อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

โดย เจนจิรา ยอดชัยภูมิ

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมีหลากหลายแห่งที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวในอดีต ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการแนะนำในครั้งนี้ คือ  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญที่น่าสนใจที่จะศึกษาหาความรู้มากที่สุดแห่งอีกหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า "เมืองอภัยสาลี" ถูกค้นพบเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองศรีเทพ" เมื่อปี พ.ศ. 2447-2448


ภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงถึงเมืองโบราณศรีเทพ

เมืองโบราณศรีเทพนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ ที่ตั้งของเมืองอยู่ในชุมทาง ที่สามารถติดต่อกับภาคอื่น ๆ ได้สะดวก ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากอาณาจักรข้างเคียง มาผสมผสาน เช่น ศิลปะทวารวดี ศิลปะขอม เป็นต้น เมืองศรีเทพสร้างขึ้นในยุคของขอมเรืองอำนาจ ซึ่งคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี โดยดูจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวัฒนธรรมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความเจริญสูงสุดทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม สันนิษฐานว่าเจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 107 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณสองพันไร่เศษ มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ  และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในเมืองมีปรางค์สมัยลพบุรีอยู่สององค์ เรียกว่า ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ  ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพิพัฒยสัตยา เพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

โบราณสถานและสถานที่สำคัญที่ค้นพบในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้แก่

ปรางค์ศรีเทพ 

เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานลูกบัวฟัก เรืองธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17


ปรางค์ศรีเทพ

สระแก้วสระขวัญ

สระแก้วจะอยู่นอกเมืองไปทิศเหนือ ส่วนสระขวัญจะอยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก สระน้ำทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำทั้งสองสระนี้ไปทำน้ำพิพัฒน์สัตยา ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน


บ่อน้ำโบราณ

โบราณสถานเขาคลังใน 

ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สร้างประมาณพุทธศตรวรรษที่ 11-12 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างคล้ายกับเมืองทวารวดีอื่นๆ เช่น คูเมืองที่จังหวัดราชบุรี เมืองโบราณบ้านคูบัว มีการใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับอยู่ เป็นศิลปะสมัยทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติ


โบราณสถานเขาคลังใน

ปรางค์สองพี่น้อง 

ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียวจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตีประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ เป็นศิลปะขอมแบบบาปวน และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก นอกจากนี้ระหว่างองค์ปรางค์ทั้งสองแห่งคือปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพจะมีกำแพงล้อมรอบ และมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผัง ในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย และยังมีอาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้ขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2531


ปรางค์สองพี่น้อง


ทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17

นอกจากโบราณสถานหลักภายในเมืองแล้วยังมีโบราณสถานขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป   นอกเมืองออกไปยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น ทางทิศเหนือห่างไปราว 2-3 กิโลเมตร มีโบราณสถานเขาคลังนอก ซึ่งเป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโบราณสถานเขาคลังใน แต่ยังไม่ได้ทำการขุดแต่งและพัฒนา โบราณสถานปรางค์ฤาษีซึ่งเป็นปราสาทในแบบศิลป์เขมร ส่วนทางด้านทิศตะวัน ตกของเมืองห่างไปราว 20 กิโลเมตร พบแหล่งโบราณสถานเขาถมอรัตน์ ซึ่งพบภาพสลักบนผนังถ้ำเป็นรูปพระโพธิสัตว์และพุทธรูปในแบบศิลปะทราวดีอีกด้วย

เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร การเดินทางค่อนข้างสะดวก โดยใช้เส้นทางตามทางหลวงหมายเลข 21 (เฉลิมพระเกียรติ-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพแหล่งนี้เป็นแหล่งขุนทรัพย์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่มีประวัติความเป็นมาและโบราณสถานที่สำคัญที่ยังหลงเหลือให้คนในปัจจุบันได้ศึกษาหาความรู้ เป็นสถานที่ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งที่อยากแนะนำให้มาเที่ยวค่ะ




อ้างอิง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ.สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558,จาก https://th.wikipedia.org/

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ.สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558,จาก http://thai.tourismthailand.org/

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ.สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2558,จาก http://www.bloggang.com/





No comments:

Post a Comment