พระพุทธรูปสุโขทัยหมวดวัดตระกวน หรือ หมวดเบ็ดเตล็ด

โดย ชนิตา รอยประโคน

อาณาจักรสุโขทัยตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่สำคัญ  ทำให้ได้รับศิลปวัฒนธรรมจากหลากหลาย ที่ผสมผสานกัน ศิลปวัฒนธรรม สมัยสุโขทัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ทั้งช่างชำนาญหลากหลายสาขา และมีการสร้างสรรค์ และสรรสร้างจนกลายมาเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นในรูปของโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่มีคุณค่าแสดงความเป็นไปและพัฒนาการของสุโขทัยด้านศิลปกรรม

ศิลปกรรมแบบสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปกรรมไทยที่งดงามที่สุด และมีลักษณะเป็นของตนเองมากที่สุด  โดยเฉพาะประติมากรรมการสร้างพระพุทธรูป ในยุคสมัยสุโขทัยนั้นได้ติดต่อรับเอาอิทธิของพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทนิกายลังกาวงศ์มาจากเกาะลังกา เหตุนั้นอิทธิพลของศิลปะลังกาจึงมีต่อศิลปะสุโขทัย

พระพุทธรูปแบบสุโขทัยหมวดวัดตระกวนหรือหมวดเบ็ดเตล็ดเป็นอีกผลงานประติมากรรมที่ถูกสร้างสรรค์ พัฒนากลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หมวดวัดตระกวน ถือว่าเป็นพระพุทธรูปยุคแรกของสุโขทัย พบที่กรุวัดตระกวนเป็นครั้งแรก ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อพระพุทธรูปหมวดวัดตระกวนอีกด้วย

พระพุทธรูปหมวดวัดตระกวน เป็นหมวดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบเชียงแสน แบบลังกากับแบบสุโขทัยเข้าด้วยกัน โดยรูปแบบเป็นพระพุทธรูปนั่ง แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์กลมแบนไม่เหมือนแบบพระพุทธรูปสุโขทัยโดยทั่วไป พระนลาฏค่อนข้างเล็กและแคบ พระเกศเป็นแบบเปลวสูง ขมวดพระเกศาใหญ่เป็นแบบก้นหอย พระรัศมีดอกบัวตูม พระเนตรหลุบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้มเล็กน้อย พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย แต่แลดูเคร่งขรึมกว่าพระพุทธรูปสุโขทัยโดยทั่วไป  พระวรกายอวบอ้วนคล้ายคลึงพระพุทธรูปเชียงแสน ทรงห่มจีวรเฉียง บางองค์มีลักษณะชายสังฆาฏิหรือจีวรสั้น  เหนือพระอุระชายแยกคล้ายเขี้ยวตะขาบ แต่พระองค์และฐานมักเป็นแบบสุโขทัยทั่วไป โดยฐานลักษณะเป็นฐานเขียง แต่ต่างจากแบบสุโขทัยทั่วไป คือบางและแคบกว่า

พระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้บางองค์อาจเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของศิลปะสุโขทัย เช่น บรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นที่ค้นพบ ณ พระเจดีย์ทางทิศตะวันออก  และในพระปรางค์วัดพระพายหลวงซึ่งเป็นวัดเก่าในสมัยสุโขทัย ซึ่งอยู่ในหมวดวัดตระกวน ตัวอย่างพระพุทธรูปปูนปั้นระบายสี สูง ๘๓ เซติเมตร พบที่วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เป็นศิลปะสุโขทัย หมวดวัดตระกวน รุ่นแรกของสุโขทัย อายุราวต้นศตวรรษที่ ๑๙ ลักษณะพระพักตร์กลม พระนลาฏแคบ พระวรกายอวบอ้วน ทรงจีวรเฉียง ชายสังฆาฏิสั้น เหนือพระอุระชายแยกเขี้ยวคล้ายตะขาบ รัศมีหักหายไป

พระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่มีอิทธิพลของศิลปะลังกาเข้ามาผสมผสานอยู่มาก และจัดอยู่ในหมวดวัดตระกวนนั้น คือ พระพุทธสิหิงค์ สัมฤทธิ์กะไหล่ทอง สูง ๗๓ เซนติเมตร ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามตำนานกล่าวว่าได้มาจากเกาะลังกาในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราชราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แต่ลักษณะฝีมือช่างที่ปรากฏอยู่เป็นศิลปะไทยผสมผสานศิลปะลังกาเข้าด้วยกัน  และพระพุทธสิหิงค์นั้นประดิษฐานในเมืองต่าง ๆ หลายเมือง เช่น นครศรีธรรมราช สุโขทัย อยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่ และถูกขัดแต่งหรือคลี่คลายจนกลายเป็นพระพุทธรูปแบบฝีมือช่างไทย หรือการที่พระพุทธสิหิงค์องค์เดิมสูญหายไป ช่างจึงหล่อขึ้นใหม่

พระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ถือได้ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวถึงแม้ว่าจะมีการผสมผสานหรือได้รับอิทธิพลจากศิลปะหลายแหล่ง แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์และพัฒนาเป็นศิลปะแบบสุโขทัยอันมีความงดงาม อ่อนช้อย  จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในที่สุด และพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัยยังเป็นแม่แบบของการสร้างพระพุทธรูปในสมัยต่อ ๆ มาอีกด้วย ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ได้ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะอยุธยา แม้ว่าจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาแล้วก็ตาม อีกทั้งประติมากรรมพระพุทธรูปยังเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นสื่อสะท้อน แนวคิด จินตนาการ และทักษะฝีมือของช่างในสมัยนั้น ทั้งนี้ประติมากรรมพระพุทธรูปไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปแบบวัดตระกวน หรือแบบใดก็ตามนั้นย่อมบอกเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ของคนในสังคม ทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา และการติดต่อกับอาณาจักรอื่นๆ ซึ่งเป็นผลทำให้ได้รับอิทธิจากอาณาจักรนั้นๆร่วมด้วย นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมด ทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษสรรค์สร้าง และทิ้งเอาไว้ให้ลูกหลานได้ทำนุบำรุง เสมือนเป็นมรดกตกทอดที่มีคุณค่า และควรค่าแก่การรัก และหวงแหน

อ้างอิง

พระพุทธรูปสุโขทัย หมวดวัดตะกวน. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http: //hailantian 518. blogspot.com/2011/08/blog-post_23.htm

ราม วัชรประดิษฐ์. พระพุทธรูปสุโขทัย ศิลปะตะกวนและบริสุทธิ์.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ                1 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXd OakkwTVRBMU5BPT0=

วาทิน ศานติ์ สันติ. ประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัย : ประติมากรรมสุโขทัยโดยสังเขป. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http://www.gotoknow.org/posts/486337

สุรศักดิ์  ชะมารัมย์. ชำเลืองมองลักษณะพระพุทธรูปไทยสมัยสุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http://www.stou.ac.th/study/sumrit/10-55(500)/page1-10-55(500).html

No comments:

Post a Comment