วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีประติมากรรม สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่มีความงดงามมาก และยังเป็นสถานที่ๆประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย และถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลกอีกด้วย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า "วัดใหญ่" เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า “พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์” ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า “ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร ๔ ทิศ มีพระระเบียง ๒ ชั้นและทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง ๓ หลัง” ซึ่งภายในวัดมีสิ่งโบราณและสถานโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย เช่น
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย ในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชกล่าวว่า พระพุทธชินราชสร้างในสมัยพระศรีธรรมไตรปิฎก ได้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โดยใช้ช่างจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองหริภุญชัย
บานประตูประดับมุก ที่ทางเข้าพระวิหารด้านหน้า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ เดิมบานประตูวิหารพระพุทธชินราชทำด้วยไม้สักแกะสลัก ปัจจุบันบานประตูเก่าได้นำไปประดับประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ในจังหวัดอุตรดิตถ์
พระเหลือ พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า พระเหลือ และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า วิหารพระเหลือ
พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1811 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า เนินวิหารเก้าห้อง
พระปรางค์ประธาน ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา
พระเจ้าเข้านิพพาน เป็นโบราณวัตถุสมัยอยุธยา นับว่าเป็นชิ้นสำคัญของวัด ถือว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า คาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพ ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตราการ บริเวณด้านหน้าหรือด้านท้ายหีบพระบรมศพมีพระมหากัสสปะเถระนั่งนมัสการพระบรมศพ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย และยังเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ซึ่งได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทยและยังถือได้ว่าสวยงามที่สุดองค์หนึ่งในโลก นอกจากองค์พระพุทธชินราชแล้ว ภายในวัดยังมีสิ่งโบราณและสถานโบราณวัตถุล้ำค่ามากมายให้เราได้เข้าไปกราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเราอีกด้วย
อ้างอิง
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร. Retrieved 1 กุมภาพันธ์ 2557, from http://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชคู่เมืองสองแคว.Retrieved 1 กุมภาพันธ์ 2557, from http://www.thaiticketmajor.com/ข่าวท่องเที่ยว/วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร%20ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชคู่เมืองสองแคว-2030.html
วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) พิษณุโลก Wat Phrasimahathat. Retrieved 1 กุมภาพันธ์ 2557, from http://www.thai-tour.com/thai-tour/north/pitsanulok/data/place/pic_wat-phasrimahathat.htm
No comments:
Post a Comment