิหารทิศ ศาลาดิน ศาลาการเปรียญ สัตตมหาสถาน เป็นต้น

วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมามาอย่างช้านานและเป็นวัดที่มีความสำคัญของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกวัดหนึ่ง มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเป็นวัดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นวัดที่มีการวางผังได้สัดส่วนงดงามที่สุดถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งควรค่าแก่การศึกษายิ่งนัก

อ้างอิง

ท่องวัดผ่านเว็บ.  (2557).วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร. สืบค้นเมื่อ 17มกราคม 2557,  จาก http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.php?option=com_content&view=article&id=19&Itemid=19  

ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร.  (2557).  วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร. สืบค้นเมื่อ 17มกราคม 2557, จาก http://203.155.220.230/m.info/bma_k/knw4.html


เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ฯ







พระศรีศากยมุนี




No comments:

Post a Comment