จิตรกรรมฝาผนังในวัดภูมินทร์ จังหวัด

โดย ปรีดาภรณ์ พสุเมธิตานน์

จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา วิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่มีมนต์เสน่ห์แบบไทยอยู่ แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆแต่ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ศิลปกรรมอีกทั้งจิตรกรรมที่งดงาม วัดภูมินทร์เป็นอีกสถานที่ซึ่งยังคงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามและทรงคุณค่า ถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวน่านและเรื่องราวพุทธชาดก พุทธประวัติให้ได้ศึกษากัน

วัดภูมินทร์ตั้งอยู่ที่บ้านภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เดิมชื่อ วัดพรหมมินทร์แต่ในตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมกลายเป็น วัดภูมินทร์ วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ผู้ครองเมืองน่าน สร้างหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี

ภาพจิตรกรรมหรือที่ภาษาถิ่นเรียกกันว่า “ฮูบแต้ม” ที่ฝาผนังในวิหารหลงของวัดภูมินทร์ถูกเขียนไว้บนผนังทุกๆด้านตั้งแต่ส่วนบนของตัวผนังจนถึงระดับเสมอขอบหน้าต่างล่าง เขียนขึ้นไว้หลังจากการบูรณะพระวิหารขึ้นใหม่ในระหว่างพ.ศ. 2410-2417 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของพุทธชาดกและวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น โดยผนังด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระสาวกนั่งประนมมืออยู่ด้านข้างคาดวาเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องคันทนกุมารชาดก (ภาพที่1) ผนังด้านทิศตะวันตกด้านบนเขียนภาพพุทธประวัติตอนประนิพพานส่วนด้านล่างเขียนเรื่องเนมิราชชาดก

องค์ประกอบของภาพจิตกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ด้านบนจะเป็นภาพขนาดใหญ่และด้านล่างเป็นภาพย่อยขนาดเล็กซึ่งจัดว่าได้อย่างลงตัวโดยใช้วิธีการจัดตำแหน่งของภาพ การเว้นระยะและการต่อเนื่องด้วยฉากตามธรรมชาติตลอดจนโครงสีของพื้นหลังที่เชื่อมโยงภาพทั้งหมดให้เป็นภาพเดียวกัน

นอกจากภาพบุคคลและกลุ่มชนที่ปรากฏอยู่บนจิตรกรรมที่หลากหลายแล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมของเมืองน่านจากภาพเขียนเหล่านั้นได้อีกด้วย ทั้งกำแพงและป้อมประตูเมืองที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของพุทธชาดกเรื่องคันทนกุมารและลักษณะของบ้านเรือนที่อยู่ในพุทธชาดกเช่นกัน

แต่ภาพเขียนที่โดดเด่นและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในวัดภูมินทร์ต้องยกให้กับภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ของ หนาบัวผัน ซึ่งอยู่ใกล้ประตูทิศตะวันตก เป็นภาพชายหนุ่มที่มีรอยสักที่ต้นขาและหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบไทลื้อขนาดใกล้เคียงกับคนจริงอยู่ในอิริยาบถยืนข้างกัน ฝ่ายชายจับบ่าหญิงสาวและใช้มือป้องปากเหมือนกำลังกระซิบบางอย่างข้างหู ภาพวาดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งดงามของวัดภูมินทร์เพราะมีความประณีตเป็นอย่างมาก และยังมีบทบรรยายเป็นภาษาล้านนาเอาไว้ด้วยว่า “คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว จักเอาไว้พื้นกลางหาวก็กลัวหนอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้ ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา...” (มนต์รัก เมืองน่าน ... ปู่ม่านย่าม่าน หวานอมตะ, ม.ป.ป.)

โดยคำแปลที่แปลออกมาเป็นภาษาไทยโดย อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ได้แปลออกมาว่า “ความรักของพี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวมันเหน็บหนาว จะฝากไว้กับท้องฟ้า อากาศ กลางหาวก็กลัวเมฆหมอกมาขลุ้ม จะเอาฝากไว้ในข่วงในดุ้ม ก็กลัวเจ้ากลัวนายมาเจอะเจอแย่งรักของพี่ไป ก็เลยเอาฝากไว้ในอกในใจของตัวพี่ให้มันร่ำไห้อะฮิ อะฮี้ ถึงน้องทุกยามสะดุ้งตื่นเววา” (มนต์รัก เมืองน่าน ... ปู่ม่านย่าม่าน หวานอมตะ, ม.ป.ป.)

ความงดงามของจิตกรรมบนฝาผนังในวัดภูมินทร์นี้ถือเป็นหนึ่งในคุณค่าทางศิลปะที่คงไว้เป็นเวลาหลายร้อยปี อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนมากมายให้มาเยี่ยมเยียนจังหวัดน่านและแวะเวียนกันมาชมภาพจิตรกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในสมัยนั้น ภาพเหล่านี้ถือเป็นสีสันที่อยู่กับวัดภูมินทร์ วัดเก่าแก่ที่อยู่คู่กับเมืองน่านแห่งนี้มาเป็นเวลายาวนาน

อ้างอิง

มนต์รัก เมืองน่าน ... ปู่ม่านย่าม่าน หวานอมตะ. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2557, จาก http://travel.mthai.com/region/north/64501.html

วัดภูมินทร์ น่าน จิตรกรรมฝาผนัง ปู่ม่าย น่าม่าน. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2557, จาก http://www.paiduaykan.com/76_province/north/nan/watpumin.html

กระซิบถ้อยคำ ผ่านจิตรกรรมฝาผนัง “วัดภูมินทร์”. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2557, จาก http://www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9560000085394

จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา. จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2557, จาก http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=102




ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัย มีพระสาวะนั่งประนมมืออยู่ด้านข้าง




ภาพเมืองอิททปัตในชาดกคันทรกุมาร


ภาพปู่ม่านย่าม่าน


No comments:

Post a Comment