วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย

โดย ปรีดาภรณ์ พสุเมธิตานนท์

วัดร้างขนาดใหญ่ใจกลางเมืองสุโขทัยที่ล้อมรอบด้วยกำแพงรูปสี่เหลี่ยม มีอาณาบริเวณกว้างขวาง เต็มไปด้วยวิหารเจดีย์มณฑปที่ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา “วัดมหาธาตุ” วัดที่สำคัญและเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของสุโขทัยมาตั้งแต่ยุคสมัยที่เป็นนครรัฐที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคจนเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบันโดยมีพระมหาธาตุเป็นสิ่งยืนยันความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย ตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นสถานที่ซึ่งวัดมหาธานั้นตั้งอยู่ วัดแห่งนี้เป็นวัดขนาดใหญ่อยู่ใจกลางเมือง สร้างในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ในตัววัดประกอดด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์และเจดีย์ราย เจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ทั้ง 4 ทิศและเจดีย์ทรงปราสาทที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา บริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์แบบต่างๆถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง มณฑป 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง และตระพัง 4 แห่ง

เจดีย์ประธานหรือเจดีย์มหาธาตุของวัดมีลักษณะเป็นทรงดอกบัวตูมซึ่งเป็นศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์แบบสุโขทัยแท้แต่อาจไม่ใช่รูปแบบเริ่มแรกเมื่อมีการสร้างวัดขึ้น รูปแบบเดิมคาดว่ามีลักษณะเดียวกับเจดีย์ทิศที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันและตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่ รอบเจดีย์ประฐานเป็นเจดีย์ทิศจำนวน 8 ทิศ องค์ที่อยู่ตามมุมเจดีย์มีอิทธิพลลักษณะมาจากศิลปะหริภุญไชย ล้านนา ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของด้านทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย มีลวดลายปูนปั้นที่ได้รับอิทธิพลมากจากศิลปะลังกา รอบๆเจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปประสาวะในท่าอัญชลี เดินประทักษิณรอบพระมหาธาตุ

คติการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์เป็นหลักของเมืองอาจต้องการสื่อถึงความเป็น พระเจดีย์จุฬามณีซึ่งตามคัมภีร์ระบุว่าอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตรงยอดของเขาพระสุเมรุเท่ากับเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ดังนั้นการสร้างพระมหาเจดีย์เป็นหลักของเมืองจึงหมายถึงเป็นศูนย์กลางของจักรวาลด้วยเช่นกัน และมีเจดีย์บริวาณล้อมรอบเปรียบเสมือนเขาสัตบริภัณฑ์ที่ล้อมเขาพระสุเมรุเป็นชั้นๆ และการตั้งอยู่ในกลางเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบอาจหมายถึงเมืองทั้งเมืองเป็นการจำลองจักรวาล

ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานของวัดมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ซึ่งสร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย พ.ศ. 1905 จนในสมัยรัชกาลในปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ จังหวัดกรุงเทพมหานครฯ ทางด้านเหนือและด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า “พระอัฏฐารศ” มีขนาดสูงราว 18 ศอก ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน

ถัดมาจากบริเวณวิหารหลวงของวัดมหาธาตุไปทางทิศตะวันออก เป็น “วิหารสูง” ฐานของวิหารหลังนี้ก่ออิฐเป็นลักษณะฐานบัว มีความสูงประมาณ 1.5 เมตร เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธายาซึ่งสร้างขึ้นภายหลัง ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าวิหารสูงกับกำแพงแก้วด้านหน้าเหลือเพียงที่แคบๆไม่ได้สัดส่วงที่ลงตัวกับความสูงของตัวอาคาร นอกจากนี้ภายในวัดยังมีกลุ่มเจดีย์จัดแยกออกอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์มหาธาตุอยู่กลุ่มหนึ่ง มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ห้ายอดที่มีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากเจดีย์พระธาตุ

นอกจากนั้นในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของวัดมหาธาตุยังได้กล่าวไว้ว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม มีพาหารอันใหญ่ มีพิหารอันงาม” (วัดสมัยสุโขทัย, ม.ป.ป.) ถือว่าเป็นศูนย์รวมทั้งด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย

ความยิ่งใหญ่และสวยงามที่ผ่านกาลเวลามานับหลายร้อยปีแม้ปัจจุบันจะเป็นเพียงแค่วัดร้างขนาดใหญ่แต่สิ่งที่คนรุ่นก่อนเหลือไว้ก็เป็นถึงโบราณสถานที่สำคัญของเมืองสุโขทัย บอกเล่าศิลปะและสถาปัตยกรรมผ่านองค์เจดีย์ วิหาร อุโบสถและมณฑปให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ต่อไป


อ้างอิง

พระมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2012/12/21122555/

วัดสมัยสุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก
http://student.nu.ac.th/inthanon/thai/page2/page2-8.html

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดมหาธาตุ สุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://www.paiduaykan.com/province/north/sukhothai/sukhothai-historypark.html

วัดมหาธาตุ สุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://www.tatcontactcenter.com/recom_details.php?txtNo=77&cate_id=33&pageNews=2

1 comment: