โดย อิสริยาภา คนธาร์
วัดในสมัยสุโขทัยนั้นมีมากมาย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวัดศรีชุมตั้งอยู่บนถนนจรดวิถีคล่อง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เป็นโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระอจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ เป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และมีมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์ เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและสักการะอย่างไม่ขาดสาย
วัดศรีชุม หรือ วัดปอยดำ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้.....รากผัก.....มีพระอจนะ มีปราสาท” พระประธานในมณฑปจึงมีชื่อว่า “พระอจนะ” ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาปลุกปลอบใจขวัญทหาร ซึ่งเป็นที่มาของตำนาน “พระพูดได้” โดยสมเด็จพระนเรศวรได้ให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ และพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร
นอกจากนี้วัดศรีชุมยังเป็นวัดที่ค้นพบ ศิลาจารึกหลักที่ 2 ทำด้วยหินดินดานเป็นรูปใบเสมา ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญยิ่งในการที่จะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่กล่าวถึงสุโขทัยในสมัยก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จารึกหลักที่ 2 นี้ว่าด้วยประวัติของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฑามณี จึงเป็นต้นเค้าของประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึกหลักที่ 2 ซึ่งนักวิชาการได้เรียกการสืบเชื้อสายของคนสองกลุ่มนี้ว่าราชวงศ์ผาเมือง และราชวงศ์พระร่วง นอกจากนี้ วัดศรีชุมมีการวางผังที่แปลกกว่าวัดทั่วไป โดยได้ใช้มณฑปที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานเป็นประธานของวัด เปรียบเป็นอุเทสิกเจดีย์ โดยนักโบราณคดีได้ให้ความเห็นว่ามณฑปพระอจนะน่าจะสร้างโดยมีคติเป็นพระคันธกุฏี คือที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล
วัดศรีชุมถือเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัย ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของชาติไทยเรา ได้ชื่นชมในสถาปัตยกรรมันงดงามและน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ใช่แต่เพียงเฉพาะคนไทยแต่รวมถึงชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยี่ยมชมความสวยงามนี้อีกด้วย
อ้างอิง
เวียงศรีชุม(จังหวัดสุโขทัย). สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2557, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/
วัดศรีชุม. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2557, จาก
http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/natssc.htm
เว็บบล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 418111 ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย และ418218 โบราณคดีในประเทศไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลในที่นี้มุ่งเน้นเพื่อให้สาระความรู้และความบันเทิง ไม่ใช่งานเขียนเชิงวิชาการและไม่เหมาะสำหรับการนำไปอ้างอิงต่อ
No comments:
Post a Comment