พระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่น

โดย กฤษฎา อินทรปพงศ์
“พระธาตุขามแก่น”   เสียงแคนดอกคูน
ศูนย์รวมผ้าไหม   ร่วมใจผูกเสี่ยว
เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่   ไดโนเสาร์สิรินธรเน่
สุดเท่เหรียญทองมวยโอลิมปิก
คำขวัญท่อนแรกของจังหวัดขอนแก่นที่ทุกคนที่ได้อ่านเป็นต้องสะดุดตา “พระธาตุขามแก่น” หรือ วัดเจติยภูมิ จึงได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สำคัญ ทั้งยังวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวขอนแก่น เรียกได้ว่าผู้ที่ผ่านมาที่จังหวัดขอนแก่น  ต้องหาโอกาศแวะสัมผัสกับบรรยากาศ  กลิ่นอายของเมืองโบราณที่ยังคละคลุ้งไม่เคยจางหาย...

วัดเจติยภูมิ ตั้งอยู่ที่บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น  เป็นวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก  แม้จะมีเนื้อที่ 15ไร่ 2งาน 1ตารางวา แต่มีพื้นที่ที่เป็นส่วนสิ่งก่อสร้างไม่เกิน 6ไร่ ถูกสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด มีเพียงตำนานที่เล่าต่อกันมาเท่านั้น ที่พอจะอธิบายการสร้างของวัดได้ ปัจจุบันเป็นสถานที่ประดิษฐานขององค์พระธาตุ ที่บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้า จึงทำให้มีผู้คนมากหน้าหลายตาหลั่งไหลเข้ามาสักการะ



ตำนานการสร้างพระธาตุนั้น  เล่ากันว่า.. มีกษัตริย์แห่งโมริยวงศ์พร้อมด้วยพระอรหันต์ 9 องค์ ได้เดินทางไปที่พระธาตุพนมเพื่อนำพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้าไปบรรจุไว้ด้านใน  ระหว่างทางได้พักที่ตอมะขามใหญ่ตายซากตอหนึ่งที่ผุเหลือแต่แก่น และได้อันเชิญพระอังคารธาตุวางไว้ที่บนตามะขามผุนั้น พอมาถึงเมืองนครพนมปรากฏว่าพระธาตุได้เสร็จสมบูรณ์ โมริกษัตริย์และคณะจึงกลับ และเดินผ่านตอมะขามใหญ่ตอเดิม แต่ปรากฏว่าตอมะขามผุนั้นได้เจริญงอกงามตอเขียวขจี โมริกษัตริย์จึงสร้างประธาตุทับและนำพระอังคารธาตุประดิษฐานไว้ในองค์พระธาตุนั้น และได้บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ 9 บท ไว้ในเจดีย์องค์เล็กทางด้านทิศตะวันตกของพระธาตุ เรียกว่า "พระเจ้าเก้าองค์”

แม้พระธาตุขามแก่นจะมีความเก่าแก่อย่างมาก แต่ก็มีการบูรณะถึง 4 ครั้ง เพื่อรักษาวัดและพระธาตุให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ครั้งแรก ระหว่าง พ.ศ. 2459 - 2468 ในสมัยพระครูแพง พุทธสโร เจ้าอาวาสวัดเจติยภูมิ ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2498 - 2499 พระสารธรรมมุณี เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2531 และ ปี พ.ศ. 2534 - 2535 และ ครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2544 - 2546 เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สมัยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น



ความเก่าแก่และความศักสิทธิ์ขององพระธาตุที่แม้จะสร้างทับหรือบูรณะกี่รอบก็ยังสัมผัสได้ เจดีย์พระธาตุที่สูงถึง 17 เมตร ฐานเป็นทรงบัวคว่ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เส้นรอบวงพระธาตุ 43.70 เมตร ภายในบรรจุพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า ด้านบนปิดทองเหลืองอร่าม  ล้อมด้วยผ้าทิพย์ มีกำแพงแก้วล้อมทุกทิศทาง ด้านหน้ามีแท่นบูชาเปิดให้ผู้คนที่ศรัทธาได้เข้ามากราบไว้อย่างเต็มที่

นอกจากพระธาตุในบริเวณใกล้เคียงยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สร้างมาหลายร้อยปีนั่นคือ “วิหาร” อันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับวัดมาตั้งแต่เริ่มสร้าง จะสังเกตุเห็นว่าเป็นอาคารปูนที่ด้านบนเป็นเครื่องไม้  ตกแต่งลวดลายร่วมสมัย แต่ข้างในคือสุดยอดสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ถูกโอบไว้ด้วยอาคารใหม่ดั่งใข่ไดโนเสาร์ที่ถูกหุ้มด้วยปูน



ถัดจากวิหารไปไม่กี่ก้าวก็สะดุดกับแท่งหินที่เรียกว่า “ใบเสมา” แน่นอนว่ามันคือสัญลักษณ์ที่บอกว่าที่นี่คือ “พระอุโบสถ” อาคารที่ใหญ่โต โอ่โถ่งแห่งนี้คือสถานที่ประกอบพิธีของเหล่าพระสงฆ์  มีลักษณะเหมือนพระอุโบสถทั่วไป  ที่สะดุดตา คือประติมากรรมหน้าประตู เป็นรูปสัตว์สองตัวที่ทำหน้าที่เฝ้าอุโบสถ  นั่นคือ “สิงห์” นั่นเอง ที่บอกว่าสะดุดเพราะรูปร่างมันน่ารักเกินกว่าจะเป็นสิงห์

การเดินทางมายังพระธาตุขามแก่นนั้นไม่ยาก เพราะตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นเพียงเล็กน้อย เพียงขับรถไปตามถนนขอนแก่น - ยางตลาด เลี้ยวซ้ายบ้านพรหมนิมิตร อ.เมืองขอนแก่นประมาณ 15 ก.ม. ก็จะถึงวัดเจติยภูมิอันเป็นที่ตั้งพระธาตุขามแก่นนั่นเอง หรือสามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลได้ที่ เบอร์ 089-5753873 วัดเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 6.00น. – 19.30น.
   
พระธาตุขามแก่นนั้นเป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นเราได้สักการบูชา แหล่งรวมจิตใจของทุกๆคน แม้ว่าเราจะแตกต่าง  แต่จิตใจของคนขอนแก่นที่รวมอยู่ที่นี่นั้นเหมือนๆ กัน และสิ่งสำคัญที่สุดที่เราทุกคนต้องช่วยกันกระทำไม่ใช่การกราบไว้พระธาตุ แต่คือการทำให้พระธาตุยังเป็นศูนย์รวมจิตใจให้เราและรุ่นหลังให้ตราบนานเท่านาน ตามวิถีแห่งผู้มีจิตใจแห่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่แท้จริง



อ้างอิง

วัดพระธาตุขามแก่น สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558, จาก  https://www.facebook.com/Prathat.KK

วัดพระธาตุขามแก่น สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558, จาก  http://www.faiththaistory.com/khamkaen/

วัดพระธาตุขามแก่น สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558, จาก  http://www.touronthai.com

วัดพระธาตุขามแก่น สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558, จาก  https://th.wikipedia.org/

No comments:

Post a Comment