วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย

โดย นริศนันท์ ปัญจพรอุดม

ศิลปะแบบสุโขทัยเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นในบริเวณแถบจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ พิษณุโลก และบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ทางตอนใต้ของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นศิลปะที่เกิดจากความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ผลงานสร้างสรรค์แบบสุโขทัยปรากฎในงานด้านสถาปัตยกรรมประติมากรรม และจิตรกรรม สถาปัตยกรรม มีความงามและมีลักษณะเด่นเฉพาะ แม้จะได้รับอิทธพลมาจากที่อื่นบ้าง แต่ก็มีการพัฒนาจนมีลักษณะเฉพาะของตนเอง ซึ่งในวันนี้จะมากล่าวถึง 'วัดพระพายหลวง'

วัดพระพายหลวง เป็นวัดคณะสงฆ์เถรวาท สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และมีประวัติการก่อสร้างนับตั้งแต่กรุงสุโขทัย เป็นวัดโบราณสถานที่มีพระสงฆ์อยู่อาศัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ฝังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียก "คูแม่โจน" วัดพระพายหลวงนี้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในระยะแรกก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย โบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัดคือ พระปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยศิลาแลง ลักษณะแผนผังและรูปศิลปะเป็นแบบเขมรบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

บริเวณด้านหน้ามีบารายขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแผนผังแบบเขมร ตัวปราสาทเป็นปราสาท 3 หลัง เช่นเดียวกับพระปรางค์ 3 ยอด ที่ลพบุรี  มีการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน การสร้างปราสาท 3 หลัง หรือที่เรียกว่า “รัตนไตรมหายาน” ตรงกลางจะประดิษฐาน พระพุทธรูปนาคปรก คือ พระพุทธเจ้า ส่วนขวามือ คือ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และซ้ายมือ คือ นางปัญญาบารมี ปัจจุบันศิลปกรรมเหล่านี้ถูกเคลื่อนย้ายไปจากปราสาทแล้ว เราสามารถศึกษาข้อมูลได้จากพระพิมพ์ เช่น พระพิมพ์จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ที่สร้างพระพิมพ์เป็นปราสาท 3 หลัง ด้านในมี พระพุทธรูปปางนางปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปัญญาบารมี ซึ่งพระลักษณะนี้นิยมสร้างในเขมร แกะด้วยหินก้อนใหญ่ๆ เรียกว่ารัตนไตรมหายาน หลักฐานของวัฒนธรรมเขมรที่ขึ้นไปสูงที่สุดอยู่ที่ศรีสัชนาลัย (เชลียง) ที่วัดเจ้าจันทร์ เป็นปราสาทแบบขอมก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ มีนาคปรก ขนาดของศิลาแลงสามารถบอกอายุสมัยได้เนื่องจาการใช้ศิลาแลงสุโขทัยจะเล็กกว่าศิลปะเขมรครึ่งหนึ่ง

วัดพระพายหลวงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืองด้านเหนือและอยู่ขนาบกับกำแพงเมืองชั้นนอก และยังจัดเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง รองจากวัดมหาธาตุ และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สุโขทัย

อ้างอิง

วัดพระพายหลวง. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http://welovemuseum.files.wordpress.com/

วัดพระพายหลวง. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/

No comments:

Post a Comment