โดย กิตติญา ทองศรี
วัดศรีสุพรรณถูกสร้างสรรค์โดยช่างภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้ร่วมกันสลักลวดลายลงบนแผ่นเงินบริสุทธิ์ เงินผสม อลูมิเนียม และวัสดุแทนเงิน ประดับตกแต่งพระอุโบสถของวัดศรีสุพรรณทั้งภายนอกและภายในตลอดทั้งหลัง เนื่องจากอุโบสถหลังเดิมของวัดศรีสุพรรณ ชำรุดทรุดโทรม จนกลายเป็นพระอุโบสถเงินทรงล้านนาซึ่งเป็นศาสนสถานเครื่องเงินหลังแรกของโลก โดยมุ่งมั่นจรรโลงพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชาวพุทธ ควบคู่ไปกับการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และเศรษฐกิจชุมชน
วัดศรีสุพรรณ เดิมเรียกชื่อว่า “ศรีสุพรรณ อาราม” ตั้งอยู่ที่ ถ.วัวลาย ต.หายยา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นในสมัย พระเมืองแก้ว กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2043 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2403 ในสมัย พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ จึงได้มีการบูรณะวัดโดยการสร้างพระวิหารขึ้น ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังภายวิหารเป็นภาพเกี่ยวกับชาดกและพุทธประวัติ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นประธาน
จุดสนใจภายในวัดศรีสุพรรณคือพระอุโบสถเงินทรงล้านนา เป็นพระอุโบสถหลังแรกที่สร้างด้วยโลหะเงินและดีบุก ด้วยฝีมือและภูมิปัญญาของช่างบ้านศรีสุพรรณได้มีจิตศรัทธาในการร่วมสร้างพระอุโบสถขึ้น โดยได้อัญเชิญ พระเจ้าเจ็ดตื้อ พระพุทธรูปสำริดมาประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ
ในวัดศรีสุพรรณแห่งนี้นอกจากพระประธานแล้วยังมีองค์พระพิฆเนศอยู่ ทั้งองค์ใหญ่ และองค์เล็กภายในอุโบสถเงิน หลายสิบองค์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระพิฆเนศเป็นเทพที่มีผู้คนนับถือและเคารพมากที่สุด เนื่องจากเป็นเทพที่มีพระกรุณาเป็นหนึ่งในเทพทั้งหมด และถือเป็นปฐมเทพที่จะได้รับการบูชาก่อนเริ่มพิธีกรรมต่างๆ
พระบรมธาตุวัดศรีสุพรรณเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา พระธาตุองค์นี้จะเอียงตัว และเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับพระธาตุองค์นี้นั้น เป็นแค่คำบอกเล่าสั้น ๆ คือ ในช่วงเดือนเพ็ญ หรือขึ้น 15 ค่ำ มีชาวบ้านหลายๆคน บอกว่าเห็นองค์พระธาตุจะส่องแสงวาววับและเคลื่อนตัวรอบ ๆ องค์พระธาตุเป็นรูปวงกลม “ผู้ใดปฏิบัติดี ผู้นั้นย่อมเห็นสิ่งที่ประเสริฐ ”
วัดศรีสุพรรณกลายเป็นศูนย์กลางแหล่งศิลปวัฒนธรรม การศึกษาภูมิปัญญาล้านนา หัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขินวัวลาย ที่สืบทอดมามาตั้งแต่อดีตจากบรรพบุรุษมากกว่า 200 ปี ปัจจุบันนับวันกำลังสูญหายไปและจะเริ่มเสื่อมถอย จึงเป็นเหตุผลและแนวคิดของการนำภูมิปัญญานำศิลปกรรมล้านนาสู่สากล หัตถกรรมเครื่องเงินถนนวัวลาย อันเป็นทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม มาสร้างเป็นอุโบสถเงินแห่งวัดศรีสุพรรณ เพื่อมาเพิ่มเติมคุณค่าอุโบสถหลังนี้ฝากไว้ให้เป็นศิลปะแก่แผ่นดินล้านนาและสืบสานเครื่องเงินชุมชนย่านวัวลายสู่คนรุ่นใหม่ต่อไป
อ้างอิง
Uncategorized , อุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณ. Retrieved 19 มกราคม 2557, from http://watsrisuphan.org/wp/.
สมโชติ อ๋องสกุล, ประวัติวัดศรีสุพรรณ. Retrieved 19 มกราคม 2557, from http://watsrisuphan.com/category/
เว็บบล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 418111 ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย และ418218 โบราณคดีในประเทศไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลในที่นี้มุ่งเน้นเพื่อให้สาระความรู้และความบันเทิง ไม่ใช่งานเขียนเชิงวิชาการและไม่เหมาะสำหรับการนำไปอ้างอิงต่อ
No comments:
Post a Comment