พระอจนะ วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

โดย จิรนันท์ ตั้งมั่น

ดินแดนที่ชื่อว่า “สุโขทัย” ซึ่งมีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข”  ถือว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์  เป็นราชธานีแห่งแรกของไทย มีระยะเวลาประมาณ ๗๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ปัจจุบันยังปรากฏซากโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ทั้งด้านศิลปกรรม ด้านสถาปัตยกรรม ด้านจิตรกรรม และด้านวัฒนธรรม  ที่เป็นมรดกอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองสุโขทัยที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานนั่นก็คือ “วัดศรีชุม”

วัดศรีชุม เป็นโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  ตัววัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในวัดปรากฏโบราณสถานขนาดใหญ่ลักษณะเป็นมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  โดยตัวมณฑปนั้นตั้งอยู่บนฐานสูง ซึ่งภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่  มีชื่อว่า “พระอจนะ”

พระอจนะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่  คำว่า “อจนะ” มีผู้ให้ความหมายว่า หมายถึง คำในภาษาบาลี  ซึ่งแปลว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง”  “ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้”  และจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวไว้ว่า “...เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยมีตลาดปสาน มี พระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากกลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก…”  จึงสันนิษฐานกันว่า พระอจนะ ที่กล่าวในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็คือ พระอจนะที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชุม ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองสุโขทัยนั่นเอง

พระอจนะมีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑.๓ เมตร พระชงฆ์ติดผนังสองข้างของมณฑป และมีพื้นที่ หน้าตักกว้างประมาณ ๒๐ ตารางเมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ภายในมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง ๓๒ เมตร  สูง ๑๕ เมตร  มีผนังหนา ๓ เมตร  ผนังด้านซ้ายมีทางเดินในผนังขึ้นไปจนถึงหลังคา  เพดานผนังมีภาพลายเส้นจารบนแผ่นพื้นหินชนวนเรียบจำนวนไม่น้อยกว่า  ๕๐ ภาพ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาดก ชุด ๕๕๐ พระชาติ  โดยช่างเจตนาเล่าเรื่องด้วยภาพคัดเฉพาะตอนสำคัญ  และทุกภาพมีจารึกชื่อเรื่องด้วยอักษรไทยสมัยสุโขทัย ส่วนด้านหน้ามณฑปเปิดเป็นช่องเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปงดงามแต่ไกล

นอกจากเป็นวัดที่มีความสำคัญในสมัยกรุงสุโขทัยแล้ว วัดนี้ยังคงมีความสำคัญจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย  ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จมาพักขบวนกองทัพที่บริเวณวัดศรีชุมนี้  เพื่อให้แม่ทัพนายกองและทหารถือน้ำพระพิพัฒสัตยา ก่อนที่จะเสด็จไปปราบเจ้าเมืองสวรรคโลก(ศรีสัชนาลัย) และเมืองพิชัย

ความสำคัญอีกประการหนึ่งของวัดศรีชุม  คือได้มีการค้นพบ ศิลาจารึก  ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญยิ่งสำหรับการเข้าใจประวัติศาสตร์สุโขทัย  ศิลาจารึกวัดศรีชุมนี้เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๒ ทำด้วยหินดินดานเป็นรูปใบเสมา กว้าง ๖๗ เซนติเมตร สูง ๒๗๕ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งจารึกอักษรไทยสุโขทัยมี ๑๐๗ บรรทัด ด้านที่สองมี ๙๕ บรรทัด มีอายุประมาณ ปี พ.ศ. ๑๘๘๔ – ๑๙๑๐  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ

วัดศรีชุมแห่งสุโขทัย นับได้ว่าเป็นโบราณสถานอันงดงามอลังการและมีความสำคัญมากในอดีตอันยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน  มีพระพุทธรูปประดิษฐานนามว่า “พระอจนะ” อันเป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์มีมนต์เสน่ห์   ถือเป็นเอกลักษณ์การท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัย ชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและสักการะอย่างไม่ขาดสาย  ในฐานะคนรุ่นใหม่เราต้องช่วยกันอนุรักษ์โบราณสถานแห่งนี้ไว้ดังเช่นบรรพบุรุษของเราที่ช่วยกันรักษามายาวนานหลายชั่วคน  ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติถาวรสืบไป


อ้างอิง

มหาวิทยาลัยรามคำแหง  สาขาวิทยาบริการเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดสุโขทัย. วัดศรีชุม.  สืบค้นเมื่อ ๓ มกราคม ๒๕๕๗ ,จาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/natssc.htm#

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย. (๒๕๓๗). มรดกสุโขทัย. สุโขทัย : สุโขทัยการพิมพ์.

สุรศักดิ์ (ไม่ปรากฏนามสกุล). (๒๕๕๓). พาไปย้อนอดีตอันงดงามของวัดศรีชุมแห่งสุโขทัย เมืองแห่งมรดกโลก. สืบค้นเมื่อ ๓ มกราคม ๒๕๕๗ ,จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=647647

เสรี วังส์ไพจิตร. (ม.ป.ป). หนังสือภาพประวัติศาสตร์มรดกโลกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : จีเอเมริท.

No comments:

Post a Comment