พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

โดย ปิยะกมล มหิวรรณ

ในบรรดาพระราชวังโบราณที่สวยงามและยิ่งใหญ่ของไทย หากไม่นึกถึงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือวังนารายณ์ก็คงไม่ได้ เพราะได้ชื่อว่าเป็นแวร์ซายแห่งลพบุรี ที่โดดเด่นด้วยศิลปกรรมไทยสองสมัย นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรพลาดอีกแห่งหนึ่งเมื่อมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่จังหวัดลพบุรี

พระราชวังนี้สร้างขึ้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือเป็นราชธานีแห่งที่สองในรัชสมัยของพระองค์ สำหรับใช้เป็นที่ประทับ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต วังแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างมายาวนาน จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้บูรณะ พร้อมทรงพระราชทานนามพระราชวังว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์"

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 42 ไร่ ด้านหน้าพระราชวังจะหันเข้าหาตัวเมือง ด้านหลังจะติดกับแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันได้จัดพื้นที่บางส่วนภายในวังให้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์


ประตูทางเข้าพระราชวัง

สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในพระราชวัง จะแบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งจะเป็นอาคารที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทั้งหมด เขตพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งมีพระที่นั่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 2 องค์และพระที่นั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 4 องค์ และเขตพระราชฐานชั้นใน จะมีพระที่นั่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เพียงพระองค์เดียว ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ โดยในแต่ละเขตพระราชฐานมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ดังนี้

ตึกรับรองคณะทูตต่างประเทศ ในเขตพระราชฐานชั้นนอก บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยาน ซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุพุ่งเรียงรายได้ ระยะยาว 20แห่ง สมเด็จพระนารายณ์ฯได้ พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้


ตึกเลี้ยงรับรองแขกเมือง

พระที่นั่งจันทรพิศาล ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นหอประชุมองคมนตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งสร้างทับลงไปบนรากฐานเดิมของพระที่นั่งของพระราเมศวร โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงสร้างเมื่อครั้งครองเมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ภายหลังเมื่อได้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ขึ้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งองค์ใหญ่


พระที่นั่งจันทรพิศาล
ที่มา : http://www.taradplaza.com/

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเสด็จบูรณะเมืองลพบุรี ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ และพระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นที่ทรงพระอักษร ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ มีรูปแบบของความทันสมัยและยังมีสภาพสมบูรณ์


หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ
ที่มา : http://2g.pantip.com/cafe/

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นพระที่นั่งสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระองค์ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231 ปัจจุบันเหลือร่องรอยความสวยงามให้เห็นเพียงฐานของพระที่นั่งเท่านั้น


พระที่นั่งสุทธาสวรรย์
ที่มา : http://2g.pantip.com/

หมู่ตึกพระประเทียบ ในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นตึกชั้นเดียว 2 หลัง ก่อด้วยอิฐปูน 2 ชั้น มี 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในที่ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งเสด็จประพาสที่เมืองลพบุรี ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ใช้จัดแสดงศิลปวัตถุท้องถิ่นและวิถีชีวิตคนไทยภาคกลาง


หมู่ตึกพระประเทียบ
ที่มา : http://2g.pantip.com/

นอกจากนั้นยังมีตึกอาคารสำคัญๆ อีกมากมายภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์แห่งนี้ที่ไม่สามารถจะนำมากล่าวถึงได้ทั้งหมด รอให้ทุกท่านได้มาเยี่ยมชมศึกษาด้วยตนเองกันนะคะ  สำหรับการเดินทางมายังพระนารายณ์ราชนิเวศน์โดยทางรถยนต์ หากมาจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอพระพุทธบาท เข้าสู่จังหวัดลพบุรี ระยะทาง 153 กิโลเมตร หรือจะเลือกเดินทางโดยรถโดยสารและรถไฟก็มีให้บริการทุกวัน พระนารายณ์ราชนิเวศน์  เปิดให้เราเข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30-17.00 น. ส่วนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ เปิดให้เราเข้าชม ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. หยุดวันจันทร์-วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยเสียค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาทและชาวต่างประเทศ 30 บาท

กล่าวได้ว่าพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สถานที่ที่เคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจแห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นสิ่งก่อสร้างที่งดงามและยิ่งใหญ่ที่สุดคู่เมืองลพบุรี เป็นมรดกอันล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคนรุ่นหลัง ควรที่จะเข้ามาเยี่ยมชมโบราณสถานนี้ด้วยความเคารพและภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย




อ้างอิง

คู่มือท่องเที่ยวลพบุรี. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://thai.tourismthailand.org. [5 กันยายน 2558]

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์. (ม.ป.ป.).  (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.paiduaykan.com/province/central/lopburi/pranaraimuseum.html. [9 กันยายน 2558]

ลพบุรี. (2542). กรุงเทพฯ : สารคดี

วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์. (2539). ลพบุรี อดีต-ปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช

No comments:

Post a Comment