เจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย

โดย เพชรไพลิน โฆษิตธนสาร

หากกล่าวถึงความเชื่อ ความศรัทธา ในแต่ละพื้นที่และภูมิภาค ล้วนมีสถานที่สักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจมากมาย หลายรูปแบบแตกต่างกัน เช่นพระสถูปเจดีย์ เป็นต้น เจดีย์ เป็นสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา พบได้ทั่วไปในทวีปอินเดียและเอเชีย หมายถึง สิ่งก่อสร้างหรือสิ่งของที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพบูชาระลึกถึง สถูป หมายถึงสิ่งก่อสร้างเหนือหลุมฝังศพ หรือสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้ลูกหลานและผู้เคารพนับถือได้สักการบูชา

ถือกันว่ามีบุคคลที่ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อเป็นที่สักการะของมหาชนอยู่เพียง 4 พวก เรียกว่า ถูปารหบุคคล ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ์สำหรับประเทศไทย คำว่า สถูป และ เจดีย์ เรามักรวมเรียกว่า “สถูปเจดีย์” หรือ “เจดีย์” มีความหมายเฉพาะ ถึงสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิ หรือเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป หรือเพื่อเป็นที่ระลึก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ในสมัยหลังลงมาคงมีการสร้างสถานที่เพื่อบรรจุอัฐิธาตุ และเพื่อเคารพบูชาระลึกถึงพร้อมกันไปด้วย

เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย มีลักษณะบางประการคล้ายกับพระปรางค์ของกรุงศรีอยุธยา เพราะต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากปราสาทขอม แต่ลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นทำให้เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยมีระเบียบที่ต่างไปจากเจดีย์ทรงปรางค์ของอยุธยา ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าเรียกเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยว่าเป็นพระปรางค์ เพราะจะเกิดการสับสนกับเจดีย์ทรงปรางค์ในศิลปะอยุธยา

หากเจดีย์ทรงปราสาทยอดเป็นรูปแบบหนึ่งของเจดีย์ทรงปราสาท มีลักษณะเฉพาะแตกต่างเพิ่มเติมจากเจดีย์ทรงปราสาททั่วไปเล็กน้อย ลักษณะสำคัญ คือ ฐานเจดีย์ทรง 4 เหลี่ยม 3 ชั้น ขนาดใหญ่ ที่มีความหมายเดิมคือ ที่อยู่ของพระราชา หรือปราสาทของพระราชา ที่มีคติเพิ่มเติมสอดแทรกเช่นเดียวกับฐาน 3 ชั้น ของเจดีย์ทรงระฆังทั่วไปที่หมายถึง โลกนี้ตั้งอยู่บนอกุศลมูล

ตัวฐานเจดีย์มีซุ้มจระนำ 4 ทิศ ที่บรรจุพระ พุทธรูปหรือหมายถึงพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ที่ได้มาตรัสรู้แล้วในภัทรกัปป์นี้ตัวเจดีย์ทรงกลมขึ้นไปจนถึงยอดเจดีย์ ก็มีความหมายของคติและสัญลักษณ์เช่นเดียวกับเจดีย์ทรงระฆังทั่วไปยอดกลมบนสุด ก็หมายถึงนิพพานที่ผู้จะเข้าถึงนิพพานต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของการยกระดับจิตขึ้นไป ตามคติ สัญลักษณ์ตัวอย่าง ได้แก่ เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา และ เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

นอกจากนี้ เจดีย์ทรงปราสาทแบบอื่นที่สร้างในศิลปะสุโขทัย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนาโดยตรง หรือจากศิลปะพุกามก็มีอยู่ด้วยเจดีย์เหล่านี้ไม่มีชื่อเรียกเพื่อระบุลักษณะให้แตกต่างจากเจดีย์ปราสาทยอดแบบล้านนา คงเพราะลักษณะโดยส่วนรวมยังสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบจากแหล่งบันดาลใจที่ค่อนข้างชัดเจน ตัวอย่างเจดีย์แบบนี้มีอยู่หลายองค์ เช่น วัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัยเป็นต้น

อ้างอิง 

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์.เจดีย์ทรงปราสาทยอด.สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์2557. จาก
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdOakkyTURJMU5RPT0%3D.

สันติ เล็กสุขุม.2552.  เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน,หน้า 42.

No comments:

Post a Comment