วัดพระสี่อิริยาบทหรือวัดพระยืน จังหวัดกำแพงเพชร

โดย กรกนก ทาเนตร

ในสมัยสุโขทัยนั้นมีศิลปกรรมที่สวยงามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะเกี่ยวกับวัด วิหารหรือโบถส์ซึ่งตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่20-22 โดยเฉพาะพระพุทธรูปลีลาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะสุโขทัยโดยอาจได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียก็ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสี่อิริยาบทด้วยเช่นกัน ดังนั้งศิลปะสุโขทัยส่วนมากจึงเป็นศิลปะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น

วัดพระสี่อิริยาบถเป็นวัดขนาดใหญ่วัดหนึ่งสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ภายในบริเวณวัดก่อด้วยศิลาแลงและมีอิฐปนอยู่บ้างเล็กน้อย  ภายในวัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส  สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดนี้นั้นอยู่ในเขตพุทธาวาสคือ  วิหาร  เจดีย์รายประจำมุมและมณฑปรอบ ๆ บริเวณวัดมีคูน้ำซึ่งเกิดจากการขุดตัดศิลาแลงไปใช้ในการก่อสร้างวิหารของวัดนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าของมณฑปก่อด้วยศิลาแลงซึ่งเป็นฐานที่ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่และมีการย่อมุม   บนลานประทักษิณมีวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีขนาด  7  ห้อง  ภายในมีแท่นอาสนะสงฆ์และฐานชุกชี ซึ่งมีร่องรอยพระพุทธรูปประธานปูนปั้นประทับนั่ง

เจดีย์รายประจำมุมตั้งอยู่ประจำมุมกำแพงแก้วเจดีย์ราย  2  องค์หน้าเป็นเจดีย์ทรงปราสาท  ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกาม  กล่าวคือส่วนเรือนธาตุมีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูป  ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง นอกจากนี้ยังมีลักษณะสำคัญคือมีบัวปากระฆังเป็นบัวคว่ำบัวหงาย มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลของศิลปะปาละ ส่วนเจดีย์  2  องค์หลังเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม

สิ่งก่อสร้างที่คงสภาพสมบูรณ์ที่สุดของวัดคือ มณฑป ตั้งอยู่ด้านหลังของวิหาร ใช้แทนเจดีย์พระประธาน สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นอาคารที่มีหลังคาคลุม  ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมในศิลปะพุกาม กล่าวคือช่างชาวสุโขทัยอาจปรับปรุงแกนสี่เหลี่ยมนี้มาจากโครงสร้างสี่เหลี่ยมกลางห้องคูหาในศิลปะพุกาม ซึ่งก่อไว้รองรับน้ำหนักส่วนบน อีกทั้งด้านทั้ง 4 ของเสาประดิษฐานพระพุทธรูปยืนอีกด้วย  มณฑปที่วัดพระสี่อิริยาบถนี้ผนังทั้ง  4  ด้านก็จะประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นกันแต่จะมีปางต่าง ๆ กันในแต่ละด้าน คือ  ประกอบด้วย อิริยาบถยืน (ปางประทานอภัย) อิริยาบถเดิน(ปางลีลา) อิริยาบถนั่ง (ปางมารวิชัย) และอิริยาบถนอน (ปางไสยาสน์) โดยปัจจุบันเหลือเพียงอิริยาบถยืน (ปางประทานอภัย) ที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์กว่าอิริยาบถอื่นๆซึ่งการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถทั้ง  4  นี้ไว้รวมกลุ่มกันถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะสุโขทัย

มีนักวิชาการหลายท่านที่ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า  การรวมกลุ่มของพระพุทธรูป  4  องค์อาจจะแสดงความหมายอื่นบางประการ  ซึ่งในที่นี้จะขอยกข้อสันนิษฐานสำคัญไว้  2  ประการดังต่อไปนี้

1.การสร้างพระพุทธรูป  4  อิริยาบถรวมเข้าไว้ด้วยกันในบริเวณนอกเมืองอาจจะเอาไว้ใช้เป็นที่พำนักของพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีที่มุ่งในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นหลัก

2. การสร้างพระพุทธรูป 4อิริยาบถรวมเข้าไว้ด้วยกันอาจจะเป็นการกล่าวถึงกิจวัตรและการพักผ่อนของพระพุทธเจ้า

การกำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้ อาจจะสามารถกำหนดอายุได้จากพระพุทธรูปลีลาซึ่งประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปที่มีท่าลีลาแบบศิลปะสุโขทัยอย่างแท้จริงคือมีการเขย่งเท้าขึ้นข้างหนึ่งเหมือนกำลังอยู่ในอาการก้าวเดิน

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในช่วงสมัยสุโขทัยนั้น ศิลปะที่พบไม่ได้มีเพียงแค่ศิลปะแบบสุโขทัยเท่านั้น แต่ยังศิลปะล้านนา ศิลปะอยุธยา ซึ่งที่วัดพระสี่อิริยาบทเองก็ได้รับอิทธิพลศิลปะพุกามเข้ามาอยู่ในการสร้างด้วยเช่นกันวัดพระสี่อิริยาบทก็ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่มีเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะสุโขทัยที่เราควรอนุรักษ์และเห็นคุณค่าในความสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ เพื่อชนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะสมัยสุโขทัยได้อย่างถูกต้อง

อ้างอิง

วัดพระสี่อิริยาบถ พระยืนแห่งเมืองกำแพงเพชร.Retrieved  2 กุมภาพันธ์ 2557,from  http://www.comingthailand.com/kamphaengphet/wat-phrasiiriyabot.html

04/04/1013.เที่ยววัดพระสี่อิริยาบถ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรจังหวัดกำแพงเพชร.
Retrieved 2 กุมภาพันธ์ 2557, from http://www.tinyzone.tv/TravelDetail.aspx?ctpostid=1422



No comments:

Post a Comment