วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่

โดย ศิรดา  ฮอหรินทร์

หากจะกล่าวถึงวัดประจำปีเกิดนักษัตร คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงวัดเก่าแก่ชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงาม โดดเด่นด้วยอิทธิพลสุโขทัย และรายล้อมไปด้วยย่านเมืองเก่า ทำให้วัดเกตการาม เป็นสถานที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเที่ยวเชียงใหม่

เดิมวัดเกตการามมีชื่อว่า วัดสระเกษหรือวัดเกตุแก้ว ตั้งอยู่บนถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1971 สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน (พระราชบิดาของพระเจ้าติโลกราช) กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 8 พระองค์ทรงโปรดให้พระยาเมือง พระยาคำ และพระยาลืม สร้างวัดเกตการามขึ้น โดยคำว่า "เกศ" มาจากชื่อของพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสถานที่สำคัญและน่าสนใจอีกหลายแห่งด้วยกันประกอบด้วย

พระเจดีย์เกษแก้วจุฬามณี เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จกว้าง 82 วา และยาว 63 วา แต่ละมุมฐานมีปูนปั้นรูปพญาครุฑ และเจดีย์บริวาร ทรงระฆังคว่ำประดับด้วยกระจกแก้วสี ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น พระเจดีย์เกษแก้วจุฬามณีถูกกำหนดให้เป็นพระธาตุประจำปีจอที่สร้างขึ้นจำลองพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาไว้บนโลกมนุษย์ ด้วยเหตุที่มนุษย์เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ นอกจากนี้องค์พระธาตุมีความเอียงเล็กน้อย เพราะไม่ต้องการให้ยอดเจดีย์ชี้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงความอ่อนน้อม และไม่ล่วงเกินต่อพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีองค์จริง


พระเจดีย์เกษแก้วจุฬามณี

ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ง มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็นส่วนๆ โดยโทณพราหมณ์เป็นผู้แบ่ง และได้ขโมยซ่อนพระทันตธาตุไว้ในมวยผม จึงถูกพระอินทร์ลงมาขโมยต่อ แล้วนำพระทันตธาตุนี้ ไปประดิษฐานไว้ในพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อเจดีย์จุฬามณีเป็นเจดีย์ที่อยู่ไกลถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงมีการสมมุติให้เจดีย์องค์หนึ่งในประเทศพม่าเป็นที่กราบไหว้แทน คนไทยจึงเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุอินทร์แขวน” พระธาตุอินทร์แขวนองค์นี้ ตั้งอยู่บนก้อนหินสูง 5.5 เมตร ใต้เจดีย์เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ โดยอนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะข้ามเข้าไปกราบและปิดทองถึงพระองค์ธาตุได้

พระอุโบสถ เป็นอาคารปูนตามแบบสถาปัตยกรรมมาล้านนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด จุดเด่นคือ มีมกรคายนาคสีคล้ำ 2 ตัว ขนาบข้างไปกับราวบันไดแล้วม้วนชูตัวขี้นมา แสดงให้เห็นถึงศรัทธาอันแรงกล้าที่ต้องการรับใช้และปกป้องพระพุทธศาสนา และบานประตูไม้แกะอ่อนช้อยสลักรูปเทพพนมสีทองบนลวดลายสีแดง บริเวณด้านข้างบานประตูยังมีลวดลายปูนปั้นรูปกิเลน มังกร ปลา และต้นไม้แบบจีนประดับทั้งสองข้างบานประตู แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของชาวจีนที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำปิงเมื่อครั้นในอดีต ทำให้พระอุโบสถนี้มีความงดงามจากการผสมผสานวัฒนธรรมไทยและจีนได้อย่างลงตัว แม้พระอุโบสถหลังนี้จะปิดไว้ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้ เนื่องจากเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และจะเปิดใช้เฉพาะงานพิธีอุปสมบทเท่านั้น อีกทั้งยังห้ามสุภาพสตรีขึ้นไป แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถชื่นชมความงดงามของพระอุโบสถได้จากทางด้านนอก


พระอุโบสถ
ที่มา : http://www.tripchiangmai.com/

พระวิหารหลวง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 9 ห้อง สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ตัวอาคารมีเสาคู่ในการรองรับหลังคาหน้าจั่วเรียงซ้อนกัน 5 ชั้น ชั้นนอกสุดเป็นมุขคลุมบริเวณหน้าบันไดนาค ส่วนเสาคู่นอกรองรับแนวหลังคาปีกนกย่อเก็จ 3 ตอนในแนวตะวันออก - ตะวันตก โดยแต่ละตัวเสามีลวดลายสีทองงดงาม บริเวณหัวเสาประดับด้วยแก้วอังวะ ส่วนหน้าบันประดับงานไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษา ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธปางมารวิชัย ทางด้านหลังของพระวิหารประดับด้วยกระจกแก้วสีต่างๆ เกิดเป็นลวดลายสวยงามมาก


พระวิหารหลวง
ที่มา : http://www.tripchiangmai.com/

ศิลาจารึกวัดเกต ตั้งอยู่บนมุขทางใต้ของพระวิหาร มีความกว้าง 58 เซนติเมตร สูง 176 เซนติเมตร หนา 21 เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรฝักขามบนหินทรายสีแดง ด้านหน้าของศิลาจารึก อักษรเลือนหายไปหมด เหลือเพียงดวงศิลาจารึก ส่วนด้านหลังของศิลาจารึกยังพอหลงเหลือตัวอักษรอยู่บ้าง

กุฏิพระสงฆ์ สามเณร เป็นอาคารไม้ยกสูงสองชั้นที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมหลายส่วนเข้าด้วยกันอย่างลงตัวงดงาม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมตะวันตกจะสังเกตได้จากมีการประดับตัวคิวปิดบริเวณบานประตู หรือจะเป็นศาลพระภูมิที่ได้ต้นแบบทั้งแนวคิดและรูปแบบมาจากพม่า ตัวอาคารมีทางขึ้นเป็นมุขยื่นออกมา 2 ด้าน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2462 โดยนายจีนอินทร์ และนางจีบ ซิ้มกิวฮั่วเซ้ง เพื่อใช้เป็นโรงเรียนสอนนักธรรมบาลี ปริยัติธรรม ต่อมาไม่มีการเรียนการสอนจึงปรับปรุงให้เป็นกุฏิพระสงฆ์ สามเณร


กุฏิพระสงฆ์
ที่มา : http://www.tripchiangmai.com/

พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม เป็นอาคารไม้เก่าแก่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2543 จากความร่วมมือของคุณจรินทร์ เบนเและชาวบ้านย่านวัดเกต ทำการบูรณะกุฏิอดีตเจ้าอาวาสให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงของเก่าแก่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินตราที่ใช้ในอดีต ถ้วยโถโอชาม เสื้อผ้าชาวล้านนา พระพุทธรูปเก่าแก่ และภาพถ่ายเมืองเชียงใหม่ครั้งอดีต  ที่เมื่อเข้าไปชมแล้วรู้สึกราวกับว่านั่งไทม์แมชชีนไปดูเมืองเชียงใหม่ในอดีตกันเลยทีเดียว


พิพิธภัณฑ์วัดเกตการาม
ที่มา : http://www.tripchiangmai.com/

สำหรับผู้ที่อยากไปเที่ยวชมวัดเกตการามนั้นสามารถเดินทางไปได้ไม่ยาก การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวสามารถขับจากตัวเมืองเชียงใหม่ตรงมาที่สะพานนวรัตน์ ข้ามสะพานแล้วให้เลี้ยวซ้ายเลียบตามถนนเจริญราษฎร์ (ถนนริมน้ำปิง) ประมาณ 500 เมตร จะเห็นวัดอยู่ฝั่งขวามือ หรือสามารถนั่งรถสองแถวแดงจากสถานีขนส่งอาเขต เชียงใหม่ มาลงที่หน้าวัดเกตการามได้เลย เสียค่าโดยสารเพียง 15 บาทเท่านั้น โดยวัดเกตการามเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น.

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จะเห็นได้ว่าแม้จะผ่านกาลเวลามาหลายร้อยกว่าปี แต่วัดเกตการามยังคงเป็นสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงาม จนกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนย่านวัดเกตการามได้เป็นอย่างดี




อ้างอิง

Lady Darika.  (2557).  นมัสการพระธาตุปีจอที่ “วัดเกตการาม” หัวใจฝั่งตะวันออกของแม่ปิง.  สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2558, จาก http://www.tripchiangmai.com/

Guidelanna.  (2558).  ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2558, จาก http://www.guidelanna.com/

วัดเกตการาม วัดสวยเมืองเชียงใหม่.  (2557).  วัดเกตการาม วัดสวยเมืองเชียงใหม่.  สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2558, จาก http://www.chiangmaionly.com/วัดเกตการาม-วัดสวยเชียงใหม่/

อ่านเพิ่มเติม »

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

โดย ศรัณยา เจริญถนอม

ประวัติศาสตร์ไทย เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมาในอดีตของแต่ละยุค แต่ละสมัย ก่อนที่จะมาเป็นชนชาติไทยในปัจจุบัน สิ่งที่จะทำให้ผู้ที่สนใจศึกษาทราบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้นั้นคือแหล่งโบราณสถานต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย และอุทยานทางประวัติศาสตร์จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่จะบอกได้ถึงต้นกำเนิดของประเทศ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมในอดีตได้ดียิ่ง  เมื่อกล่าวถึงอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” อุทยานที่มีโบราณสถานต่างๆ ที่มีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัยและเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในยุคแรกของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย บริเวณที่เรียกว่า “แก่งหลวง” ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 550 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตของตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งหมดประณ 45.14 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่อว่า “เมืองเชลียง” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีสัชนาลัย” ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง (สำนักงานสุโขทัย, ม.ป.ป.)


ที่มา : www.thongthailand.com

เมืองโบราณศรีสัชนาลัย มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขาพระศรีและเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก และมีลำน้ำยม ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน คือ มีทั้งที่ราบลุ่มริมแม่น้ำและที่ราบเชิงเขา ทำให้มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และลักษณะทางธรรมชาติที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดี มีขอบเขตของผังเมืองที่ก่อสร้างทับซ้อนอยู่บนบริเวณเมืองเชลียงเดิม กล่าวคือ แนวกำแพงเมืองเชลียงเดิมทำเป็นคันดินยาวขนานไปตามลำน้ำ เริ่มจากบริเวณวัดมหาธาตุเชลียงไปตามลำน้ำยมเลยผ่านเขาพนมเพลิงออกไป (ซึ่งปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานคันดินให้เห็นอยู่) ต่อมา เมื่อได้มีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น จึงได้พิจารณาเลือกบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา มีการก่อสร้างกำแพงเมืองด้วยศิลาแลง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปหลายเหลี่ยมไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของลำน้ำยม ลักษณะของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยมีหลายแนว เนื่องจากมีการผสมผสานนำเอาแนวกำแพงคันดินในสมัยที่เป็นเมืองเชลียงเข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมีโบราณสถานอันเก่าแก่ทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง สำรวจค้นพบแล้วประมาณ 284 แห่ง ซึ่งภายในกำแพงเมืองนั้น มีโบราณสถานที่สำคัญๆ เช่น วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดนางพญา เป็นต้น

วัดช้างล้อม อายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ 19 มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงลังกา(ทรงระฆัง)ขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ฐานประทักษิณมีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน และที่มุมมีช้างทรงเครื่องขนาดใหญ่ประดับอยู่ ช้างปูนปั้นที่วัดช้างล้อมนี้มีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง(มหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย, ม.ป.ป.)      


ที่มา : www.thongthailand.com

วัดเจดีย์เจ็ดแถว อายุราวพุทธศวรรษที่ 19-20 มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์(รูปดอกบัวตูม) มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ เดิมมีคูน้ำล้อมรอบ เจดีย์รายได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะต่างๆ หลายแห่ง เช่น ลังกาและพุกาม เป็นทรงปราสาทห้ายอด ซุ้มจรนัมเป็นเจดีย์ทรงกลม 5 องค์ ทำเป็นแท่งสูง(ฝักเพกา) โดยมีองค์ใหญ่เป็นประธานและมีเจดีย์ประจำมุม 4 องค์ ประดับด้วยพระพุทธรูปลีลาปูนปั้นในซุ้มเรือนธาตุ มีภาพจิตรกรรมใช้สีแบบเอกรงค์เป็นภาพพระพุทธเจ้าและมีเหล่าเทวดากษัตริย์มาแวดล้อมถวายดอกไม้


ที่มา : www.thongthailand.com

วัดนางพญา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา(ทรงระฆัง)ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้าและมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ผนังด้านทิศใต้ยังมีลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม คือ ลายกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนม รูปแบบได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา(ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2542)


ที่มา : www.thongthailand.com

ส่วนโบราณสถานที่อยู่ภายนอกกำแพงเมือง เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ถือว่าได้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาก่อนเมืองศรีสัชนาลัย มีโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ ปรางค์ประธานเป็นศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างครอบทับสถูปหรือเจดีย์เดิม ด้านหน้าพระปรางค์มีวิหารหลวง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย มีเจดีย์รายแบบศิลปะสุโขทัยล้อมรอบ ซุ้มประตูมีปูนปั้นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นศิลปะขอมแบบบายน ด้านทิศตะวันตกของกำแพงแก้วมีโบราณสถานพระธาตุมุเตามณฑปพระอัฏฐารส (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2553)


ที่มา : www.thongthailand.com

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 40  บาท หรือสามารถซื้อตั๋วรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท ในกรณีที่นำยานพาหนะเข้าภายในเขตอุทยานฯ เสียค่าธรรมเนียมอีก ราคา 10 - 50 บาท และทางอุทยานฯ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท  หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอวิทยากรนำชม หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  64130 โทร. 0 - 5567 - 9211(สำนักงานสุโขทัย, ม.ป.ป.)

แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมายาวนานหลายยุค หลายสมัย แต่ก็มิอาจลบเลือนสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ที่แสนงดงามนี้ได้หมดสิ้น ยังคงหลงเหลือร่องรอยไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรื่องราวในอดีตสืบต่อไป อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยจึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สถานที่หนึ่งที่น่าไปเที่ยวชมอย่างยิ่ง บริเวณอุทยานฯ มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่น่าเข้าเยี่ยมชมอยู่มากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศ และด้วยเหตุนี้เอง จึงได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก




อ้างอิง

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  วัดเจดีย์เจ็ดแถว.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.m-culture.in.th/ .
 (วันที่ค้นข้อมูล : 29 พฤศจิกายน 2558).

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  วัดนางพญา.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/169152/ .
 (วันที่ค้นข้อมูล : 29 พฤศจิกายน 2558).

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/39979/ .
 (วันที่ค้นข้อมูล : 29 พฤศจิกายน 2558).

สารสนเทศวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย.  วัดช้างล้อม.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/srinatcl.htm .
(วันที่ค้นข้อมูล : 29 พฤศจิกายน 2558).

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.  [ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://kanchanapisek.or.th/kp6/ .
(วันที่ค้นข้อมูล : 30 กันยายน 2558).

สำนักงานจังหวัดสุโขทัย.  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.sukhothai.go.th/tour/tour_02.htm .
(วันที่ค้นข้อมูล : 30 กันยายน 2558).

สำนักโบราณคดี.  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.
[ระบบออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.finearts.go.th/ .
(วันที่ค้นข้อมูล : 30 กันยายน 2558).


อ่านเพิ่มเติม »

วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร จังหวัดสกลนคร

โดย ปุณยวัจน์ ศุภวุฒิ

มีผู้กล่าวกันว่าหากได้มาเยือนจังหวัดสกลนครแล้ว แต่ไม่ได้มาสักการะวัดพระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระองค์แสน ก็ถือว่ายังมาไม่ถึงจังหวัดแห่งนี้

วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีเนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา ตั้งอยู่ปลายสุดของถนนเจริญเมือง มีอาณาเขตในแต่ละด้าน คือ ทิศเหนือและทิศตะวันออก  ติดกับทะเลสาบหนองหารและบ้านเรือนชุมชน ทิศตะวันตก  ติดกับถนนเรืองสวัสดิ์  ทิศใต้  ติดกับถนนเจริญเมือง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาช้านาน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีสำคัญของ จังหวัดสกลนครอีกด้วย


ที่มา: https://th.wikipedia.org/

การสร้างวัดพระธาตุเชิงชุมนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีแต่เพียงตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์ ได้เสด็จจากพระวิหารเชตวัน  พระองค์ทรงเสด็จมาตามลำแม่น้ำโขง และได้เสด็จผ่านไปยังรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ  อันได้แก่  พระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทโพนเพล พระพุทธบาทเวินปลา ภูกำพร้า ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนม พระพุทธบาทที่ภูน้ำลอดเชิงชุม พระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าพระนามกกุ-สันธะ พระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าพระนามโกนาคมะ และพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าพระนามกัสสปะ

เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงบริเวณที่ตั้งวัดพระธาตุเชิงชุมในปัจจุบัน  พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ เจ้าผู้ครองเมือง ณ ขณะนั้นทรงทราบข่าว  พระองค์จึงได้เสด็จออกพร้อมด้วยพระนางนารายณ์เจงเวงราชเทวี  เพื่อมาต้อนรับพระพุทธองค์  พระพุทธองค์ได้มีพุทธประสงค์ให้พระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น  จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ โดยบันดาลให้มีดวงมณีรัตน์ซึ่งมีรัศมีพวยพุ่งออกจากพระโอษฐ์พร้อมกันสามดวง พระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ก็บังเกิดความศรัทธา เปล่งวาจาสาธุการด้วยความปิติ  พระเจ้าสุวรรณภิงคาระจึงถอดพระมงกุฎทองคำของพระองค์ สวมบูชารอยพระพุทธบาทไว้  จากนั้นจึงได้สร้างเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า พระธาตุเชิงชุม  ส่วนบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรอื่นๆ  ที่กล่าวถึงพระธาตุเชิงชุมนั้น มีปรากฏในพงศาวดารลาวในสมัยพระไชยเชษฐาธิราช  แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต อาณาจักรล้านช้าง  เรียกพระธาตุเชิงชุมว่า  พระธาตุหนองหาน

สิ่งก่อสร้างภายในวัดพระธาตุเชิงชุมประกอบไปด้วย  องค์พระธาตุเชิงชุม พระวิหาร อุโบสถ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หอกลอง และยังมีหลวงพ่อพระองค์แสน พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนครประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดตามลำดับดังนี้

พระธาตุเชิงชุม องค์พระธาตุนั้นหันหน้าไปทางทะเลสาบหนองหารที่อยู่ทางทิศตะวันออก  เป็นศิลปะแบบล้านช้าง  มีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน  รูปทรงสี่เหลี่ยม  สูง  24  เมตร  ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม  ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม  ไม่มีลวดลายประดับ  ที่ฐานเจดีย์มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน  ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท  ข้างในทึบ  สร้างด้วยศิลาแลงและหินทรายแดง  มีซุ้มประตูหลอกแบบขอมอยู่ทางด้านทิศเหนือ  ทิศใต้  และทิศตะวันตก  ซุ้มประตูทางเข้าจริงอยู่ทางด้านทิศตะวันออก


ที่มา: http://www.oknation.net/

พระวิหาร มีขนาดกว้างประมาณ 6 เมตร  ยาวประมาณ 30 เมตร หลังคาลดชั้น ด้านหน้าลด 2 ชั้น ด้านหลังลด 2 ชั้น เครื่องยอดหลังคาประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ป้านลมเป็นแบบนาคสะดุ้ง มีคันทวยรองรับหลังคา ประดับตกแต่งด้วยซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างอย่างงดงาม  เสาอาคารเป็นเสาสี่เหลี่ยมหัวบัวแวง

ภายในพระวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อพระองค์แสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย เป็นศิลปะแบบเชียงแสน มีรัศมีเปลว เม็ดพระศกเล็ก พระพักตร์กลม  พระขนงโก่ง  พระนาสิกโด่ง  พระวรกายอวบอ้วน  ห่มจีวรบางแนบเนื้อ ห่มแบบเฉียง ปลายสังฆาฏิเสมอพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ขวาทั้งสี่ยาวเรียวเสมอกัน  ประทับนั่งอยู่บนฐานชุกชีสูง 1.35 เมตร ขัดสมาธิราบ  ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากฐานถึงพระเมาลี  3.20 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฎางค์เข้าหาองค์พระธาตุ หลวงพ่อพระองค์แสนเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร คู่กับองค์พระธาตุเชิงชุม ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระวิหาร อีกทั้งยังเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากอีกองค์หนึ่งของประเทศไทย

พระอุโบสถ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2370  สร้างทับพระอุโบสถหลังเดิม มีลักษณะเป็นอุโบสถแบบโถง โครงสร้างเป็นไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นกระเบื้อง  หันหน้าไปทางทิศใต้ ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวรอบอาคาร หน้าบันมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา  ดาวประจำยาม  มังกรและเถาไม้เลื้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งที่สร้างด้วยไม้และเป็นปูนปั้น

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์  เป็นบ่อน้ำที่มีมาพร้อมองค์พระธาตุเชิงชุม เดิมมีน้ำพุผุดขึ้นมาเนื่องจากเป็นปลายทางของลำน้ำใต้ดินซึ่งไหลมาจากเทือกเขาภูพาน  ผ่านศูนย์ราชการด้านทิศเหนือ  ผ่านใจกลางเมืองข้างวัดเหนือ  แล้วไหลมาผุดที่บริเวณนี้ เรียกว่า “ภูน้ำซอด” หรือ “ภูน้ำลอด” จากนั้นไหลผ่านไปที่สระพังทองในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ซึ่งอยู่ติดกับวัด ต่อมาปรากฏว่าปริมาณน้ำในบ่อลดน้อยลงเรื่อย ๆ  ทางวัดจึงได้มีการทำผนังกั้นไม่ให้ดินพังลงไป ในอดีตนั้นจะมีการนำน้ำจากบ่อน้ำที่นี่ไปประกอบพิธีกรรมสำคัญต่างๆ อีกด้วย

หอกลอง หรือ หอระฆัง มีลักษณะเป็นหอกลองสูง  มีทั้งหมดสามชั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยชาวเวียดนามที่ได้อพยพเข้ามาพำนักอาศัย ณ จังหวัดสกลนคร โดยมีจุดประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่องค์พระธาตุเชิงชุม อีกทั้งยังสามารถใช้บอกเวลายามต่างๆ ได้อีกด้วย

การเดินทางโดยรถยนต์มายังวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร  นั้น  หากมาจากกรุงเทพ ฯ ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 เมื่อถึง จังหวัดสระบุรี  ให้เลี้ยวขวาเข้า ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่าน จ.นครราชสีมา จากนั้นให้เลี้ยวไปทาง  อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ทางหลวงหมายเลข 2) ไปจนถึงบ้านท่าพระ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่าน จังหวัดนครราชสีมา  และ  จังหวัดกาฬสินธุ์  และใช้ทางหลวงหมายเลข 213 เพื่อเข้าสู่จังหวัดสกลนคร    

วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร  ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวสกลนครและนับเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนา  ซึ่งบรรพบุรุษของชาวสกลนครได้เฝ้าทำนุบำรุงวัดแห่งนี้ด้วยความรัก  ความศรัทธาอย่างสูงสุด  สมควรที่คนรุ่นหลังจะสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษให้วัดพระธาตุเชิงชุมคงอยู่และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวสกลนครสืบไป


อ้างอิง

วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร  จ.สกลนคร.  สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม  2558,  จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระธาตุเชิงชุม

หลวงพ่อพระองค์แสน  วัดพระธาตุเชิงชุม.  สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม  2558,  จาก https://th.wikipedia.org/พระองค์แสน

แกะรอยอดีต “พระธาตุเชิงชุม” 4 อารยธรรม. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม  2558, จาก http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539692345

อ่านเพิ่มเติม »

เที่ยวสุโขทัย - วัดมหาธาตุ1

วัดมหาธาตุ เป็นวัดสำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมือง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ภายในวัดประกอบด้วยพระเจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือดอกบัวตูม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย ล้อมรอบไปด้วยเจดีย์รายทรงปราสาทแปดองค์เป็นเจดีย์ประจำมุมและประจำทิศ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และยังมีเจดีย์อื่นๆ ที่มีขนาดและรูปทรงที่หลากหลายรวมกันมากถึง 200 องค์ กระจายอยู่โดยรอบ นอกจากนั้ยังมีวิหาร มณฑปพระอัฏฐารส และพระอุโบสถ อันเป็นร่องรอยที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกที่ไม่ควรพลาดในการมาเยือนสุโขทัย



จัดทำโดย:

อานนท์ ศรีสุวรรณ์
ศิริพร จันทะศูนย์
เจนจิรา ยอดชัยภูมิ
ประภาพร อรดี
สลิตา พานคำ


สาขาอาณาบริเวณศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อ่านเพิ่มเติม »

เที่ยวสุโขทัย - วัดสระศรี

วัดสระศรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ ในเขตกำแพงเมือง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยตั้งอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ที่ชื่อ ตระพังตระกวน โบราณสถานสำคัญภายในวัดประกอบด้วย เจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกาเป็นประธานของวัด วิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เจดีย์ขนาดเล็กมีซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ และพระอุโบสถซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ  นับได้ว่าเป็นวัดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามน่ามาเยี่ยมชมมากๆ อีกแห่งหนึ่ง



จัดทำโดย

กฤษฎา อินทรปพงศ์
ศรัณยา เจริญถนอม
ณานันท์ชนม์ คำใบ
ดุสิตา ภูสิงห์
เกศฎาพร อานแดง


สาขาอาณาบริเวณศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อ่านเพิ่มเติม »

เที่ยวสุโขทัย - วัดมหาธาตุ2

วัดมหาธาตุ เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่กลางเมือง สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย โดยมีพระเจดีย์มหาธาตุทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัวตูม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย เป็นประธานวัด ล้อมรอบไปด้วยเจดีย์น้อยใหญ่จำนวนมากถึง 200 องค์ ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ยังมีวิหารหลวงขนาดใหญ่ สร้างด้วยศิลาแลง แต่เดิมเคยมีพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ แต่ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร  ภายในวัดยังมีมณฑปประดิษฐานพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับยืนภายในซุ้ม ขนาบอยู่ทั้งสองข้างของพระเจดีย์ รวมแล้วมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมากมายและมีรูปแบบศิลปะผสมผสานหลายยุคสมัย ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชมยิ่งนัก



จัดทำโดย:

ธรณินทร์ จารุรัตนานนท์
คณาธิป ศรีพัฒนกุล
ปริญญา แซ่จึง
จุไรวรรณ มาตราแสง
อุทุมพร ทัดบุตร


สาขาอาณาบริเวณศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อ่านเพิ่มเติม »

เที่ยวสุโขทัย - วัดศรีชุม

วัดศรีชุมตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ใกล้ๆกับประตูศาลหลวง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สิ่งก่อสร้างสำคัญและเป็นประธานของวัดคือ อาคารพระมณฑป ที่มีผนังกำแพงหนาเนื่องจากเจาะเป็นอุโมงค์ที่ผนังขึ้นไปสู่ด้านบน ภายในพระมณฑปประดิษฐาน "พระอจนะ" พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่  ที่มีพุทธลักษณะงดงาม และมีเรื่องเล่าลือกันเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของ “พระพุทธรูปพูดได้” วัดศรีชุมจึงเป็นไฮไลท์อีกแห่งหนึ่งของเมืองมรดกโลกสุโขทัยที่ไม่ควรพลาด




จัดทำโดย:

ปุณยวัจน์ ศุภวุฒิ
กชกานต์ แก่นจันทร์
เอกราช จันทา
ชนะพล ตนายะพันธุ์
กรรณิการ์ พรยิ้ม
มารุต พลายอยู่วงษ์

สาขาอาณาบริเวณศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อ่านเพิ่มเติม »

เที่ยวสุโขทัย - วัดศรีสวาย

วัดศรีสวาย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ ในเขตกำแพงเมืองของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ รูปทรงค่อนข้างเพรียว ซึ่งดัดแปลงมาจากทรงปราสาทแบบขอม องค์ปรางตั้งอยู่บนฐานเตี้ย แต่เดิมสร้างขึ้นเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะเคยพบชิ้นส่วนของทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ เทวรูป และศิวลึงค์ ต่อมาได้ถูกดัดแปลงให้เป็นพุทธสถาน มีการต่อเติมวิหารที่บริเวณด้านหน้าขององค์ปรางค์ วัดศรีสวาย นับได้ว่าเป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ที่การผสมผสานด้านศิลปกรรม มีความน่าสนใจที่ไม่ควรพลาดชมเลยค่ะ



จัดทำโดย:

ปิยะกมล มหิวรรณ
รุ้งตะวัน ทุมสิทธิ์
ภัทรพร เหล่าอยู่คง
ศิรดา ฮอหรินทร์

สาขาอาณาบริเวณศึกษา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น


อ่านเพิ่มเติม »