หากจะกล่าวถึงสถานที่สำคัญสมัยล้านนาในจังหวัดลำพูน แน่นอนว่าหลายคนคงนึกถึงวัดพระธาตุหริภุญไชย เพราะเป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ในภาคเหนือให้ความสำคัญและเคารพบูชา และเป็นมิ่งขวัญของชาวลำพูน อีกทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมสมัยล้านนาที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก
วัดพระธาตุหริภุญไชย สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวี เดิมเป็นเขตพระราชฐานของพระองค์แต่ต่อมาได้ถวายให้เป็นวัดเพราะมีเกร็ดพงศาวดารเล่าต่อๆกันมาว่าเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จแล้ว ก็มีการสร้างห้องพระบังคน (ห้องสุขา) แต่พระองค์ไม่เคยได้เข้าไปใช้ห้องสุขานี้เลย เพราะทุกครั้งที่เสด็จไปจะทำธุระส่วนพระองค์ที่ห้องนี้ ก็จะมีอีกาตัวหนึ่งบินมาอุจจาระรดพระเศียรของพระองค์อยู่ตลอดเวลาพระองค์ทรงสงสัย จึงสั่งให้ขุดลงบริเวณที่สร้างเป็นห้องสุขานี้ ก็พบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในผอบ จึงได้นำมาบูชาและโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ไว้ และถวายที่ดินในบริเวณนี้ทั้งหมดอุทิศให้สร้างเป็นวัตพระธาตุหริภุญไชย
วัดพระธาตุหริภุญไชยนอกจากจะมีความสวยงามตระการแล้ว ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่างและมีโบราณสถานภายในวัดที่สวยงามและผู้คนก็ให้ความสนใจและสักการบูชา ทางด้านหน้าวัดจะมีซุ้มประตูโขงก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายปูนปั้นที่อ่อนช้อยสวยงาม ซึ่งเป็นศิลปะทวารวดี ด้านหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่สูง 3 เมตร เป็นปูนปั้นทาสีแดงยืนอยู่บนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อปี พ.ศ.1990 ทั้งสิงห์คู่และซุ้มประตูโขงหน้าวัด ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2499
ถัดจากซุ้มประตูโขงเข้าไป จะเป็นวิหารหลวง ซึ่งสร้างขึ้นแทนวิหารหลังเก่าที่ถูกพายุพัดพังทลายไป ภายในวิหารจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง อยู่บนแท่นแก้ว จำนวน 3 องค์พระประธานของวัด คือ พระพุทธสิทธิมณีศรีหริภุญไชย ด้านทิศใต้ของพระวิหารหลวง จะเป็นที่ตั้งของหอธรรมหรือหอไตรของวัด เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับหอไตรของวัดเชียงมั่น ที่เชียงใหม่
ด้านหน้าของหอไตรจะมีเขาพระสุเมรุจำลอง ซึ่งสร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องแกนกลางของโลกและจักรวาลโดยรูปแบบสถาปัตยกรรมประกอบด้วยฐานเขียงกลมซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับเขาพระสุเมรุจำลองซึ่งทำจากแผ่นทองสำริดดุนนูนเป็นลวดลายต้นไม้ เทพยดา สัตว์ป่า และเหล่าอสูร ซ้อนเหลื่อมกัน 7 ชั้น ชั้นบนสุดประดับด้วยไพชยนต์มหาปราสาทซึ่งเปรียบเสมือนที่ประทับของพระอินทร์ด้านทิศเหนือของวิหารหลวง จะเป็นที่ตั้งของสุวรรณเจดีย์
สุวรรณเจดีย์ ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาท สร้างด้วยศิลาแลง สร้างโดยพระนางปทุมวดีเมหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในตอนสร้างได้ทรงโปรดให้หุ้มยอดเจดีย์ด้วยทองคำ จึงได้ชื่อว่าสุวรรณเจดีย์ ซึ่งมีการขุดพบกรุพระเปิมซึ่งเป็นพระเครื่องสำคัญคู่เมืองลำพูน
ทางด้านทิศเหนือของวิหารหลวงนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ หอกังสดาล
เป็นอาคารโล่ง 2 ชั้นโดยแขวนกังสดาลสำริดขนาดใหญ่ไว้ที่ชั้นล่าง กังสดาลนี้หล่อขึ้นที่วัดพระสิงห์ฯ จ.เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2403 และนำมาถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมธาตุหริภุญไชย ส่วนชั้นบนแขวนระฆังสำริดที่หล่อขึ้นในสมัยเจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์
ทางด้านหลังของวิหารหลวงจะเป็นพระธาตุหริภุญไชย ซึ่งมีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาหลายครั้ง นับตั้งแต่พระเจ้าอาทิตยราชได้สร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกเดิมพระธาตุหริภุญไชยนี้ มีจารึกว่าสร้างเป็นทรงปราสาทฐาน 4 เหลี่ยมมีประตูเข้าออกทั้ง 4 ทิศและได้มีการบูรณะปรับปรุงต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง แต่เมื่อสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่มาบูรณะ ได้เปลี่ยนรูปทรงเป็นเจดีย์ทรงลังกา ดังที่เห็นในปัจจุบันเจดีย์ในปัจจุบันมีลักษณะ ใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ
จะเห็นได้ว่านอกจากวัดพระธาตุหริภุญไชยจะมีความสวยงามตระการตาและเป็นโบราณสถานสมัยล้านนาที่สำคัญแล้ว ยังเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของคนภาคเหนือ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรจะร่วมกันอนุรักษ์และเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสชื่นชมกับความงามของวัฒนธรรมไทยในด้านสถาปัตยกรรมนี้ เพราะวัดพระธาตุหริภุญไชยนี้มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกความเป็นไทยได้อย่างน่าชื่นชม
อ้างอิง
เจริญ ตันมหาพราน. วัดพระธาตุหริภุญไชย อำเภอเมือง จ.ลำพูน. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2557, จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=819235
จักรพงษ์ คำบุญเรือง. (2012). ภาพเก่าเจดีย์วัดหลวงลำพูน. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2557, จาก http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=78404
พิทยะ ศรีวัฒนสาร. มุมมองใหม่ทางประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมสมัยล้านนา. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2557, จาก http://bidyarcharn.blogspot.com/2010/06/blog-post_1068.html
พระธาตุหริภุญไชย
วิหารหลวง
สุวรรณเจดีย์
No comments:
Post a Comment